วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความแตกต่างลีน (Lean) และซิกส์ ซิกม่า (Six Sigma)


ลีน (Lean) หมายถึง ระบบการผลิตที่มุ่งเน้นในเรื่องการไหล (Flow) ของงานเป็นหลัก โดยทำการกำจัดความสูญเปล่า (Waste) ต่าง ๆ ของงาน และ เพิ่มคุณค่า (Value) ให้กับตัวสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจสูงสุด (Customer Satisfaction)

ซิกซ์ซิกมา (Six Sigma) หมายถึง วิธีการทางสถิติที่เป็นระบบ (Systematic) เพื่อลดความผันแปร (Variation) ในกระบวนการผลิต (Process) และผลิตภัณฑ์ (Product) โดยมุ่งหวังคุณภาพที่เป็นเลิศ เพื่อการลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไร โดยต้นทุนที่ซิกซ์ซิกมาให้ความสนใจก็คือ ต้นทุนคุณภาพ (Cost of Quality

ซิกซ์ซิกมา (Six Sigma)
แนวคิด : ลดความผันแปร (Variation)
แนวทาง
  • 1. ระบุปัญหา (Define)
  • 2. วัดปัญหา (Measure)
  • 3. วิเคราะห์ปัญหา (Analyse)
  • 4. แก้ไขปรับปรุง (Improve)
  • 5. ควบคุมให้คงไว้ (Control)
- มุ่งเน้น : ปัญหา
- สมมุติฐาน : ปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ให้ความสำคัญกับตัวเลขและสถิติ การปรับปรุงระบบทำได้โดยการลดความผันแปรในกระบวนการผลิต
- ผลที่ได้รับโดยตรง : สินค้ามีคุณภาพดีขึ้น
- ผลที่ได้รับโดยอ้อม : ความสูญเปล่าน้อยลงมีงานออกจากกระบวนการผลิตมากขึ้น สินค้าคงคลังลดลง
- วิจารณ์ : ผลกระทบของการปรับปรุงซึ่งอาจเกิดขึ้นที่กระบวนการอื่นอาจไม่ได้รับการพิจารณา อาจเป็นการปรับปรุงเฉพาะกระบวนการนั้น ๆ

ส่วนลีน (Lean)
แนวคิด : กำจัดความสูญเปล่า (Waste)
แนวทาง
  • 1. ระบุค่าของสินค้า (Value)
  • 2. แสดงผังคุณค่า (Value Stream)
  • 3. ทำให้คุณค่าไหล (Flow)
  • 4. ให้ลูกค้าเป็นผู้ดึงคุณค่า (Pull)
  • 5. กำจัดความสูญเปล่าและเพิ่มคุณค่าอย่างต่อเนื่อง (Perfection)
- มุ่งเน้น : การไหลของงาน
- สมมุติฐาน : การกำจัดความสูญเปล่าจะทำให้ธุรกิจดีขึ้น การปรับปรุงที่มีผลดีขึ้นเล็กน้อย แต่ทำมาก ๆ ดีกว่าการวิเคราะห์ระบบ (Many Small Improvements are Better Than System Analysis)
- ผลที่ได้รับโดยตรง : การไหลของงานดีขึ้น
- ผลที่ได้รับโดยอ้อม : ความผันแปรลดลงสินค้ามีคุณภาพดีขึ้น สินค้าคงคลังลดลง
- วิจารณ์ : สถิติและการวิเคราะห์ระบบไม่มีความหมาย
 ลีน (Lean) มุ่งที่การปรับปรุงระบบการผลิตในด้านการผันแปร คุณภาพและการเพิ่มผลิตภาพ แต่ ซิกส์ ซิกม่า (Six Sigma)ไม่ได้มุ่งเพียงแค่ระบบการผลิตเท่านั้น แต่ยังมุ่งให้ความสนใจในเรื่องของการวิจัยและพัฒนา และการบริการด้วย

แนวทาง ลีน (Lean) สามารถจัดการกับปัญหาหรือสิ่งรบกวนกระบวนการผลิตได้โดยการจัดให้การทำงานในองค์กรเป็นไปในทางเดียวกันและมีความสอดคล้องประสานงานกันมากกว่าที่จะส่งเสริมให้มีการแบ่งแยกเป็นหน่วยย่อย ลีนจะเป็นตัวช่วยหาพื้นที่การผลิตร่วมในกรณีที่กระบวนการผลิตทั้งหมดต้องการผลิตสินค้าในเวลาเดียวกัน และแทนที่ลีนจะมุ่งให้ความสนใจแค่ชิ้นส่วนงานแต่ลีนยังมุ่งให้ความสนใจในการไหลของสินค้าและพนักงานผลิตด้วยตัววัดที่สำคัญตามแนวคิดลีนก็คือเวลาในการปรับตั้งเครื่องจักร การบำรุงรักษาเครื่องจักรและการกำหนดเส้นทางการผลิต แต่ ซิกส์ ซิกม่า (Six Sigma) มุ่งให้ความสนใจที่อัตราของเสียและต้นทุนคุณภาพที่เลวอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงชิ้นงานและกระบวนการซึ่งต้องอาศัยข้อมูลที่ถูกวัดแล้ว

แนวทางการแก้ปัญหาแบบซิกส์ ซิกม่า (Six Sigma)จะใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อนซึ่งเหมาะกับการที่แนวคิด ลีน (Lean) จะนำไปใช้ปรับให้เป็นมาตรฐานและการปรับผังโรงงานใหม่ ส่วนลีนก็เป็นรากฐานให้กับแนวทางแก้ปัญหาแบบ ซิกส์ ซิกม่า (Six Sigma)ในส่วนที่ระบบได้รับการวัดว่าคลาดเคลื่อนไปจากมาตรฐานและได้รับการปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานนั้น

ขณะที่ ลีน (Lean) เน้นการทำให้เป็นมาตรฐานและการเพิ่มผลิตภาพนั้น ซิกส์ ซิกม่า (Six Sigma) ก็สามารถจัดการกับสิ่งรบกวนกระบวนการผลิตและต้นทุนคุณภาพที่อย่างมีประสิทธิภาพ