วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2555

เคล็ดลับการขายงานฝีมือให้ประสบความสำเร็จ: 7 คิดนอกกรอบ



การคิดนอกกรอบเป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อหา “คำจำกัดความ”  ที่สามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจน  แต่จริงๆแล้วมนุษย์เรานี่คิดนอกกรอบกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วครับ

แล้ว “คิดนอกกรอบ” เกี่ยวข้องยังไงกับ “งานฝีมือ”
ผมไม่ได้พยายามจะแนะนำว่า  งานฝีมือที่คุณสนใจ  และมุ่งมั่นทำอยู่ มีจุดด้อยจนต้องคิดค้นอะไรใหม่ๆ จนปวดหัว  หรือมานั่งเสียเวลาครุ่นคิดว่า “ฉันจะคิดนอกกรอบยังไงดี?” หรอกครับ

แค่ผมกำลังจะบอกว่า  ถ้าคุณสามารถคิดอะไรที่สามารถทำให้เป็นเอกลักษณ์ ของตัวเองได้ก็น่าจะดี  หรือหากการคิดของคุณที่เคยทำผลงานดีๆ ออกมาได้แล้วนั้น   ถูกต่อยอดทางความคิดให้ดียิ่งขึ้น ก็ถือว่ายอดเยี่ยมครับ
แต่หากคุณไม่ชอบคิดอะไรแปลกๆ  ก็ไม่ต้องเสียเวลาอ่านหน้านี้ครับ  ไม่ใช่เรื่องผิดสำหรับการสร้างตลาดงานฝีมือ

แต่ถ้าผลงานของคุณยังหาเอกลักษณ์ไม่ได้  หรือทำออกมาซ้ำๆกับคนอื่น
ลองหัด “คิดนอกกรอบ”  ดูบ้างไหมครับ

ผมจะลองยกตัวอย่างงานฝีมือ  ที่พบเห็นได้บ่อยๆ  มาให้ลองนึกถึงดู

(ย้ำอีกครั้งนะครับ  ใครที่ทำงานเหล่านี้อยู่  ผมก็ไม่ได้บอกว่าไม่ดี  เป็นเพียงแค่การยกตัวอย่าง ประกอบความเข้าใจเท่านั้นครับ)

ถ้านึกถึงตุ๊กตา  สัตว์ที่ถูกนำมาคิดถึงเป็นหลักคือ  ...  หมี , สุนัข , หมู , แมว
ถ้านึกถึงดอกไม้  สิ่งที่ถูกนำมาเป็นต้นแบบหลักๆคือ..กุหลาบ , ทานตะวัน , ลิลลี่ , มะลิ
ถ้านึกถึงงานปัก  งานปักนิยมใช้ภาพ ... หัวใจ , ดอกไม้ , ไม้เลื้อย , ข้อความ
ผมจะหยิบตัวอย่างงานฝีมือที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด   ตุ๊กตา  ครับ

นานมาแล้ว  ตอนผมยังเป็นนิสิตอยู่ (ยี่สิบกว่าปีที่แล้ว)    ถ้าถามว่าจะหาซื้อตุ๊กตาไปฝากสาวๆ  เต็มที่  ผมก็หาได้ตามที่เขียนด้านบน  หรือไม่ก็ตัวการ์ตูนของค่ายดังๆ เช่น มิกกี้เมาส์  หรือกูฟฟี่ ประมาณนั้น

ต่อมา  เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นตุ๊กตาแปลกๆ  เช่น  ตุ๊กตาแรด  ตุ๊กตาควาย   ยอมรับว่า โดนใจสุดๆ และผมยอมควักกระเป๋าซื้อ  ทั้งๆที่ไม่มั่นใจว่า  เอาไปให้ใครแล้วเค้าจะยอมรับ  อาจพาลคิดว่าผมกำลังว่าอะไรเขาหรือเปล่า  ดีไม่ดีอาจเลิกคบกันไปเลย

แต่ผมก็ซื้อครับ  ทั้งๆที่เป็นผู้ชาย  ไม่เล่นตุ๊กตาแล้ว  และยังไม่มีจุดหมายว่าจะให้ใคร  ที่สำคัญเวลานั้นตุ๊กตาแบบนี้แพงมาก  (สำหรับรายได้ของนิสิตคนหนึ่ง) ถ้าจำไม่ผิดประมาณ 700 บาท (น่าจะนำเข้า)
แถมซื้อไป  ก็ไม่กล้าเอาไปให้ใครตรงๆหรอกครับ  กลัวเค้าโกรธ  ได้แต่เอาไปวางไว้ในรถ ซึ่งยุ่งยากกับผมมากๆ  ต้องคอยเอามาปัดฝุ่น  ทำความสะอาดแทบทุกวัน

คุณพ่อมองผมด้วยสายตาแปลกๆ ตลอดๆ  ประมาณว่า ลูกชายคนนี้ “ผิดเพศป่าวเนี่ย”
คุณลองนึกภาพตามสิครับ  นิสิตหนุ่ม  ขับรถเก๋ง  ดื่มกับเพื่อนๆบ้าง  เที่ยวกลางคืนบ่อยๆ  มีแฟน   แต่.. นั่งปัดฝุ่นตุ๊กตาแรดทุกเช้า  !
ก็เพราะรู้สึกดีกับรูปแบบของตุ๊กตาตัวนั้น  และหวังว่า  จะมีใครสักคน  ที่สนใจมัน
แล้วในที่สุด  ก็มีนิสิตหญิงคนหนึ่ง  ได้ครอบครองเจ้าตุ๊กตาแรด  ตัวนี้

