วันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

วิธีการล้างผักผลไม้ให้ปลอดภัย

วิธีการล้างผักผลไม้ให้ปลอดภัย/ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล
ขอบคุณภาพจาก idreamofeden.com
       ในขณะที่มีการรณรงค์ให้ผู้คนรับประทานผักและผลไม้เพื่อสุขภาพ และในขณะเดียวกัน ที่มีข่าวของสารตกค้างที่มีอยู่ในผักและผลไม้ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีจากยาฆ่าแมลง เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส หรือสารโลหะหนักอื่นๆ ที่ปะปนมากับผักและผลไม้ ซึ่งสารเหล่านี้จะสามารถก่ออันตรายต่อสุขภาพมากกว่าที่จะได้รับประโยชน์เสียด้วยซ้ำไป
      
       โรคที่มากับผักและผลไม้ที่มีสารพิษปะปนอยู่มีได้ทั้งโรคชนิดเฉียบพลันและโรคเรื้อรัง อาการเฉียบพลัน เช่น อาเจียน คลื่นไส้ ปวดหัว หน้ามืด หายใจไม่ออก ปวดท้อง เป็นไข้ ชา หรือแม้แต่หมดสติไป เช่นบางคนไปกินราดหน้าที่มีผักคะน้าเป็นส่วนประกอบจะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือเรียกว่าอาหารเป็นพิษเป็นต้น ส่วนโรคเรื้อรังของการได้รับสารพิษที่มาจากผักและผลไม้ ส่วนมากจะมาจากการได้รับสารจากยากำจัดศัตรูพืช เช่น การเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร การเกิดโรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ การเจริญเติบโตผิดปกติในเด็กและการเกิดความเครียด
      
       จากข้อมูลการสำรวจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN : Thailand Pesticide Alert Network) ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อทำการสุ่มตรวจผัก 7 ชนิด ประกอบด้วย กะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ผักชี และพริกจินดา ที่ขายในตลาดสดทั่วไปและรถเร่ พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน 38.1% และผัก 3 ชนิดที่มีสารพิษตกค้างมากที่สุด คือ ผักชี ถั่วฝักยาว พริกจินดา และจากการสุ่มตัวอย่างตรวจของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่าผักสดที่สุ่มเก็บจากตลาดสดที่มีสารพิษตกค้างมากที่สุด ได้แก่ คะน้า กะหล่ำดอก และ ต้นหอม ส่วนตัวอย่างที่สุ่มเก็บจากซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีสารพิษตกค้างมากที่สุด ได้แก่ คะน้า มะเขือพวง และพริกไทย เมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่าผักเหล่านี้เป็นผักที่เราคุ้นเคยและกินอยู่เป็นประจำ ดังนั้น เราจึงเสี่ยงต่อการที่จะได้รับสารพิษตกค้างที่มีอยู่ในผักได้
      
        ดังนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการรับประทานผักให้ปลอดภัย ก่อนนำไปรับประทานหรือปรุงประกอบอาหาร ต้องล้างผักให้สะอาดเสียก่อน ในปัจจุบันมีวิธีการล้างผักอยู่หลายวิธีเพื่อลดปริมาณสารพิษที่ตกค้างมากับผักให้ลดน้อยลง แต่ละวิธีมีข้อดีและข้อจำกัดอยู่ซึ่งจะใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
      
       การใช้น้ำส้มสายชูที่มีกรดน้ำส้มความเข้มข้น 5%ของกรดน้ำส้ม ผสมน้ำในอัตราส่วน 1:10 แช่นาน 10-15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด สามารถลดปริมาณสารพิษลงร้อยละ 60-84 ข้อจำกัดคือ ผักอาจมีกลิ่นของน้ำส้มสายชูติดมา และผักบางอย่างเช่นผักกาดขาว ผักกาดเขียว อาจมีการดูดรสเปรี้ยวจากน้ำส้มสายชูทำให้รสชาติเปลี่ยนไป และภาชนะที่ใส่ผักล้างไม่ควรเป็นพลาสติก
      
