ถ้าเอชไอวีสามารถแพร่จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ทางเข็มฉีดยา แล้วยุงจะเป็นพาหะแพร่เชื้อเอชไอวีเหมือนกับที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกได้ หรือไม่ เพราะยุงมีปากเป็นรูปทรงแหลมเหมือนเข็มฉีดยาและใช้ปากดูดกินเลือดคนเป็น อาหารด้วย?
โดยปกตินักวิทยาศาสตร์จะไม่ตอบคำถามแบบฟันธงลงไปร้อยเปอร์เซ็นต์ว่ายุงไม่ เป็นพาหะแพร่เชื้อเอชไอวีแน่นอน ถึงแม้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากจะบ่งชี้ว่ายุงไม่เป็นพาหะแพร่เชื้อเอ ชไอวีก็ตาม
ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างของปากยุงและธรรมชาติการดูดเลือด ของยุงเสียก่อน บริเวณปากของยุงมีรูปทรงแหลมเหมือนเข็มฉีดยา มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.02 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร จริงๆ แล้วปากของยุงประกอบไปด้วยท่อสองท่อแยกออกจากกัน ท่อแรกใช้พ่นออกและท่อที่สองใช้ดูดเข้าเท่านั้น ท่อแรกเป็นท่อที่ต่อมาจากต่อมน้ำลาย ใช้พ่นน้ำลายเข้าไปในบริเวณที่จะดูดเลือดโดยน้ำลายของยุงมีฤทธิ์ป้องกันการ แข็งตัวของเลือด ทำให้ยุงสามารถดูดเลือดได้สะดวกและเลือดไม่แข็งตัวในตัวยุง ส่วนท่อที่สองเป็นท่อที่ยุงใช้ดูดเลือดเข้าสู่ตัวยุง ยุงตัวผู้ไม่ดูดเลือดแต่จะกินน้ำหวานจากดอกไม้หรือผลไม้ ยุงตัวเมียเท่านั้นที่ดูดเลือด เมื่อดูดเลือดอิ่มแล้วก็มักจะไม่กลับมาดูดเลือดอีกทันที ยุงจะบินไปแอบในที่มืดๆ เงียบๆ หรือไปวางไข่ตามแหล่งน้ำ หากยุงถูกรบกวนในขณะที่กำลังดูดเลือด ยุงจะบินกลับมาดูดเลือดใหม่ โดยไม่พ่นเลือดที่เพิ่งดูดเข้าไปซึ่งอยู่ในท้องกลับออกมา เนื่องจากระบบท่อทั้งสองท่อทำหน้าที่ต่างกันดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีทางที่เราจะได้รับเชื้อเอชไอวีจากเลือดที่อยู่ในตัวยุง
เมื่อพิจารณาเอชไอวีที่อยู่ในเลือดที่ติดอยู่บริเวณผิวรอบปากของยุง เมื่อยุงถอนปากออกจากผิวหนังบริเวณที่ดูดเลือด ผิวด้านนอกของปากยุงจะผ่านชั้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และผิวหนังชั้นนอกของคนซึ่งเป็นชั้นที่ไม่ไวต่อการติดเชื้อเอชไอวี ทำให้เลือดที่ติดอยู่ที่ผิวด้านนอกของปากยุงถูกปาดออกไป ไม่เหลือเลือดติดอยู่หรือเหลือเลือดติดอยู่ปริมาณน้อยมากจนไม่มีไวรัสหลง เหลืออยู่ในเลือดนั้นหรือมีไวรัสหลงเหลืออยู่แต่ไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิด โรคได้ เนื่องจากไวรัสจะเริ่มสูญเสียความสามารถในการก่อโรคและมีปริมาณลดลงทันที เมื่อเลือดบริเวณปากของยุงเริ่มแห้ง
อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองป้อนเลือดที่มีเชื้อเอชไอวีให้ แมลงวันคอก (Stomoxy calcitrans) กิน หลังจากกินเลือดอิ่มหนึ่งถึงสองนาที แมลงวันคอกจะสำรอกเลือดออกมามีปริมาตรประมาณ 0.2 ไมโครลิตร (สองส่วนในสิบล้านส่วนของหนึ่งลิตร) และสามารถตรวจพบเชื้อเอชไอวีได้ในเลือดที่สำรอกออกมา ถึงแม้แมลงวันคอกจะสามารถสำรอกเลือดออกมาได้และตรวจพบเชื้อเอชไอวีในเลือด แต่โอกาสที่จะก่อให้เกิดการติดเชื้อได้นั้นน้อยมาก เนื่องจากปริมาตรเลือด 0.2 ไมโครลิตร เป็นปริมาตรที่น้อย ทำให้เลือดมีโอกาสแห้งอย่างรวดเร็วและเชื้อเอชไอวีตายได้ทั้งหมดก่อนที่แมลง วันคอกจะไปกัดคนอื่น ในกรณีที่เลือดที่สำรอกออกมายังไม่แห้งและติดอยู่ที่บริเวณปากในขณะที่ไปกัด คนอื่น เมื่อแมลงวันคอกสอดส่วนปากเข้าไปเพื่อดูดเลือด ส่วนปากจะต้องผ่านชั้นผิวหนังด้านนอกและชั้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันซึ่งไม่ไว ต่อการติดเชื้อเอชไอวี เนื้อเยื่อทั้งสองชั้นนี้จะช่วยปาดเลือดออกไปก่อนที่แมลงวันคอกจะสามารถแทง ส่วนปลายปากเข้าไปถึงหลอดเลือดได้สำเร็จ ดังนั้นกลไกนี้จึงไม่เอื้ออำนวยให้มีการถ่ายทอดเชื้อไวรัสจากผู้ติดเชื้อไป สู่คนอื่นๆ ผ่านทางยุงหรือแมลงวันคอก ไม่เพียงเฉพาะเชื้อเอชไอวีแต่ยังรวมถึงไวรัสชนิดอื่นๆ ด้วย
ถ้าอย่างนั้น ทำไมยุงเป็นพาหะนำโรคต่างๆ เช่นโรคไข้เลือดออกได้? โรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า เดงกี่ (Dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะ เมื่อยุงดูดเลือดที่มีไวรัสเดงกี่เข้าไป ไวรัสจะเข้าไปเพิ่มจำนวนในเซลล์ระบบทางเดินอาหาร ช่องท้อง หลอดลม เนื้อเยื่อบริเวณหัวและต่อมน้ำลายของยุง โดยจะพบไวรัสเดงกี่ในตัวยุงในปริมาณสูงมากตั้งแต่วันที่ 7 เป็นต้นไปหลังจากที่ยุงได้รับเชื้อไวรัส โดยปกติยุงตัวเมียจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณหนึ่งเดือนครึ่งถึงสองเดือน เมื่อยุงได้รับเชื้อไวรัสเดงกี่ เชื้อก็จะอยู่ในตัวยุงตลอดไปจนยุงตาย เมื่อยุงวางไข่ เชื้อไวรัสก็สามารถผ่านเข้าไปอยู่ในไข่ของยุงได้อีกด้วย การที่ไวรัสเดงกี่สามารถเพิ่มจำนวนในตัวยุงและสามารถมีชีวิตอยู่ในตัวยุงได้ เป็นระยะเวลานานเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยุงเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก เมื่อยุงที่ติดเชื้อเดงกี่มากัดคน ยุงจะพ่นน้ำลายเข้าไปในบริเวณที่จะดูดเลือดเพื่อป้องกันเลือดแข็งตัว ในน้ำลายของยุงนี้จะมีไวรัสเดงกี่ปริมาณมากเนื่องจากไวรัสเดงกี่สามารถแบ่ง ตัวเพิ่มจำนวนในต่อมน้ำลายของยุง ไวรัสเดงกี่จึงสามารถผ่านจากตัวยุงเข้าสู่ร่างกายผู้ที่ถูกยุงกัดได้
จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานว่าเชื้อเอชไอวีสามารถแพร่จากผู้ติดเชื้อไปยังคนอื่นได้โดย ยุง สาเหตุสำคัญที่ยุงไม่เป็นพาหะแพร่เชื้อเอชไอวีนั้นเป็นเพราะ เชื้อเอชไอวีไม่สามารถเข้าไปอาศัยและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในเซลล์ของยุง เอชไอวีจะเข้าไปในเซลล์ใดเซลล์หนึ่งเพื่อเพิ่มจำนวนได้ก็ต่อเมื่อเซลล์นั้น มีโปรตีนสองชนิดอยู่บนผิวเซลล์ โดยโปรตีนทั้งสองชนิดนี้จะต้องอยู่ใกล้กัน