วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2552

รวยได้จากแกลบ

คนไทยได้ รับการปลูกฝังให้รู้ซึ้งถึงบุญคุณของแม่พระโพสพมาช้านาน เราสามารถใช้ประโยชน์ได้ จากทุกส่วน ของต้นข้าว นอกจากเมล็ดข้าวที่หล่อเลี้ยงมนุษย์มานับร้อยนับพันปีแล้ว เรายังใช้ประโยชน์จากฟางข้าว หรือแม้กระทั่ง แกลบข้าวได้ด้วย โดยเป็นการใช้งานด้านการเกษตรอื่นๆ เช่น ใช้ฟางเพื่อเป็นอาหารของ วัว-ควาย เป็นเชื้อในการ เพาะเห็ด ใช้แกลบเป็นฉนวนความร้อน หรือใช้สารอินทรีย์ในแกลบเป็นเชื้อเพลิง สำหรับผลิตพลังงานในการสีข้าว เป็นต้น

เมื่อเราพิจารณาแกลบให้ชัดขึ้น โดยนำมาส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะเห็นพื้นผิวของแกลบ มีรูปร่างคล้ายข้าวโพด คือมีลักษณะเป็นเม็ดขนาดเล็กเรียงกันเป็นแนว และโครงสร้างภายใน มีความพรุนมาก เพื่อใช้เป็นทางลำเลียงน้ำและอาหารนั่นเอง

โครงสร้างนี้เกิด จากส่วนสำคัญสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นสารอินทรีย์จำพวกเซลลูโลส ลิกนิน และส่วนที่เป็นสารอนินทรีย์ ซึ่งมีซิลิกา (SiO2) เป็นองค์ประกอบหลัก ธรรมชาติได้สรรสร้างให้องค์ประกอบทั้งสองส่วนนี้ผสมกลมกลืนกันอย่างน่าพิศวง หากเรารู้จักนำสมบัติเด่นของแกลบมาใช้ เช่น ความพรุนของแกลบ หรือ ซิลิกาในแกลบที่มีขนาดเล็กจิ๋วระดับนาโนเมตร (เท่ากับหนึ่งในสิบล้านส่วนของมิลลิเมตร) เป็นต้น ก็จะเกิดประโยชน์อย่างประเมินค่ามิได้

ตัวอย่างเช่น
การนำซิลิกาและสารอินทรีย์มาใช้ประโยชน์โดยตรง เรื่องนี้โรงสีข้าวคุ้นเคยเป็นอย่างดี คือการเผาแกลบ เพื่อใช้พลังงานจากสารอินทรีย์และ ขายเถ้าแกลบให้กับอุตสาหกรรมอื่น ที่ไม่ต้องการซิลิกา ที่มีความบริสุทธิ์มากนัก แต่ถ้าเราควบคุมการเผาให้เหมาะสม ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะเป็นซิลิกาที่มีความบริสุทธิ์สูง และมีความละเอียดมาก สามารถใช้ในงานที่ทำให้มูลค่าเพิ่มสูงขึ้นมาก เช่น ใช้เป็นองค์ประกอบในยาสีฟัน ในเครื่องสำอาง ในสีทาบ้าน ในโทนเนอร์ (toner) สำหรับเครื่องพิมพ์ เป็นต้น

นอกจากน
ี้ ยังสามารถนำแกลบและเถ้าแกลบมาแปรรูปเป็นสารประกอบซิลิกอนอื่นๆ ได้อีก เช่น ซิลิกอน (Si) ซิลิกอนคาร์ไบด์ (SiC) ซิลิกอนไนไตร์ด (Si3N4) ซิลิโคน เป็นต้น

ซิลิกอน
เป็นวัตถุดิบที่มีความสำคัญมากในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ใช้เป็นแผ่นรองแผงวงจรรวม ใช้ในการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ เป็นต้น

ซิลิกอนคาร์ไบด์/ซิลิกอนไนไตร์ด
เป็นสารประกอบที่มีความแข็งเกือบเทียบเท่าเพชร ทำให้สามารถใช้งาน ได้อย่างกว้างขวาง ในอุตสาหกรรมการผลิต

ซิลิโคนและสารประกอบซิลิกอนอื่นๆ
เป็นสารที่อุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมีมีความต้องการใช้เป็นอย่างมาก

ภาพถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์แสดงพื้นผิวที่มีลักษณะคล้ายข้าวโพด

และภาคตัดขวางแสดงโครงสร้างที่มีความพรุนสูง


ประโยชน์จากการใช้แกลบยังมีอีกมาก ปัจจุบันอาจจะยังไม่มีการนำมาใช้จริงในระดับอุตสาหกรรม เนื่องจากคู่แข่ง ของการใช้ซิลิกาจากแกลบ ก็คือซิลิกาจากทราย ยังมีราคาถูกและหาได้ง่ายนั่นเอง แต่ถ้าพิจารณาถึง การแปรรูปซิลิกา ให้เป็น สารประกอบต่างๆ ที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น จะเห็นว่า ซิลิกาจากแกลบที่มีขนาดเล็กมากระดับนาโนเมตร (เมื่อเทียบกับ ทรายที่มีขนาดระดับมิลลิเมตร) ต้องการพลังงานในการแปรรูปน้อยกว่าหลายสิบหลายร้อยเท่า

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ผู้ผลิตจะเห็นว่าการใช้แกลบหรือเถ้าแกลบแทนทรายจะช่วยลดต้นทุนการผลิต ได้มาก แต่การเปลี่ยน กระบวนการผลิตก็ยังต้องการใช้การลงทุนสูงในเบื้องต้น จึงยังชะลอการลงทุนไว้ก่อน

ในอนาคตอันใกล้ ด้วยเหตุผลด้านวิกฤตพลังงาน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านคุณภาพชีวิตชาวนา หรือด้านความสามารถ ในการแข่งขัน ตลอดจนการเกิดตลาดใหม่ที่มีผลตอบแทนคุ้มค่า (niche market) อาจทำให้มีความต้องการแกลบสูงมาก จนชาวนาเปลี่ยนมาขายแกลบเป็นหลัก แล้วแถมข้าวก็เป็นได้

ที่มา http://www.mtec.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=93&Itemid=36