วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วิตามินซีกับการป้องกันหวัด ???



วิตามินซี คือ?

          ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับวิตามินซีกันก่อน “วิตามินซี” หรือ กรดแอสคอร์บิก (ascorbic acid) เป็นวิตามินชนิดละลายน้ำ วิตามินซีมีประโยชน์มากมาย เช่นใช้รักษาและป้องกันโรคลักปิดลักเปิด และวิตามินซียังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ หรือ antioxidant มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย  นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการซ่อมแซมและการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อในร่างกาย   ช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น และมีส่วนช่วยในการสร้างคอลลาเจน แต่ประโยชน์ของวิตามินซีที่กล่าวถึงกันมากคือป้องกันหวัด

วิตามินซีป้องกันหวัดได้จริงหรือ?

          จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าการรับประทานวิตามินซีเป็นประจำทุกวันไม่สามารถป้องกันหวัดได้ และไม่มีผลลดความเสี่ยงในการเป็นหวัด ยกเว้นผู้ที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเป็นประจำ จะสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นหวัดได้ถึง 50% อย่างไรก็ตามพบว่าการรับประทานวิตามินซีเป็นประจำทุกวันจะสามารถช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาในการเป็นหวัดได้ ขนาดวิตามินซีที่แนะนำให้รับประทานเพื่อลดความรุนแรงและระยะเวลาในการเป็นหวัดคือ 1-3 กรัมต่อวัน และในผู้ที่ไม่เคยรับประทานวิตามินซีมาก่อน หากเป็นหวัดแล้วจึงเริ่มรับประทานวิตามินซี จะไม่สามารถช่วยลดความรุนแรงหรือระยะเวลาในการเป็นหวัดได้เลย

การดูดซึมวิตามินซี

          การดูดซึมของวิตามิซีขึ้นอยู่กับปริมาณที่รับประทานเข้าไปในแต่ละครั้ง แต่การดูดซึมวิตามินซีมีจุดอิ่มตัวในการดูดซึม กล่าวคือการรับประทานวิตามินซีปริมาณมากเกินจุดอิ่มตัวของการดูดซึม ร่างกายจะไม่สามารถดูดซึมวิตามินซีไปใช้ได้เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น การรับประทานวิตามินซีครั้งละ1,000-1,500 มิลลิกรัม พบว่าร่างกายจะดูดซึมวิตามินซีได้เพียง 50% นอกจากนี้ยังพบว่าขนาดของวิตามินซีที่รับประทานต่อครั้งมีผลต่อการดูดซึม คือการรับประทานวิตามินซีขนาดสูงร่างกายจะดูดซึมวิตามินได้น้อยกว่าการรับประทานวิตามินซีขนาดต่ำ ดังนั้นการรับประทานวิตามินซีวันละหลายครั้งในขนาดที่ต่ำกว่า 1 กรัม จนครบขนาดที่แนะนำต่อวัน ร่างกายจะสามารถดูดซึมวิตามินซีได้มากกว่าการรับประทานทั้งหมดในครั้งเดียว นอกจากนี้ปริมาณการดูดซึมวิตามินซียังอาจแตกต่างกันไปขึ้นกับรูปแบบและส่วนประกอบอื่นๆ ในผลิตภัณฑ์

ผลิตภัณฑ์วิตามินซีในท้องตลาดมีอะไรบ้าง?

          เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างวิตามินซีได้เอง ส่วนใหญ่ร่างกายได้รับจากการรับประทานผักและผลไม้ แต่ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์วิตามินซีวางจำหน่ายอยู่หลากหลายขนาดและรูปแบบ ได้แก่

1. รูปแบบเม็ดสำหรับรับประทาน: มีขนาดตั้งแต่ 25 ถึง 1,000 มิลลิกรัม แต่วิตามินซีสำหรับผู้ใหญ่ที่นิยมมี 2 ขนาดคือ 500 และ 1,000 มิลลิกรัม โดยขนาด 500 มิลลิกรัม บางบริษัทจะทำให้อยู่ในรูปแบบ buffered ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบทั่วไปคือ วิตามินซีจะถูกปลดปล่อยออกจากเม็ดยาอย่างช้าๆ แต่ระดับวิตามินซีในกระแสเลือดเมื่อรับประทานรูปแบบ buffered ไม่แตกต่างจากรูปแบบเม็ดทั่วไปที่มีการปลดปล่อยทันที อย่างไรก็ตามรูปแบบ buffered จะระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่ารูปแบบเม็ดที่มีการปลดปล่อยทันที จึงอาจเป็นผลดีต่อผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ข้อเสียของรูปแบบเม็ดแบบนี้คือเม็ดยามีขนาดใหญ่ กลืนลำบาก