ซึ่งเซลล์ในลักษณะดังกล่าวนี้พบได้ในคนแต่ไม่พบในยุง จึงเป็นเหตุผลที่เชื้อเอชไอวีไม่สามารถเข้าไปเพิ่มจำนวนในเซลล์ของยุง เมื่อยุงไปกัดผู้ติดเชื้อและยุงได้รับเลือดที่มีเอชไอวีเข้าไป ยุงจะเริ่มย่อยเลือดทันทีทำให้เชื้อเอชไอวีในตัวยุงถูกกำจัดไปจนหมดอย่างรวด เร็ว จากการทดลองป้อนเลือดที่มีเอชไอวีให้ยุงกินในห้องปฏิบัติการ นักวิทยาศาสตร์ไม่พบการเพิ่มจำนวนของเชื้อเอชไอวีในอวัยวะต่างๆ ของยุง รวมทั้งต่อมน้ำลายและไม่พบเชื้อเอชไอวีในน้ำลายของยุง นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาทางระบาดวิทยาในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อเอ ชไอวีอาศัยร่วมกับผู้ที่ไม่ติดเชื้อและมียุงอยู่จำนวนมาก หากยุงเป็นพาหะแพร่เชื้อเอชไอวีได้ จำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่นั้นก็น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอัตราที่ใกล้ เคียงกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอื่นๆ ที่มียุงเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก และอัตราการติดเชื้อก็น่าจะมีความสัมพันธ์กับความรุนแรงในการระบาดของยุง แต่ในความเป็นจริงแล้วผลการศึกษาพบว่าการระบาดของยุงไม่เกี่ยวข้องกับอัตรา การติดเชื้อเอชไอวีและจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่
หากคิดเล่นๆ ต่อไปว่า ถ้ามียุงที่เพิ่งดูดเลือดที่มีเชื้อเอชไอวีมาจนเต็มท้องมาเกาะอยู่บนแผล แล้วเราใช้มือตบยุงจนเลือดในตัวยุงกระจายออกมาเปรอะบริเวณแผล จะทำให้เรามีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีได้หรือไม่ คำตอบคือ มีโอกาส แต่ต้อง มีข้อแม้หลายประการ คือยุงต้องไปกัดผู้ติดเชื้อที่มีเอชไอวีในกระแสเลือดปริมาณสูงมาก และยุงดูดเลือดจนอิ่ม มีเลือดปริมาณมากอยู่ในตัวยุง จึงจะมีปริมาณเชื้อเอชไอวีมากพอที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ และยุงจะต้องบินมาเกาะที่แผลทันทีก่อนที่เลือดในตัวยุงจะถูกย่อย ส่วนแผลนั้น ถ้าเป็นแผลที่แห้งตกสะเก็ดแล้ว จะต้องตบยุงบนแผลจนกระทั่งแผลแห้งกลายเป็นแผลสดจึงจะมีโอกาสติดเชื้อได้ หรือถ้าแผลนั้นเป็นแผลสด ก็จะต้องตบให้เลือดในตัวยุงเข้าไปโดนแผลพอดี ในความเป็นจริง แค่ใช้มือตบยุงที่เกาะอยู่บนแขนหรือขาที่ไม่มีแผลเราก็รู้สึกเจ็บแล้ว ถ้ามีแผลอยู่ คงไม่มีใครอยากใช้มือตบลงไปบนแผลโดยตรง
โดยสรุป ท่านผู้อ่านสบายใจได้ว่ายุงไม่ใช่พาหะแพร่เชื้อเอชไอวี โอกาสที่ท่านจะเจ็บป่วยและเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันจากโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่มากับยุง เช่น ไข้เลือดออกมาเลเรีย ไข้สมองอักเสบ ฯลฯ มีสูงกว่ามาก
นายสัตวแพทย์ ดร.เอกชัย เจนวิถีสุข
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
ที่มา http://www.school.net.th/schoolnet/article/read.php?article_id=172