เค้าขึ้นมานั่งรถของผมไปทานขนมกันที่สยาม  พอเห็นเจ้าแรดตัวนี้เท่านั้นแหละ  ถามเสียงหวานเลย
“ของใครคะ  .. น่ารักจัง”
“ซื้อมาให้ (ชื่อเค้า) นั่นแหละ  ไปเห็นที่เซนทรัลมา  น่ารัก  อยากเอามาให้  ชอบป่าว”  (มั่วไปเลย)
“ชอบมากค่ะ  ขอบคุณนะคะ  แหม(ชื่อผม)  ... น่ารักจัง!”

เนี่ยครับ  ความประทับใจกับผลงานที่ไม่น่าเชื่อของคนที่คิดนอกกรอบ  ครั้งแรก
แรด! เนี่ยนะ  เป็นตุ๊กตาน่ารักได้  แถมเรียกสตางค์จากกระเป๋าผมได้  ทั้งๆที่ผมเลิกเล่นตุ๊กตามาเป็นสิบปีแล้ว

แต่ทุกวันนี้  ผมเห็นขายกันอยู่เกลื่อน  เส้นเพชรเกษมสายเก่า  ก่อนถึงราชบุรี  ที่มีโรงงานทำตุ๊กตาผ้าเยอะๆนั่นแหละครับ

“ตุ๊กตาแรด” วางกองเต็มหน้าร้านเลย  กองรวมกับตุ๊กตาโดเรม่อน  ตุ๊กตาเซเลอร์มูน
ไม่แปลกเสียแล้ว  แถมราคาไม่แพงด้วย
คนที่คิดนอกกรอบได้  ได้สตางค์ก่อนครับ 

กลับมาเนื้อหาสาระกันต่อ (นอกกรอบเสียยาวเลย)
การคิดนอกกรอบนั้น  ไม่ได้แปลว่า  พิเรน
การคิดนอกกรอบนั้น  ไม่ได้แปลว่า  คิดใหม่ทุกวัน
แต่การคิดนอกกรอบนั้น  แปลว่า คิดต่างอย่างสร้างสรรค์

และที่สำคัญ
คิดก่อน  ทำก่อน  ไม่ได้แปลว่า ครั้งเดียว จบ ครับ
บางครั้ง  การคิดนอกกรอบอาจไม่ประสบความสำเร็จสมอไป  ที่เราชอบพูดกันติดปากว่า “ลองผิดลองถูก”  ซึ่งเกิดขึ้นได้เสมอ  ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรครับ

แต่ถ้าการคิดนอกกรอบ  ถูกแปลสภาพเป็น คิดเอง  เออเอง  โอกาสที่จะถูกตามว่า “เสียใจเอง” ก็มีสูงครับ
แล้วจะเริ่มต้นคิดนอกกรอบอย่างไรดี?

วิธีคิดนอกกรอบที่ผมแนะนำให้ใช้กัน  น่าจะสรุปได้เป็นข้อๆ  ดังนี้

1.มองในกรอบให้ถ้วนถี่  ก่อนเริ่มคิดนอกกรอบ

คุณควรเริ่มต้นจากการเริ่ม “รู้จัก” และ “เข้าใจ” กรอบของงานฝีมือที่คุณรัก ให้กระจ่างเสียก่อนว่า  กรอบ ของงานประเภทนั้นๆ  มีอะไรบ้าง

โดยการนำปัจจัยที่ผมเคยเล่าไว้ใน “เคล็ดลับการขายงานฝีมือให้ประสบความสำเร็จ ภาค 1-6”  มาเป็นหัวข้อในการเริ่มมอง “กรอบ” ของงานฝีมือก็ได้  และรวมถึงการพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะกับคนที่คุณรู้จัก  เกี่ยวกับงานฝีมือ  ว่าผลงานประเภทที่คุณอยากทำ  มันมีกรอบอะไรที่จำเป็นต้องทำตาม  อะไรที่ “หลุดกรอบ” ได้บ้าง 

อย่างน้อย ก็เป็นการกำหนดวิธีคิดที่ไม่เสี่ยง  จนเกินไปนัก
ยกตัวอย่างประกอบความเข้าใจง่ายๆนะครับ
ถ้าคุณรักจะทำ “ตุ๊กตาผ้า”

กรอบของานประเภทตุ๊กตาผ้าน่าจะเป็น
สินค้าสำเร็จรูป ที่ช่วยลดต้นทุน และเวลาของผู้ผลิตได้ เช่น  ลูกตา  ใยสังเคราะห์  แหล่งขายผ้า ฯลฯ
ลิขสิทธิ์  ที่ไม่ควรละเมิด  ต้องหลบๆซ่อนๆ หรือ พยายามปรับเล็กปรับน้อยให้แตกต่าง เช่น ทำตุ๊กตาโดเรม่อน  หัวเหมือน  ตาเหมือน  มือเหมือน  แต่ปรับรูปแบบให้ตัวยาวๆ  แขนยาว  ขายาว  ดูยังไงก็ โดเรม่อนเก๊!

