วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553

VI Effect

ปรากฏการณ์เล็ก ๆ อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ในแวดวงของ Value Investor ก็คือสิ่งที่ผมอยากจะเรียกว่า “VI Effect” นี่คือปรากฏการณ์ที่หุ้นหลาย ๆ ตัวที่กลุ่ม Value Investor “มืออาชีพ” ซื้อลงทุนและได้รับการกล่าวขวัญถึงในเว็บไซ้ต์หรือสื่อต่าง ๆ มีราคาปรับตัวขึ้นค่อนข้างเร็วและมาก

ก่อนที่จะพูดถึงเหตุผล ผมคงต้องทำความเข้าใจถึงความหมายของคำว่า “Effect” เสียก่อนว่ามันหมายถึงอะไรเวลาพูดเกี่ยวกับเรื่องของการลงทุน

คำว่า Effect นั้น หมายถึงผลกระทบ หรืออิทธิพลอันเนื่องมาจากการกระทำของคนหรือกลุ่มของนักลงทุนที่มีต่อราคา หุ้นซึ่งอาจจะไม่นับหรือยังไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของพื้นฐานของบริษัท แต่เป็นเรื่องที่การกระทำของคนหรือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ส่งผลให้มีคนทำตาม จำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นหรือลงมากกว่าที่ควรเป็น

ตัวอย่างเช่น เมื่อมีข่าวว่า วอเร็น บัฟเฟตต์ เข้าซื้อหุ้นของบริษัทปิโตรไชน่าของจีน ราคาของหุ้นปิโตรไชน่าก็พุ่งขึ้นหลายเท่าในเวลาอันสั้น อาจจะเป็นเพราะว่านักลงทุนคิดว่าถ้าบัฟเฟตต์ซื้อ ก็หมายความว่าหุ้นตัวนี้คงเป็นหุ้นที่ดีและราคาถูก ดังนั้น พวกเขาจึงรีบเข้าไปซื้อตามก่อนที่ราคาจะ “ขึ้น” ไปหรือขึ้นไปอีก นักลงทุนบางคนอาจจะไม่ได้คิดว่าหุ้นตัวนี้เป็นหุ้นที่ดีและถูกเท่าไรนัก แต่เขาคิดว่าคงมีคนที่จะเข้าไปซื้อหุ้นปิโตรไชน่าตามบัฟเฟตต์ ดังนั้นเดี๋ยวหุ้นก็จะขึ้น ดังนั้น เขาต้องเข้าไปซื้อดักหน้าไว้ก่อน กระบวนการที่คนต่างก็รีบเข้าไปซื้อหุ้นทำให้หุ้นปิโตรไชน่าขึ้นไปเองไม่ว่า พื้นฐานจะดีคุ้มกับราคาหุ้นหรือไม่ ลักษณะของการขึ้นของหุ้นในทันทีที่มีข่าวบัฟเฟตต์เข้าไปซื้อนั้นเรียกว่า เป็น “Buffett Effect” และผมคงไม่ต้องพูดต่อว่า อิทธิพลของบัฟเฟตต์ต่อราคาหุ้นนั้นมากแค่ไหน เพราะหุ้นแทบจะทุกตัวที่บัฟเฟตต์ซื้อนั้น หลังปรากฏข่าวหรือแม้แต่ข่าวลือก็มักจะ “วิ่งกระจาย”

Effect หรืออิทธิพลระดับ “โลก” นั้น แน่นอน ไม่ใช่มีแต่เฉพาะจากบัฟเฟตต์ซึ่งเป็นแนวของ Value Investor นักเก็งกำไรอย่างจอร์จ โซรอส นั้นก็มี Effect ไม่แพ้กันหรืออาจจะมากกว่า ว่ากันว่าถ้าจอร์จ โซรอส เข้าไปเล่นอะไร คนแห่ตามกันเพียบ ตัวอย่างเช่นสมัยที่มีการเก็งกำไรค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 ที่ทำให้ค่าเงินบาทล่มสลายนั้น คนที่ทำจริง ๆ คงเป็น “สาวก” ของโซรอสมากกว่าตัวเขาเอง

ในเมืองไทยนั้น Effect ก่อนหน้านี้เท่าที่เห็นก็จะมีเฉพาะที่มาจากนักเก็งกำไรหรือ “นักปั่น” หุ้นรายใหญ่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ ในสมัยก่อนนั้น พอมีข่าวว่า เซียนหรือรายใหญ่กำลังเข้ามาเล่นหุ้นตัวไหน หุ้นตัวนั้นก็ “วิ่งกันกระจาย” เพราะคนเชื่อว่าต้องรีบซื้อก่อนที่มันจะวิ่ง พอคนจำนวนมากคิดแบบนั้น หุ้นก็ต้องขึ้นทั้ง ๆ ที่พื้นฐานบริษัทอาจจะแย่มาก อย่างไรก็ตาม Effect เนื่องจากขาใหญ่นั้น ในระยะหลังก็เริ่ม “เลือนลาง” ไปเนื่องจากคนที่ “ซื้อตาม” นั้นจำนวนมาก “หนีไม่ทัน” และมักจะขาดทุน จึงเลิกเชื่อถือ ผลก็คือ Effect เหล่านั้นก็หมดไปพร้อม ๆ กับความนิยมในการเล่นหุ้นเก็งกำไรที่ไม่มีพื้นฐาน และนั่นคงเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนแบบ Value Investment ที่เริ่มแพร่หลายและได้รับการยอมรับมากขึ้น