2. รูปแบบเม็ดอม: มีขนาด 25, 50, 100 และ 500 มิลลิกรัม เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการกลืนเม็ดยา แต่เนื่องจากวิตามินซีเป็นกรดเมื่ออมบ่อยๆ อาจทำให้ฟันกร่อนได้ เนื่องจากกรดทำให้เคลือบฟันบางลง

3. รูปแบบเม็ดเคี้ยว: มีขนาด 30 มิลลิกรัม เหมาะสำหรับเด็ก ซึ่งมีการแต่งสีและรสของวิตามินซีให้น่ารับประทาน หากรับประทานในปริมาณมากๆ อาจทำให้ฟันผุได้ เนื่องจากวิตามินซีในรูปแบบนี้มีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง

4. รูปแบบเม็ดฟู่: มีขนาด 500 และ 1,000 มิลลิกรัม จะแตกต่างจากรูปแบบเม็ดสำหรับรับประทานทั่วไปคือ ต้องนำเม็ดยาไปละลายน้ำก่อน เมื่อเม็ดยาสัมผัสกับน้ำ จะเกิดเป็นฟองฟู่ ก่อนรับประทานจึงควรรอให้ฟองหมดก่อน เนื่องจากฟองแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้น เมื่อรับประทานเข้าไปอาจทำให้อืดแน่นท้อง ซึ่งรูปแบบเม็ดฟู่นี้เป็นรูปแบบที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการกลืนเม็ดยาหรือไม่สามารถกลืนเม็ดยาขนาดใหญ่ได้

5. รูปแบบแคปซูล: มีขนาด 500 มิลลิกรัม ซึ่งมีทั้งชนิดแคปซูลแข็งและแคปซูลนิ่ม โดยส่วนใหญ่การกลืนเม็ดแคปซูลทำได้ง่ายกว่ารูปแบบเม็ดสำหรับรับประทาน

6. รูปแบบสารละลายสำหรับฉีด: มีขนาด 500 มิลลิกรัม เป็นรูปแบบที่ไม่เหมาะสำหรับการใช้เป็นประจำทุกวันหรือเพื่อป้องกันหวัด เพราะต้องให้แพทย์หรือพยาบาลฉีดยาให้

วิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิก (ascorbic acid) และ เกลือของกรดแอสคอร์บิก (mineral ascobate)

          เกลือของกรดแอสคอร์บิกมีสมบัติเป็น buffered มีความเป็นกรดน้อยกว่าวิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิก จึงมีผลระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่ากรดแอสคอร์บิก เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น เคยมีอาการมวนท้องทั้งก่อนและหลังรับประทานวิตามินซี หรือท้องเสีย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลช่วยเพิ่มการดูดซึมและความคงตัวของวิตามินซี เกลือของกรดแอสคอร์บิกที่มีวางจำหน่ายในปัจจุบัน ได้แก่ โซเดียม แอสคอร์เบท (sodium ascorbate) แคลเซียม แอสคอร์เบท (calcium ascorbate) โพแทสเซียม แอสคอร์เบท (potassium ascorbate) แมกนีเซียม แอสคอร์เบท (magnesium ascorbate) ซิงค์ แอสคอร์เบท (zinc ascorbate) โมลิบดินัม แอสคอร์เบท (molybdenum ascorbate) โครเมียม แอสคอร์เบท (chromium ascorbate) และ แมงกานีส แอสคอร์เบท (manganese ascorbate) เป็นต้น แต่การเลือกใช้ควรคำนึงถึงสภาวะหรือโรคประจำตัวของผู้บริโภค เนื่องจากเกลือต่างๆ นี้จะถูกดูดซึมไปพร้อมกับวิตามินซีด้วย ดังนั้นอาจต้องระมัดระวังในการรับประทาน เช่น โซเดียม แอสคอร์เบท ควรระมัดระวังการใช้ในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงหรือต้องจำกัดปริมาณโซเดียม หรือกรณี โพแทสเซียม แอสคอร์เบท ควรระมัดระวังในผู้ที่มีภาวะไตวาย เป็นต้น

วิตามินซีและไบโอฟลาโวนอยด์ (bioflavonoids)

           ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่อ้างว่าเป็นวิตามินซีจากธรรมชาติ นอกจากวิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิกแล้ว ในผลิตภัณฑ์ยังมีส่วนผสมของสารประกอบจากธรรมชาติอื่นคือ ไบโอฟลาโวนอยด์ จากการศึกษาพบว่าไบโอฟลาโวนอยด์มีผลเพิ่มการดูดซึมของวิตามินซี อย่างไรก็ตามบางการศึกษายังไม่พบประโยชน์ของไบโอฟลาโวนอยด์ในการช่วยเพิ่มการดูดซึมของวิตามินซี

ความแตกต่างระหว่างวิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิกและวิตามินซีเอสเทอร์

          วิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิกโดยทั่วไปมีสมบัติเป็นวิตามินที่ละลายน้ำ ส่วนวิตามินซีเอสเทอร์ เช่น แอสคอร์บิล ปาล์มิเตต (ascorbyl palmitate) เป็นรูปแบบที่ละลายในไขมัน ซึ่งมีข้อดีคือทำให้วิตามินซีดูดซึมทั้งในลำไส้และซึมผ่านผิวหนังได้ดี นอกจากนี้ยังมีความคงตัวดีกว่าวิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิก  ปัจจุบันนิยมใช้เตรียมเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ภายนอกทั้งบริเวณผิวหนังและใบหน้า

เอสเทอร์-ซี (Ester-C®) และวิตามินซีเอสเทอร์

          หลายคนคงอาจสับสนว่า Ester-C® และวิตามินซีเอสเทอร์ เป็นวิตามินซีรูปแบบเดียวกัน แต่ที่จริงแล้ว Ester-C® คือผลิตภัณฑ์วิตามินซีที่วางจำหน่ายในท้องตลาด ประกอบด้วย แคลเซียม แอสคอร์เบท เป็นส่วนใหญ่ในตำรับ ซึ่งวิตามินซีในผลิตภัณฑ์ Ester-C® จัดว่าเป็นวิตามินซีชนิดละลายน้ำ แต่วิตามินซีเอสเทอร์เป็นวิตามินซีละลายในไขมันและมีสมบัติดังที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อข้างต้น

สรุป

          จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์วิตามินซีมีหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่นิยมใช้สำหรับลดความรุนแรงหรือระยะเวลาในการเป็นหวัด คือรูปแบบเม็ดสำหรับรับประทาน แคปซูล และเม็ดฟู่ ที่มีปริมาณวิตามินซีขนาด 500 และ 1,000 มิลลิกรัม ซึ่งถ้าเป็นรูปแบบหรือขนาดอื่นอาจไม่สะดวกต่อการรับประทาน และนอกจากนี้ขนาดวิตามินซีที่เหมาะสำหรับลดความรุนแรงหรือระยะเวลาในการเป็นหวัดเป็นขนาดที่ค่อนข้างสูงคือ 1-3 กรัมต่อวัน ถ้าเลือกผลิตภัณฑ์วิตามินซีที่มีปริมาณวิตามินซีน้อยอาจต้องรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก  ดังนั้นการเลือกรับประทานวิตามินซีควรพิจารณาให้เหมาะสมกับความต้องการแต่ละบุคคลและวัตถุประสงค์ของการรับประทาน

ที่มา http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=17

วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ปวดหัวบ่อยๆ เสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง??



อาการปวดหัวที่เราพบได้ทั่วๆ ไปคือการปวดหัวจากความตึงเครียด การทำงานหนัก เพลีย โกรธ อาการคล้ายๆ ปวดที่ขมับ ท้ายทอย รู้สึกตึงๆ เหมือนมีอะไรรัดศีรษะ การรักษาอาจใช้ยาแก้ปวดหัวธรรมดา นอนพักผ่อน แต่ถ้าเป็นการอาการปวดหัวซึ่งมีอาการร่วมของโรคอื่นๆ รวมอยู่ด้วย เรามีวิธีสังเกตได้ต่อไปนี้ 

ปวดระยะสั้นๆ แต่รุนแรง อาจเป็นอาการของโรคหลอดเลือดในสมอง หรือเลือดออกในสมอง โดยเฉพาะถ้ามีอาการคอตึงแข็งหรืออาเจียน อาจเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ 

         ปวดสม่ำเสมอและปวดนานๆ มักเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดจากความตึงเครียด หรือปวดหัวไมเกรน 

         ปวดแปลบๆ เหมือนไฟช็อต บริเวณหน้า แก้ม โดยเฉพาะเวลาเคี้ยว อาจจะเป็นอาการของโรคปลายประสาทอักเสบ