ช่วงเวลา และเทศกาล  ตุ๊กตาผ้า  น่าจะขายดีที่สุด  ก็ช่วงเทศกาลแห่งความสุข  เช่น ปีใหม่  รับปริญญา วาเลนไทน์ 

ตุ๊กตาผ้า  มีของนำเข้าที่มีแพทเทิร์นสวยๆ  แปลกๆ จากเมืองนอกเยอะแยะ  มียี่ห้อด้วย  ราคาก็ไม่แพงนัก

ถ้าคุณเข้าใจ “กรอบ” ของงานฝีมือ  ก็แน่นอนว่า  มีกรอบบางอย่าง  ที่คุณไม่ควรมองข้าม เพราะจะช่วยให้คุณประหยัดทั้งเงินทุน  และเวลาได้  รวมถึงสนับสนุนผลงานของคุณได้ดีทีเดียว

ปัจจัยบางอย่าง  ต้องรู้จักตัวเอง (และงานฝีมือของตัวเอง)  ก่อนจะเริ่ม  มองต่างมุมบ้างก็ไม่แปลก  ไม่จำเป็นต้อง “นอกกรอบ”ทั้งหมดครับ

2.มองต่างอย่างสร้างสรรค์

เมื่อเรารู้จักกรอบที่จำเป็น สำหรับงานฝีมือของเราแล้ว  ก็เริ่มคิดถึง เอกลักษณ์  หรือ Concept ที่เราตั้งไว้  (เขียนไว้ใน เคล็ดลับฯ เรื่องภาพลักษณ์)

ต่อให้ “คิดต่าง” อย่างไร  ต้องพยายามให้งานฝีมือของเรา  ไม่หลุดจาก Concept ที่เราตั้งไว้อย่างเด็ดขาด  ยกเว้นแต่เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่า  Concept ที่เราตั้งไว้นั้น บกพร่อง

ถึงแม้ว่าเอกลักษณ์ของชาวบ้าน  จะทำให้คุณเริ่มมองเป็นช่องทางว่า “ทำเงินได้”   แต่คุณเชื่อไหมครับว่า  ถ้าเมื่อไหร่คุณเป็น “ผู้ตาม”  เมื่อนั้นก็จะถึงเวลาที่คุณต้องเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  เช่น  การเปรียบเทียบ   สงครามราคา   ชื่อเสียง  สารพัด

เชื่อผมเถอะว่า  สินค้าประเภทเดียวกัน  ไม่จำเป็นต้องมี “จุดขาย” ที่เหมือนกันเสมอไป  ถ้าเรามองต่างอย่างสร้างสรรค์ได้  ยังมีจุดขายอื่นๆอีกมากมายที่สามารถนำมาใช้  แล้วประสบความสำเร็จได้จริงๆ
เรื่องนี้ขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของคุณพ่อโดยตรงครับ

ก่อนที่จะมี “เรือจำลองไม้สักทองระบบมาตราส่วน” ของ Gallery เรานั้น  คุณๆคงได้พบเห็นเรือจำลอง  หรือเรือสำเภาจีน  จำนวนมาก  รวมถึงพิพิทธภัณฑ์เรือจิ๋ว  ที่มีขายอยู่หลากหลาย

ผมเริ่ม “มองต่าง” จากจุดขายของคนอื่นๆ  ทั้งๆที่ผู้ผลิตรายอื่นๆ ก็สามารถขาย “เรือจำลอง” ได้มากกันทั้งนั้น

เมื่อก่อน เรือจำลองบ้านเรา  มี 4 ประเภท
1.เรือจำลองตามจินตนาการ  ทาสี  ขายถูก  งานหยาบๆ  (พบเห็นได้ตามตลาดนัด  หรือตลาดน้ำ)
2.เรือสำเภาจำลอง ฝีมือค่อนข้างดี  ใช้ฮวงจุ้ย วันเดือนปีเกิด  มาคำนวณขนาดเรือ (เห็นในทีวี และเนต)  ราคาสูงพอสมควร
3.เรือจำลองไทยๆ  เชิงอนุรักษ์  มีเรือแปลกๆหลากหลาย  สารพัดชนิด (ส่วนใหญ่จัดเป็นพิพิทธภัณฑ์  โชว์งาน  และขายด้วย)
4.เรือจำลองนำเข้า  ลำใหญ่ๆหน่อย (ส่วนใหญ่ก็มาจากจีน  และเวียตนาม)  สีสันสวยงาม  มีองค์ประกอบบางส่วนทำจากพลาสติก  เหล็กหล่อ (ขายตามห้างสรรพสินค้า)  แต่ที่สำคัญผลิตในระบบอุตสาหกรรม  ไม้ก็เป็นไม้ทั่วไป  กลึงๆมาประกอบเป็นก้อนๆ

โอ้โห!  ปิดกันแทบทุกช่อง  ถูก-แพง  อนุรักษ์  ฮวงจุ้ย  ฯลฯ  แล้วจะคิดอะไร “นอกกรอบ”ได้มั่งเนี่ย  คุณอาจรู้สึกเหมือนผมในช่วงนั้น
แล้วผมก็เริ่มภารกิจ “มองต่าง” โดยศึกษาในกรอบของผมก่อน

ลูกค้าซื้อเรือสำเภาจีน  ส่วนมาก เชื่อฮวงจุ้ย
ผมก็ไม่มองข้ามจุดนี้  ศึกษาหาข้อมูลจนไปพบว่า  เพื่อนของคุณพ่อคนหนึ่ง  เป็นลูกครึ่งจีน และเป็นอาจารย์ฮวงจุ้ยที่มีคนนับถือมากมาย  ผมก็ไปพบ และขอให้อาจารย์ท่านนั้น “จัดการ” กับฮวงจุ้ย
แล้วเรื่องนี้ผมก็ไม่มีปัญหา...

