วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ปฏิบัติการสู่การเป็นนักท่องเที่ยวสีเขียว


green-tourist.jpg

ปลาย ฝนต้นหนาว ย่างสิ้นปีอย่างนี้ หลาย ๆ คนคงวางแผนหาที่ชาร์จแบตร่างกาย ผ่อนคลายอารมณ์ ให้สมกับนโยบายเที่ยวไทยครึกครื้น เศรษฐกิจไทยคึกคัก แต่เกรงว่าถ้าครึกครื้นกันมากไปหน่อย สิ่งแวดล้อมอาจจะพังครืนเอาได้ วันนี้เลยนำแนวทางปฏิบัติง่าย ๆ สู่การเป็นนักท่องเที่ยวสีเขียวมาฝาก อย่าลืมว่านักท่องเที่ยวอย่างเรานี่แหละจะเป็นผู้กำหนดทิศทาง และมาตรฐานการท่องเที่ยวได้นะ

เตรียมตัว

  • จัดสัมภาระให้เบา ถ้ากระเป๋าเดินทางของนักท่องเที่ยวทุกคนบนโลกเบาลงกว่าที่เคยจัด คนละ 8 กิโลกรัม จะประหยัดน้ำมันไปได้ 1,500 ล้านลิตรต่อปีเลยทีเดียว
  • แบ่งบรรจุสบู่ แชมพู ยาสีฟันไปเอง ผลิตภัณฑ์ของโรงแรมก่อปัญหาขยะพลาสติกมหาศาลแต่ละปี ไหนจะต้องแบ่งบรรจุขวด ผ่านระบบขนส่ง ซึ่งเสียทั้งพลังงานและสร้างมลพิษ
  • ใช้การสื่อสารออนไลน์ ระบบอีทิกเก็ต ระบบจีพีเอส ไม่เพียงประหยัดกระดาษ ยังไม่หลงทาง ประหยัดน้ำมันอีกด้วย
  • ศึกษาข้อมูลเพื่อให้เตรียมตัว ปฏิบัติตัวและซื้อสินค้าได้อย่างเหมาะสม

ไฟฟ้า

  • ปรับเปลี่ยนค่านิยมที่ว่า เสียเงินไปแล้วต้องใช้ให้คุ้ม การพักโรงแรมก็สามารถประหยัดเพื่อช่วยโลกได้
  • ระลึกเสมอว่า มาตรฐานบริการที่สะดวกสบายจนเกินไป หมายถึงการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง และนำไปสู่การเร่งให้เกิดภาวะโลกร้อน
  • สนับสนุนผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญกับการลดการใช้พลังงานอย่างจริงจัง
  • การท่องเที่ยว คือการแสวงหาประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องปรับอากาศ หรือเปิดเครื่องปรับอากาศรอไว้เพื่อให้ห้องพักเย็นตลอดเวลา ดูโทรทัศน์รายการโปรดเหมือนอยู่ที่บ้าน หรือเปิดไฟทุกดวงจนสว่างจ้า
  • ใช้ถ่านแบบชาร์จซ้ำได้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ
  • ไม่ต้องส่งผ้าเช็ดตัวซักทุกวัน เพราะปกติเมื่ออยู่บ้านเราก็ไม่ได้ซักผ้าเช็ดตัวทุกครั้งที่ใช้

น้ำ

  • เตรียมกระติกน้ำ งดซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติก
  • ช่วยโรงแรมที่พักประหยัดน้ำจะสร้างหลักเกณฑ์การใช้น้ำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ไม่ใช้อ่างอาบน้ำ เพราะสิ้นเปลืองน้ำกว่าเปิดจากฝักบัวถึง 10 เท่าๆ
  • รายงานท่อรั่ว แตก ไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบทันที
  • อย่าใช้น้ำอย่างสิ้นเปลืองด้วยเหตุผลว่ามีคนจ่ายให้ หรือพักโรงแรมแล้วต้องใช้ให้คุ้ม

ระบบการขนส่ง

  • เลือกระบบขนส่งสาธารณะแบบราง เพราะเป็นระบบที่ขนส่งได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับสัดส่วนพลังงานที่ถูกใช้ไป
  • หากจำเป็นต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน ควรชดเชยคาร์บอนไดออกไซด์จากการบินด้วยวิธีคาร์บอนออฟเซ็ตติ้ง
  • ซื้อสินค้าที่ผลิตจากในท้องถิ่นนั้นจริง ๆ
  • การท่องเที่ยวคือการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และความทรงจำ ลดการช็อปปิ้งลงให้มากที่สุด เพราะยิ่งซื้อมากยิ่งเป็นการกระตุ้นกระบวนการขนส่งสินค้าให้ต้องส่งไกลยิ่ง ขึ้น
  • ทดลองอาหารจากผลผลิตพื้นบ้าน เพราะผักริมรั้วที่ถูกนำมาปรุงอาหารแทบไม่ปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เลย
  • เตรียมกระติกน้ำดื่มเก๋ ๆ เพื่อลดการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวด เพราะน้ำดื่มบรรจุขวดไม่เพียงสิ้นเปลืองขวด ยังเพิ่มขยะและสูญเสียพลังงานไปกับการขนส่งอีกมหาศาล
  • อย่าเห็นแก่จำนวน เช่น การท่องเที่ยววันเดียว 9 แห่ง สิ้นเปลืองพลังงานมากกว่าเที่ยวแห่งเดียว
  • เมื่อไม่ซื้อ ก็ไม่มีการขนส่ง

สินค้า

  • ไม่ซื้อสินค้าคุณภาพต่ำ แม้ราคาถูกแต่เสียง่าย สิ้นเปลืองพลังงานและทรัพยากร อีกทั้งยังเป็นขยะที่กำจัดยาก
  • กำหนดงบประมาณตายตัว เพื่อการซื้อของที่ระลึก ของฝากในการเดินทาง แทนการตกอยู่ในบรรยากาศของการซื้อไม่อั้น
  • โปสการ์ด อาจให้คุณค่าทางใจกว่าของฝากที่ผู้รับไม่ได้ต้องการ
  • เลือกเครื่องดื่มจากขวดแก้ว แทนกระป๋องอลูมิเนียม

เก็บกระเป๋าครั้งหน้า อย่าลืมนำทริกง่าย ๆ อย่างนี้ไปลองใช้กันนะ

ที่มา http://green.in.th/blog/lifestyle/1925