วันพฤหัสบดีที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552

รู้จักโบนไชนา เซรามิกผสมเถ้ากระดูก


หากจะพูดถึงผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้เซรามิกที่มีความสวยงามและดูหรูหราแล้ว หลายคนคงนึกถึงผลิตภัณฑ์เครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ของไทยเอง แต่สำหรับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวตะวันตกคงรู้จักและคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า โบนไชนา (bone china) กันมากกว่า
โบนไชนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ซึ่งจัดเป็นพอร์ซเลนชนิดหนึ่ง ผลิตภัณฑ์มีสีขาว น้ำหนักเบา มีความ (แข็ง) เหนียว (toughness) มาก นอกจากนี้โบนไชนายังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ ความโปร่งแสง (translucent) โดยหากนำมือหรือวัตถุทึบแสงไปกั้นระหว่างแหล่งกำเนิดแสงกับผลิตภัณฑ์แล้ว จะสามารถสังเกตเห็นเงาของมือหรือวัตถุปรากฏผ่านด้านหน้าผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้หากเคาะผลิตภัณฑ์จะได้ยินเสียงเคาะที่มีลักษณะกังวานใสด้วย



ลักษณะเด่นของผลิตภัณฑ์โบนไชนาคือ ความโปร่งแสง

พอร์ซเลน แบ่งออกได้ 3 ประเภทดังนี้
Hard-paste porcelain เป็นพอร์ซเลนที่ประกอบด้วยเคโอลิน (kaolin) ควอตซ์ (quartz) และแร่ฟันม้า (feldspar) และเผาที่อุณหภูมิสูงกว่า 1,350 องศาเซลเซียส

Soft-paste porcelain เป็นพอร์ซเลนที่ประกอบด้วยเคโอลิน ควอตซ์ แร่ฟันม้า หินเนฟิลีนไซอีไนต์ (nepheline syenite) กับแร่อื่น การเผาจะเผาที่อุณหภูมิต่ำกว่าฮาร์ด-เพซพอร์ซเลน โดยเผาที่อุณหภูมิประมาณ 1,100 องศาเซลเซียส

โบนไชนา เป็นพอร์ซเลนที่มีความแข็งเหนียว (toughness) มากกว่าพอร์ซเลนอีก 2 ประเภท การเผาโบนไชนาจะใช้อุณหภูมิประมาณ 1,200 - 1,300 องศาเซลเซียส ขณะที่การเผาเคลือบจะใช้อุณหภูมิต่ำกว่า 1,080 องศาเซลเซียส


ตัวอย่างจานพอร์ซเลนสมัยศตวรรษที่ 17-18 จากประเทศจีน

ไชนา : พอร์ซเลนจากประเทศจีน
เมื่อชาวยุโรปเริ่มสำรวจดินแดนใหม่ทางซีกโลกตะวันออกนั้น สิ่งหนึ่งที่พวกเขาได้ติดมือกลับไปคือ พอร์ซเลนลักษณะสวยงามซึ่งมีแหล่งกำเนิดจากประเทศจีน และทำให้คำว่า ไชนา (china) ในอีกนัยหนึ่งหมายถึงพอร์ซเลนที่มาจากประเทศจีนด้วย ซึ่งความสวยของพอร์ซเลนจากประเทศจีนนี่แหละที่ทำให้ชาวตะวันตกพยายามหาวิธี การต่างๆ เพื่อผลิตพอร์ซเลนให้สวยเหมือนพอร์ซเลนจากจีน
กระทั่งปี ค.ศ. 1748 ที่ประเทศอังกฤษ โทมัส ไฟรย์ (Thomas Frye) ก็เป็นบุคคลแรกที่ถูกบันทึกว่า เป็นผู้ริเริ่มใช้เถ้ากระดูกเป็นส่วนผสมในการผลิตพอร์ซเลน และนี่คือจุดเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์โบนไชนา โดยขณะนั้นเถ้ากระดูกถือเป็นส่วนผสมลับในการผลิตพอร์ซเลนของไฟรย์เลยที เดียว


แม้จะเป็นสูตรลับ แต่ในที่สุดก็มีผู้ลักลอบนำความลับนี้ออกไปเผยแพร่นอกโรงงานจนได้ ทำให้โจเซียส สโปด (Josiah Spode) นำความรู้ไปปรับปรุงและพัฒนาต่อจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์โบนไชนาที่สวยงามสำเร็จ ในปลายศตวรรษที่ 18 และได้รับเกียรติจากหลายฝ่ายให้เป็นผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์โบนไชนามากกว่าไฟรย์ ด้วย ปัจจุบันผลิตภัณฑ์โบนไชนามีการผลิตอย่างแพร่หลายทั่วโลก


ผงแคลเซียมฟอสเฟตจากกระดูกสัตว์

เถ้ากระดูกในโบนไชนา
โดยทั่วไปโบนไชนามีส่วนผสมหลักคือ เถ้ากระดูกประมาณร้อยละ 50 โดยน้ำหนัก และมีดินขาวเคโอลิน (kaolin) กับไชนาสโตน (china stone) อีกประมาณร้อยละ 25 (ในสหรัฐอเมริกาผลิตภัณฑ์ที่จะใช้ชื่อโบนไชนาได้ต้องมีเถ้ากระดูกเป็นองค์ ประกอบอย่างน้อยร้อยละ 25) ซึ่งปริมาณเถ้ากระดูกเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้โบนไชนามีเนื้อละเอียดสีขาว มีลักษณะโปร่งแสง และมีความแข็งมาก


เถ้ากระดูกมีองค์ประกอบหลักคือ แคลเซียมฟอสเฟต (calcium phosphate, Ca3(PO4)2) ได้จากการนำกระดูกสัตว์ต่างๆ เช่น กระดูกวัว ควาย ม้า มากำจัดเศษเนื้อ เอ็นที่ติดอยู่กับกระดูกออก และนำไปเผาที่อุณหภูมิสูงประมาณ 1,000 - 1,100 องศาเซลเซียส เมื่อเถ้ากระดูกเย็นตัวลงจึงนำมาบดให้เป็นผง

แนะนำเว็บไซต์ที่มีข้อมูลการทำโบนไชนา
http://www.ops.go.th/tcs/bonechina_htdoc/bone_china.html

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
http://www.spode.co.uk/History/history_finebone.html
http://en.wikipedia.org/wiki/Porcelain

http://en.wikipedia.org/wiki/Bone_china

http://www.figurines-sculpture.com/english-china.html

http://www.ops.go.th/tcs/bonechina_htdoc/bone_china.html

http://en.wikipedia.org/wiki/Bone_ash


ที่มา http://www.mtec.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=703&Itemid=36