ความโด่งดังของการสั่งต่อเรือจำลอง  ตามวันเดือนปีเกิด
ก็ยังเหมือนเดิม  เรื่องนี้โด่งดังจนกลายเป็นความเชื่อไปแล้ว  และผมไม่อยากเป็น “ผู้ตาม”  จนวันหนึ่ง  ผมคิดขึ้นมาว่า  มีลุกค้าหลายคนที่อยากได้เรือสำเภาที่สมส่วน  และเชื่อฮวงจุ้ยด้วย  ไม่ใช่เรือสำเภาอ้วนๆ ยาวๆ
ผมก็ได้คำว่า “ระบบมาตราส่วน” ซึ่งเข้าใจง่าย...

แล้วคำว่า “พิพิทธภัณฑ์” ซึ่งดูเป็นทางการเสียเหลือเกิน
ใครๆก็ทำพิพิทธภัณฑ์เรือจำลอง  แล้วผมจะไปทำตามทำไม  ผมก็ได้คำซึ่งมีความหมายที่ดูดี  และทันสมัยกว่า  รวมถึงสื่อถึง “งานฝีมือ” ที่ดีกว่า
“Gallery” ครับ  เข้าใจง่ายเชียว

ถ้าจะให้เล่าให้หมด  กระทู้นี้จะกลายเป็น โฆษณา เสียเปล่าๆ  เอาแค่ตัวอย่างการ “นอกกรอบ”  พอหอมปากหอมคอ  ก็คงเห็นภาพนะครับ
แต่สิ่งที่เล่ามานั้น  กลับทำให้งานฝีมือของคุณพ่อ  กลายเป็นที่รู้จักในเวลารวดเร็ว  ซึ่งผมเชื่อว่างานฝีมือทุกชนิด  สามารถหา “มุมมองที่แตกต่าง” ได้ไม่ยากเย็นหรอกครับ

3.ต้องรู้จัก และยอมรับ KPI’s

KPI’s ย่อมาจาก  Key Performance Indicator หรือ Key Performance Index  แปลเป็นไทยง่ายๆ ก็คือ “ดัชนี้ชี้วัด” หรือ “วิธีวัดค่าความสำเร็จ” ครับ

“ชักจะเป็นวิชาการมากเหลือเกินแล้วนะ .. แค่งานฝีมือเล็กๆ  ทำไมต้องยุ่งยากขนาดนี้” ผมเชื่อว่ามีหลายท่านคิดอย่างนี้

ไม่ยากขนาดนั้นหรอกครับ  บางครั้งจะงานเล็กๆ ขายตามตลาดนัด  หรือผลงานระดับร้อยล้าน  ก็ใช้หลักการเดียวกัน ผมจะพยายามแปลไทยเป็นไทย  ให้คุณเข้าใจกันง่ายๆ  และมองข้ามความยุ่งยากที่สลับซับซ้อนไปเสียบ้างได้แน่ๆครับ
และหากบังเอิญ สำหรับท่านที่เป็นนักวิชาการตลาด  หรือผู้บริหารผู้คลั่งไคล้ศัพท์แสงยากๆทางวิชาการ  ต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่า  ผมมาเขียนบทความ “เคล็ดลับฯ” เพื่อแบ่งปันประสบการณ์  ให้กับเพื่อนๆที่รักงานฝีมือ ได้ไปทดลองใช้กันฟรีๆ 

ไม่ได้มาแต่งตำราการตลาดอะไร  เพราะฉะนั้น วิชาการที่ยุ่งยากบางส่วน  ผมอาจข้ามไปบ้าง  หรืออาจรวบรัดให้เข้าใจง่ายขึ้น  เท่านั้นครับ  อย่าเพิ่งต่อว่าๆผมเขียนไม่ครบ  หรือถูกต้องตามหลักวิชา 100% นะครับ
กลับมาที่ KPI’s

KPI’s ก็สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ  เช่นเดียวกัน   ก็คือการมองหาจุดกำหนดอะไรสักอย่าง (หรือหลายอย่าง)  เพื่อประกอบการตัดสินใจของคุณเองว่า  การคิดนอกกรอบ  ของคุณนั้น  มาถูกทางหรือยัง  คิดเองเออเองหรือเปล่า  ฯลฯ

ไม่ต้องไปหาตำราการตลาด  การบริหาร ที่ไหนมาอ่านหรอกครับ  คิด KPI’s  ขึ้นมาเองนี่แหละ

แล้วตั้ง KPI’s จากอะไรดี
ลองเลือกดูนะครับ  เมื่อคุณคิดนอกกรอบ  และได้ทดลองผลิตงานฝีมือชิ้นนั้นๆออกมาแล้ว  อาจตั้ง KPI’s ง่ายๆได้เลย เช่น