กลุ่ม Value Investor ที่ได้เริ่มเข้ามาลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในตลาดหุ้นตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤติปี 2540 นั้น มาถึงปัจจุบันผมอยากจะพูดว่าเติบโตขึ้นมากแบบก้าวกระโดดและน่าจะกลายเป็น กลุ่มที่มีพลังและอิทธิพลมากพอสมควรและกำลังสร้างปรากฏการณ์ที่เรียกว่า VI Effect โดยมีเหตุผลต่อไปนี้

ข้อแรกก็คือ “พลังเงิน” ถึงแม้ว่าเม็ดเงินที่มีในตลาดหุ้นของ VI จะยังน้อยกว่านักลงทุนต่างประเทศหรือนักลงทุนสถาบัน แต่ก็มีนัยสำคัญในตลาด มองคร่าว ๆ ผมคิดว่าเม็ดเงินรวมของกลุ่ม VI นั้นน่าจะอยู่ในหลัก “หลายหมื่นล้านบาท” ซึ่งเพียงพอที่จะ “ขับเคลื่อนราคาหุ้น” ของบริษัทขนาดเล็กหรือกลางบางบริษัทได้ไม่ยาก

ข้อสอง ผลงานและความรอบรู้ในตัวกิจการของ VI ระดับ “เซียน” นั้น สามารถสร้างความประทับใจและน่าเชื่อถือกับนักลงทุนอื่น ๆ โดยเฉพาะที่เป็น VI ด้วยกัน ดังนั้น เวลาที่ VI ระดับเซียนซื้อหุ้น จึงมักมีคนซื้อตามกันมาก พลังเงินจำนวนมากบวกกับตัวหุ้นที่มักจะเป็นบริษัทเล็กและมีหุ้นกระจายอยู่ใน ตลาดน้อย ทำให้หุ้นตัวดังกล่าววิ่งแรงมาก และนี่ก็ยิ่งดึงดูดให้นักลงทุนรายใหม่เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นไปอีก Effect ก็เกิดขึ้น

ข้อสามก็คือ พลังของการสื่อสาร นี่คือวิวัฒนาการของการลงทุนที่ไม่มีในสมัยก่อน ในยุคปัจจุบันนั้น การสื่อสารกว้างขวาง รวดเร็ว แพร่หลาย และถูกมาก นักลงทุนส่วนบุคคลสามารถส่งข้อมูลถึงคนอื่นผ่านสื่อต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองและทันทีและสามารถผ่านถึงผู้รับทางโทรศัพท์มือถือได้ สื่อทางสังคมเช่น เฟซบุค ทวิตเตอร์ หรือบล็อกส่วนตัวทำให้การตอบสนองของนักลงทุนนั้นรวดเร็วและรุนแรง

ข้อสี่ พลังของความคิดและความเชื่อที่คล้ายคลึงกันของ VI นี่เป็นเรื่องที่ทำให้เกิด Effect ง่ายขึ้นเข้าทำนอง “สามัคคีคือพลัง” VI จำนวนมากอ่านหรือรับรู้ข้อมูลผ่านเวบไซ้ต์เดียวกัน ไปสัมนาที่เดียวกัน ไปชุมนุมจัดเลี้ยงในกลุ่มเดียวกัน หรืออ่านหนังสือเล่มเดียวกัน ดังนั้น เวลาได้รับรู้การซื้อขายหุ้นของ “ผู้นำ” หรือ “เซียน VI” และไปศึกษาเพิ่มเติม การตัดสินใจหรือปฏิบัติจึงออกมาในแนวเดียวกัน

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงเหตุผลบางส่วนที่ทำให้เริ่มเกิด VI Effect ในตลาดหุ้นไทย ในระยะสั้น VI Effect ยังน่าจะมีต่อเนื่องไปซึ่งน่าจะเป็นผลจาก “Success beget Success” หรือความสำเร็จก่อให้เกิดความสำเร็จตามมา อย่างไรก็ตาม ในที่สุด “อิทธิพล” จะยังคงอยู่ได้หรือไม่อยู่ที่ว่าในระยะยาวแล้ว หุ้นที่เกิดจาก Effect ยังมีราคายืนอยู่และเติบโตขึ้นไปได้หรือไม่ ถ้าปรากฏว่าหุ้นขึ้นไปโดยเกิดจากผลกระทบระยะสั้น แต่หลังจากนั้นหุ้นกลับตกลงมาเนื่องผลประกอบการบริษัทไม่เป็นอย่างที่คิด สุดท้ายความเชื่อถือก็จะหมดไป และ Effect ต่าง ๆ จะหมดไป ในอีกด้านหนึ่ง คนที่ซื้อหุ้นตามก็ต้องระวังว่า การซื้อตามนั้น ไม่ใช่หลักการของ VI ที่เน้นว่าเราต้อง “คิดเอง” และถ้าเราคิดแล้วมีคนตาม นั่นก็แปลว่า ฝีมือเราอาจจะก้าวขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งและเราน่าจะประสบความสำเร็จสูงขึ้น

ที่มา http://www.thaivi.com/2010/06/527/