         ปวดหัวถี่ขึ้นเรื่อยๆ ตามัวพร่ามากขึ้น หรือเห็นภาพซ้อน ร่างกายอ่อนแรง ชาตามปลายนิ้วมือนิ้วเท้า และน้ำหนักลด กินอาหารไม่ได้ อาจเป็นโรคมะเร็งในสมอง 

         ปวดหัวตุบๆ ข้างเดียวหรือสองข้าง ก่อนปวดมีอาการเห็นแสงแปลกๆ คลื่นไส้ เป็นอาการปวดไมเกรน

         ปวดแล้วมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดหน้าผาก มีน้ำมูกไหล อาจจะเป็นการปวดจากไซนัส 

         ปวดฉับพลันที่ท้ายทอย และมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้อาเจียน และอ่อนแรงทันที อาจเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมองแตก 

         ปวดหัวและปากเบี้ยว ตาปิดไม่สนิท แขนขาอ่อนแรง เดินเซ หรือชาตัวครึ่งซีก อาจเป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบ

         ปวดมากที่ขมับ หรือปวดเมื่อยทั้งตัว ในคนอายุมากอาจเป็นอาการของหลอดเลือดสมองอักเสบ

         ดูแลอาการปวดหัวด้วย ตัวเอง

         ถ้าเป็นอาการปวดหัวที่ไม่รุนแรงหรือฉับพลัน เราสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีเหล่านี้

          ผ่อนคลายความตึงเครียดเหนื่อยล้า ด้วยการพยายามพักสายตา พักผ่อนร่างกายและจิตใจให้เพียงพอ

          เปลี่ยนอิริยาบถจากงานประจำที่เป็นอยู่ ไปทำกิจกรรมอย่างอื่นเพื่อพักสมอง เช่น ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ หรือฟังธรรม

          เปลี่ยนองค์ประกอบในบ้านหรือโต๊ะทำงาน เช่น จัดห้อง จัดโต๊ะทำงาน ให้รู้สึกโล่ง สบาย ไม่อุดอู้

          ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยลดโอกาสเกิดอาการปวดหัว เพราะการออกกำลังการจะทำให้ระบบไหลเวียนของการร่างกายทำงานดีขึ้น และผ่อนคลายกล้ามเนื้อรอบศีรษะ

          นวดประคบ ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นนวดบริเวณขมับ ท้ายทอย และต้นคอ จะทำให้รู้สึกดีขึ้น และผ่อนคลายกล้ามเนื้อรอบศีรษะ

          ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาควรใช้ยาพาราเซตามอล หรือแอสไพริน แล้วดื่มน้ำตามมากๆ แต่ไม่ควรกินบ่อยครั้ง หากมีอาการรุนแรงเกินกว่ายาจะบรรเทาได้ควรรีบไปพบแพทย์

         รู้วิธีแล้วลองปฏิบัติดูนะคะ อย่าปล่อยให้อาการปวดหัวสะสมจนลุกลามเป็นโรคเรื้อรังที่มาเบียดบังความสุข ประจำวันของชีวิตคุณเลย

         กินยาพาราฯ แค่ไหนไม่อันตราย

         การกินยาพาราเซตามอลในปริมาณที่ถูกต้อง คือต้องกินในขนาด 10 มิลลิกรัม(มก.) ต่อน้ำหนัก ตัว 1 กิโลกรัม(กก.) ต่อครั้ง และกินห่างกันทุก 4-6 ชั่วโมง นั่นหมายความว่าหากคุณมีน้ำหนักตัว 30 กก. ก็ควรกินยาพารา = 10 x 30 = 300 มก. หรือหากมีน้ำหนักตัว 60 กก. ควรกินยาพารา = 10 x 60 = 600 มก. เป็นต้น

         ยาพาราที่วางขายนั้นมีอยู่ 2 ขนาด คือ 325 มก. และ 500 มก. แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแบบ 500 มก. มากกว่า ดังนั้นหากคุณมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 50 กก. ก็ควรกินยาพาราขนาด 500 มก. จำนวน 1 เม็ด แต่หากว่าคุณน้ำหนักตัวมากกว่า 50 กก. ก็ควรกินยาพารา 2 เม็ด

         แม้ว่ายาพาราจะไม่มี ผลข้างเคียงใดๆ หากกินอย่างถูกต้องในระยะเวลาสั้นๆ แต่ถ้าหากกินนานติดต่อเกิน 5 วัน ก็อาจมีผลเสียต่อตับได้ค่ะ