เดือนหนึ่งขายได้เท่าไหร่?  ตั้งไว้ที่ 10 ชิ้น  ขายได้กี่ชิ้น

มีผู้คนให้ความเห็นว่า งานของคุณ น่าสนใจขนาดไหน  โดยขอให้เค้าช่วยให้ความเห็นจากใจจริง ไม่ต้องเกรงใจ  และเราต้องเปิดใจรับฟังให้ได้  เช่น  ถามคน 20 คน  ต้องมีคนชมว่า “ดีมาก”  กี่คน  ชมว่า “ดี” กี่คน  “เฉยๆ” กี่คน หรือแม้กระทั่งบอกอ้อมๆว่า ไม่สวยเลย” กี่คน

แล้วลองสรุปกับตัวเองว่า  ผลลัพท์  ที่ได้มา  ดีพอหรือยัง
เอาง่ายๆแค่นี้ละครับ KPI’s
แต่ข้อสำคัญ  คุณต้องทำ KPI’s ที่ใช้เวลา และมีการกำหนดจำนวน สักหน่อย  ไม่ใช่เอาผลงานไปให้เพื่อนๆ 4-5 คนดูแล้วรีบสรุปเอง (ตามที่อยากสรุป)  ว่า นี่แหละ  ใช่เลย

ลองนำไปใช้ดูนะครับ  แค่สามข้อนี้  อาจสนับสนุนการคิดนอกกรอบ ของคุณได้
ก่อนจบภาคนี้  อยากเล่าตัวอย่างการ “คิดนอกกรอบ”  ที่ประสบความสำเร็จ มากๆ  ของผมอีกสักเรื่อง

คุณพ่อดูหนังเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีตัวเองเป็นโจรสลัด  และอยากทำเรือโจรสลัดออกมาบ้าง
คำถามคือ  ใครจะซื้อเรือโจรสลัดจำลองไว้ในบ้าน  แถมต้องทำใบให้มีตราหัวกระโหลกด้วย

แต่เราลองทำครับ  ครั้งแรกทำออกมาสองลำ  ใบสีดำ 1 ลำ  ใบสีขาว 2 ลำ (ซึ่งคุณพ่อไม่อยากทำเรือใบสีดำเลย  แต่ผมเซ้าซี้ให้ทำ)

ปรากฏว่า  เรือโจรสลัดใบสีดำ  มีตราหัวกระโหลก และดาบไขว้  ขายได้เป็นลำแรก  และอีก 9 ลำต่อมา  ขายหมด! 

แถมได้ห้างสรรพสินค้าใหญ่แถวรังสิต  มาขอนำไปโชว์ ในงานแสดงสินค้าใหญ่งานหนึ่ง  และนำไปโปรโมทงาน แสดงสินค้านั้น ทางโทรทัศน์ ช่อง 3 ในรายการข่าวที่เรตติ้งดีที่สุดตอนเช้า

เท่านั้นเอง ลูกค้าตามหาเรากันให้วุ่นวาย   และเรือโจรสลัด  ก็ไม่มีเหลืออีกเลย

หลายคนบอกว่า ฟลุ๊ค  แต่ผมยืนยันว่า  เกิดจากการ “คิดนอกกรอบ” นี่แหละครับ 
กล้าคิด กล้าทำ  และรับฟังคนอื่นบ้าง  ก็ “คิดนอกกรอบ”ได้แล้วครับ

ที่มา http://topicstock.pantip.com/jatujak/topicstock/2010/10/J9847069/J9847069.html

เคล็ดลับการขายงานฝีมือให้ประสบความสำเร็จ: 6.2 การทำโปรโมชั่น

 “แลก”

-แลกความสุข  ความภาคภูมิใจ

ในฐานะผู้ที่รักในงานฝีมือ  คงไม่มีสิ่งใดที่เราจะให้แบบ “แลก” กับผู้ที่สนใจผลงานของเรา  ได้เท่ากับ ความสุขจากงานฝีมือ และความรู้”  ใช่ไหมครับ

ลองมองเทคนิคการแลกความสุขแบบง่ายๆ  ไม่ต้องใช้ทุนทรัพย์มากมาย เช่น
เก็บสะสมคูปอง  ทุกครั้งที่มีการซื้อสินค้า  แล้วสามารถนำมาแลกรับส่วนลด หรือของชำร่วยเล็กน้อย

นำผลงานของคุณที่เค้าเคยมี  มาแลกกับของขวัญวันเกิด  ในวันเกิดของลูกค้าที่คุณผลิตออกมาเป็นพิเศษเล็กๆน้อยๆ  (สำหรับแลกเท่านั้น) ตรงนี้ได้ความสัมพันธ์ที่ดีด้วย

ในโอกาสพิเศษ เช่น ปีใหม่  วาเลนไทน์ ถ้าลูกค้าคนไหนมีสินค้าของคุณ  สามารถนำมาแลกสินค้าแบบเดียวกัน (แต่เป็นของใหม่) ประมาณ เก่า แลก ใหม่  อาจต้องเพิ่มเงินเล็กน้อย ในลักษณะ “แลกซื้อ” ซึ่งสินค้าเก่าที่เค้านำมาแลก  คุณสามารถนำมา Re-build หรือทำความสะอาดให้ดูดี 

และนำกลับมาขายเป็นสินค้ามือสอง หรือ นำมารื้อเอาแต่วัสดุ  นำมาประกอบใหม่ได้อีก  เพื่อช่วยค่าใช้จ่ายของสินค้าใหม่ที่แลกไป
อันไหนเหมาะสม  ก็ลองใช้ดูครับ
ประสบการณ์ของผม