       การใช้ด่างทับทิม (Potassium Permanganate) มีลักษณะเป็นเกล็ดแข็ง สีม่วง สามารถละลายได้ในน้ำ ให้สีชมพู หรือม่วงเข้ม เป็นสารประกอบประเภทเกลือ โดยใช้ปริมาณ 20-30 เกล็ด ผสมน้ำ 4 ลิตร แช่ไว้ประมาณ 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดสามารถลดสารพิษลงได้ร้อยละ 35-43 ข้อจำกัดคือการใช้ด่างทับทิมในปริมาณที่มากเกินไปจะเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร และหากสูดดมไอระเหยของด่างทับทิมเข้าไปมากก็จะทำให้ระบบทางเดินหายใจมีปัญหาได้ รวมถึงหากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้
      
       ล้างผักโดยน้ำไหลผ่าน โดยเด็ดผักเป็นใบๆ ใส่ตะแกรงโปร่งเปิดน้ำให้แรงพอประมาณ ใช้มือช่วยคลี่ใบผักและถูไปมาบนผิวใบของผักผลไม้นานประมาณ 2 นาที สามารถลดสารพิษลงได้ร้อยละ 25-63วิธีนี้เป็นวิธีที่เรียกได้ว่าดีมากวิธีหนึ่งแต่มีข้อเสียอยู่ว่าใช้เวลานานในการล้างและใช้น้ำปริมาณมาก
      
       ใช้เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดสามารถลดสารพิษลงได้ร้อยละ 27-38 วิธีการนี้ลดปริมาณได้ไม่มากและอาจมีเกลือและรสเค็มไปอยู่ในผักหรือผลไม้
      
       ใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบกกิ้งโซดา) 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำอุ่น 1 กะละมัง (20 ลิตร) แช่นาน 15 นาที แล้วนำไปล้างด้วยน้ำสะอาด ลดปริมาณสารพิษลงได้ถึงร้อยละ 90-95 ข้อจำกัดของการใช้เบกกิ้งโซดาคือมีส่วนผสมของโซเดียมอยู่และอาจดูดซึมเข้าสู่ผักหรือผลไม้ และหากล้างไม่สะอาดการได้รับเบกกิ้งโซดาในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้ท้องเสียได้
      
       วิธีการต้มหรือลวกผักด้วยน้ำร้อน ลดปริมาณสารพิษได้ ประมาณร้อยละ 50 วิธีการนี้เป็นอีกวิธีที่ดีและปลอดภัยแต่จะทำให้ผักหรือผลไม้ เสียคุณค่าทางอาหารไปกับน้ำและความร้อน เช่น วิตามินซี วิตามินบี 1 ไนอะซิน
      
       การปอกเปลือกหรือการลอกชั้นนอกของผักออก เช่น กะหล่ำปลี ถ้าลอกใบชั้นนอกออกจะปลอดภัยมากกว่า แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดจะช่วยลดปริมาณสารพิษได้ร้อยละ 27-72 
      
       วิธีการแช่ผักในน้ำยาล้างผักที่มีวางขายอยู่โดยใช้ความเข้มข้นประมาณ 0.3% ในน้ำ 4 ลิตร แช่ผักนานประมาณ 15 นาที จะลดปริมาณสารพิษฆ่าแมลงได้ร้อยละ 25-70 แต่วิธีนี้ต้องทำด้วยความระมัดระวังต้องดูให้ดีว่าน้ำยาล้างผักมีส่วนประกอบด้วยอะไรบ้าง เพราะในบางครั้งน้ำยาล้างผักจะแทรกซึมเข้าไปในผักซึ่งอาจเป็นอันตรายได้
      
       จะได้เห็นแล้วว่า แต่ละวิธีสามารถช่วยลดปริมาณของสารตกค้างที่อยู่ในผักและผลไม้ได้แต่ว่าจะเลือกวิธีไหนก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคน ปริมาณและชนิดของผัก-ผลไม้ที่ต้องการจะล้าง และเวลาที่มีอยู่ และที่สำคัญคือพยายามรับประทานผัก-ผลไม้ให้หลากหลายอย่ากินซ้ำๆกันเกินไป และเปลี่ยนร้านที่ซื้อผัก-ผลไม้บ้าง เนื่องจากหากมีพิษ หรือสารตกค้างในผักก็จะได้ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมากนัก

ที่มา http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9560000010741