ในฐานะที่ผมทำเวบไซต์เกี่ยวกับเรือจำลอง  ผมกำลังจะเริ่มทำสัมภาษณ์ลูกค้าที่เป็นผู้ครอบครองเรือจำลองของคุณพ่อลงเผยแพร่ในเวบไซต์  โดยตามไปถ่ายภาพ  พร้อมทำสัมภาษณ์ลูกค้าท่านนั้นลง website ของผม
ผมมองว่า  นี่เป็นการแลกที่ดีที่สุด (ของสินค้าเรือจำลอง) 
โดยการสัมภาษณ์ที่ผมทำ  เป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้กับลูกค้า  ซึ่งอาจมี หรือไม่มีโอกาสมีใครมาทำข่าว  สัมภาษณ์  นำเรื่องราวชีวิต และ lifestyle ของเค้ามาลงในสื่อใดๆเลย  ซึ่งเค้าก็เป็น Presenter ให้กับงานฝีมือของแกลลอรี่ ได้เป็นอย่างดี

นี่เป็นการ “แลก” ที่ได้ผล  และคุ้มค่า  เค้าซื้อเรือจำลองของเรา  แต่เต็มใจมาเป็น Presenter ให้เรา  ส่วนเรา ก็ต้องไปถ่ายภาพ  ทำบทความ Lifestyle ให้เค้าภาคภูมิใจ
เพียงลูกค้าท่านนั้นมีเรือจำลองของผม  สามารถนำมาแลกกับการได้ทำข่าว สัมภาษณ์ ลงเวบไซต์ได้เลย
เราแลกความสุข  ความภาคภูมิใจ ให้กันและกันอย่างเต็มใจครับ
เห็นไหมครับว่า  ผมแทบไม่ต้องใช้ทุนทรัพย์อะไรมากมาย  เพื่อทำโปรโมชั่น “แลก” กับลูกค้าของผมเลย  แต่ผลที่ได้ กลับมากมายมหาศาล  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ผมได้ความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าอย่างมากมาย

ถ้าลองจัดการกับการ “แลก” ความสุขได้  เรื่อง เวลา  พลังงาน  เงิน  เราข้ามไปก็ได้ครับ  ไม่ต้องทำทุกตัวหรอกครับ

-“แจก”

ถึงข้อนี้  ผมว่าเราทุกคนคงคิดหนัก  เหตุจากที่เราไม่ใช่บริษัทฯที่สามารถใช้งบประมาณจำนวนมาก เพื่อการทุ่มทุน “แจก”  ได้อย่างเค้า (และเราอาจไม่มีเงินมากพอด้วย)  ใช่ไหมครับ

เหมือนที่ผมเกริ่นไว้ในภาค 6 โปรโมชั่นแบบของผม  ไม่เหมือนกับที่คุณคุ้นเคย  ข้อนี้ก็เช่นเดียวกัน

งานฝีมือนั้นไม่ได้มีกำไรอะไรมากมาย  ดังนั้นการลงทุนหา “ของแจก” แทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ครับ  แต่เชื่อผมไหมว่า  เราสามารถหาของ แจก ได้ไม่ยาก  และไม่แพงเลยครับ
แต่ก่อนที่คุณจะ “แจก”  ผมอยากแนะนำให้คุณรู้จักกับเคล็ดลับที่สำคัญที่สุดในการแจก

สำคัญจริงๆนะครับ
คาถาสำคัญของการแจกคือ “แจกให้จำ  – ลูกค้านำไปบ้าน – ใช้งานได้ดี – ไม่มีภาระ”
แจกให้จำ = รับแจกแล้ว เค้าจำเราได้  หรือได้รับข้อมูลของเรามากที่สุด

ลูกค้านำไปบ้าน = แจกแล้วเค้าเอาไปอยู่ในบ้าน หรือติดตัวไว้ มีโอกาสให้คนอื่นเห็น  ไม่ใช่รับแล้วเอาไปทิ้งไหนไม่รู้ หรือเป็นของที่เสียหายง่าย

ใช้งานได้ดี = ลูกค้ารับไปแล้วชื่นชม  อยากใช้งาน  รู้สึกดีกับของแจก ไม่เอาไปทิ้ง

ไม่มีภาระ = คุณไม่ต้องรับภาระมากมายกับของแจก  บางคนชอบทำตัวหรูๆ  หาของแจกดีดี  ซึ่งสิ้นเปลืองเกินไป คนรับเค้าชอบอยู่แล้วครับ  แจกของดีน่ะ  แต่เราได้ผลลัพท์ที่ไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย
งั้นเราแจกอะไรดีเนี่ย?.. คงเป็นคำถามที่คุณนึกอยู่ตอนนี้
เอาอย่างง่ายที่สุดเลยครับ
แจกรอยยิ้ม , แจกอัธยาศัยไมตรี , แจกข้อมูล , แจกความรู้  ฯลฯ  ไม่ใช้เงินเลยครับ

แจกใบปลิวสวยๆเก๋ๆ , แจกพวงกุญแจที่มีชิ้นงานเล็กๆของคุณพร้อมเบอร์โทร , แจกปฏิทินตั้งโต๊ะ (ลูกค้าประจำ) , แจกสายคล้องโทรศัพท์เก๋ๆ (ซื้อหรือทำเองก็ได้  ไม่แพง)  ฯลฯ  ใช้เงินบ้างครับ
แต่อย่าลืม  ของแจกทุกชิ้น  ต้องมีสักจุดหนึ่งที่มีข้อความที่สื่อถึงตัวคุณ และหมายเลขโทรศัพท์ของคุณ 
ที่สำคัญ  กาละเทศะในการแจกครับ  อย่าแจกพร่ำเพรื่อ  เพราะจะทำให้ของแจกของคุณ “ไร้ค่า” สิ้นเปลืองเปล่าๆ  และควรเลือก “ผู้รับ” ที่เหมาะสมด้วยครับ

แล้วใคร? คือผู้รับที่เหมาะสมล่ะครับ  ถ้าไม่ใช่ “ลูกค้า”  ย้ำอีกครั้งนะครับ “ลูกค้า”  แต่คุณต้องเข้าใจคำว่าลูกค้าอย่างถ่องแท้นะครับ (ลองกลับไปอ่านในภาคที่ 5 ก็ได้ครับ  ไม่เขียนซ้ำนะครับ)
ประสบการณ์ของผม

ในขณะที่เรือจำลองของคุณพ่อยังไม่เป็นที่รู้จักมากมายเหมือนวันนี้  ผมแจกใบปลิวครับ  แจกไปกับเรือทุกลำที่ลูกค้าสนใจสอบถามเข้ามา รวมถึงสั่งซื้อด้วย
ผมลงทุนกับใบปลิวไม่มากครับ  แต่เลือกทำภาพให้มีขนาดใหญ่  ถ่ายภาพให้สวยงาม  และมีปฏิทินอยู่ในใบปลิวเพื่อให้ลูกค้านำกลับไปบ้าน ใช้งานต่อได้ด้วย

แต่ในปัจจุบัน  ที่เรือจำลองไม้สักทองของคุณพ่อเป็นที่นิยมแพร่หลาย  ผมเพิ่มการแจก “บริการ” ที่ดีมากๆ  ที่สุดที่ผมจะทำได้ อีกอย่างครับ  เพราะผมไม่อยากให้ลูกค้ารู้สึกว่า “ดังแล้วหยิ่ง”  “ดังแล้วบริการแย่”
แผนในอนาคต  ผมจะแจกคูปองบริการ “ทำความสะอาดเรือจำลองฟรี” ให้กับลูกค้าที่ซื้อเรือไป ปีละ 1 ครั้ง
เห็นไหมครับ  ผมใช้เงินน้อยจริงๆ  กับการแจก  และได้รับความชื่นชมจากการแจก  อย่างเต็มที่เลยละครับ

-“แถม”

ถ้าการแถมไม่สามารถทำให้เรา เข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจ และความทรงจำของลูกค้าได้  อย่าแถมเลยครับ!

ผมเห็นมาเยอะแล้ว  กับการพยายามสร้างของแถม  ประเภท ซื้อ1 แถม 1 ที่ไม่ได้ทำให้ลูกค้า “รู้สึกดี”  ขึ้นมาได้เลย  แต่กลับทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า “ถูกบังคับซื้อ..เสียมากกว่า”
สุดท้ายลูกค้าก็แค่ยอมซื้อ เพราะอยากได้ของถูก  สินค้าชิ้นนั้น  ก็กลายเป็นของถูกที่ไร้คุณค่าไปเสียดื้อๆ

กับสินค้าอุปโภคบริโภค  ก็พอใช้ได้ครับ  เพื่อสนับสนุนยอดขาย  แต่อย่างที่ผมเกริ่นนำไว้ในเรื่องสินค้า (ภาค1) ว่า “งานฝีมือ” นั้น  แตกต่างจากสินค้าอื่นๆ  และผู้ซื้อ  ต้องรู้สึก “ประทับใจ” จริงๆ  จึงจะซื้อ

แล้วคุณจะแถม เพื่อจูงใจให้ซื้อไปทำไมกันครับ?
อย่าลืมว่า  ผู้ซื้อ  เค้าซื้อสินค้างานฝีมือของเราเพราะความประทับใจ  ซึ่งอาจเกิดจากตัวสินค้าเอง (ภาค 1)  หรือ ภาพลักษณ์ (ภาค 4 )   จึงจะถือว่า  คุณเป็นผู้สร้างสรรงานฝีมือที่ประสบความสำเร็จ  และได้รับการยอมรับ

แต่ถ้าผู้ซื้อ  เค้าซื้อสินค้างานฝีมือของคุณ  เพราะอยากได้ของแถม  แปลว่าผลงานของคุณ ยังไม่ดีพอหรือครับ  ถึงต้องจูงใจด้วยวิธีนี้
อ้าว... แล้วคุณวายุอัคคี เอาเรื่องนี้มาเล่าทำไมล่ะ  คุณคิดอย่างนี้แน่ๆเลย

เพราะเทคนิค การ”แถม”  ก็ยังจำเป็นในการสร้างความประทับใจให้กับผู้ที่ชื่นชอบผลงานของเรา อยู่ดีละครับ  เพียงแต่ว่า  การแถมของคุณนั้น  ควรเกิดจากความต้องการสร้างความรู้สึกดีๆ ให้แก่ลูกค้า  มิใช่ การจูงใจให้ซื้องานฝีมือ  จุดนี้ละครับ  สำคัญที่สุด
ลองมาดูการ “แถม”  ที่เหมาะสมกับงานฝีมือนะครับ

แถมถุงสวยๆ  ที่ลูกค้าสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (กระแสถุงผ้ากำลังมาแรง  ไม่แพงด้วย)

แถมเครื่องหอมชิ้นเล็กๆ ที่ลูกค้าจะรู้สึกประทับใจ (ทำเองก็ได้ครับ)

แถมโบว์สวยๆ  ที่ลูกค้าสามารถนำกลับไปใช้ได้อีก (ยิ่งเป็นงานของคุณเอง ยิ่งดี)

แถมการ์ดขอบคุณ แสดงความชื่นชมที่เค้าชอบสินค้าของเรา (ใบละไม่กี่บาท เขียนขอบคุณด้วยลายมือของเรา)

ใส่ใจลงไปในของแถม  พร้อมทั้งคำขอบคุณ  เท่านี้ก็ประทับใจแล้วครับ
ที่สำคัญ  อย่าพยายามใส่ข้อมูลเชิงเสนอขายของ  หรือเชิญชวนให้กลับมาซื้อใหม่

ของแถมก็คือของแถมครับ  ยิ่งลูกค้าที่ซื้องานฝีมือด้วยแล้ว  เค้าละเอียดอ่อนมากพอที่จะแยกแยะได้ว่า  คุณกำลัง “พยายามขายเพิ่มผ่านของแถม” หรือคุณตั้งใจ “แสดงความขอบคุณ”

สิ่งไหนประทับใจลูกค้ามากกว่ากันครับ...
ในชีวิตประจำวัน  เราต่างก็ได้รับของแถมมากมาย

แต่เราทุกคนก็รับได้ว่า “ของแถม” เป็นของฟรีที่ไม่ได้เสียเงินซื้อมา  จะเอาคุณภาพดีได้สักแค่ไหนเชียว  แต่สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกดี นั่นคือ  ความทรงจำที่ดีเกี่ยวกับของแถมว่า ได้รับมาจากที่ไหนต่างหากครับ

ตัวอย่างง่ายๆ  ถ้าคุณมีบัตรเครดิต  ผมว่าตอนสมัครคุณได้แถมกระเป๋ามาแน่ๆ  กระเป๋าที่แถมมาก็งั้นๆแหละ  บางใบเอาไปถือที่ทำงานยังเขินๆ  แต่เราก็รู้สึกดีว่า  อย่างน้อยก็ได้กระเป๋าผ้าใบนี้มาจากการสมัครบัตรเครดิตธนาคารXXX  ใช่ไหมครับ

แล้วทำไม   งานฝีมือจะสร้างความทรงจำที่ดี  ผ่านของแถมบ้างไม่ได้เชียวหรือครับ
ประสบการณ์ของผม

ลูกค้าที่ซื้อเรือจำลองของคุณพ่อไป  ผมแถม
-สิทธิ์ที่จะสั่งผลิตเรือจำลองลำต่อไปได้ในราคาลดพิเศษ  และสามารถใช้สิทธิ์เดียวกันนี้ ลงทะเบียนเรียนต่อเรือจำลอง ได้ในราคาพิเศษด้วย

-การ์ดขอบคุณ จากลายมือคุณพ่อเอง

-บริการส่งถึงบ้าน (เฉพาะใน กทม.) และ

-กรณีที่ลูกค้าเชื่อเรื่อง ฮวงจุ้ย  ผมแถมข้อมูลการตั้งเรือสำเภาอย่างถูกวิธี และวันมงคลที่นำเรือเข้าบ้าน ( ข้อมูลจากผู้รู้จริงเรื่องฮวงจุ้ย ซึ่งเป็นเพื่อนคุณพ่อเอง)
แทบไม่ได้ใช้เงินกับของแถมเลยครับ  ถึงใช้ก็น้อยมากจริงๆ

ครบถ้วนนะครับ  กับเทคนิคการสร้างโปรโมชั่นของสินค้างานฝีมือ

มีข้อแนะนำเล็กน้อยที่คุณควรเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างโปรโมชั่น  คือ 

1.ไม่ควรใช้โปรโมชั่นเป็นประจำ เพราะจะทำให้โปรโมชั่นนั้น “เฝือ” จนเกินงาม

2.โปรโมชั่นที่ดีนั้น  อ้างอิงกับกาละเทศะ ที่ถูกต้องและเหมาะสมเสมอ

3.อย่าหักโหมกับโปรโมชั่น  คนจะซื้องานฝีมือซื้อด้วยใจครับ

4.ไม่จำเป็นต้องใช้โปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ให้ครบทุกตัวพร้อมๆกัน  เลือกใช้เป็นครั้งๆไปตามเทศกาล

5.ถ้าเลือกใช้ตัวไหนแล้ว   Feedback จากลูกค้าเป็นบวก  ก็ปรับเปลี่ยนให้แปลกใหม่บ้าง  ภายใต้ Concept เดิม  เพราะลูกค้าคงเบื่อ  ถ้าคุณยังทำเหมือนเดิมเป็นเวลานานๆ

6.ถ้าเลือกใช้ตัวไหนแล้ว  ไม่มี Feedback ที่ดีกลับมาเลย  ก็เลิกทำได้เลยครับ  เสียเวลา

ที่มา http://topicstock.pantip.com/jatujak/topicstock/2010/10/J9835076/J9835076.html