วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2556

เพวเทีย (Peltier) คืออะไร?




           เพวเทีย (Peltier) คืออะไร? ..... เพวเทีย คูลเลอร์ (Peltier Cooler) เป็นระบบการระบายความร้อนโดยการใช้ Peltier Element ซึ่งขอใช้นิยามศัพท์คำว่า"Heat Pump" ก็ละกัน เจ้าเพวเทียนี้จะทำหน้าที่ปั๊มความร้อนจากด้านหนึ่งไปสู่อีกด้านหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว นั่นหมายความว่า เพวเทีย จะมีด้านหนึ่งที่เย็น (ด้านที่ถูกปั๊มความร้อนออกไปอีกด้าน) และอีกด้านหนึ่งที่ร้อน (ด้านที่ถูกปั๊มความร้อนออกมา) ฟังดูงงๆ มั้ยครับ การทำงานของ เพวเทียนี้ อาศัยกระแสไฟฟ้าค่อนข้างมาก การปั๊มความร้อนจึงได้ผลที่ไม่ค่อยจะงดงามมากนัก คือ ด้านร้อน อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น มากกว่าอุณหภูมิของด้านเย็นที่ลดลงไป อันเนื่องมาจากการใช้ปริมาณกระแสไฟฟ้าอันมหาศาลเกินตัวของมันนั่นเอง แต่... มันก็ไม่ได้ฟังดูแย่อย่างที่คิดหรอกครับ เนื่องจาก เพวเทีย นั้นมีประสิทธิภาพเพียงพอในการที่จะทำให้ด้านเย็น อุณหภูมิติดลบได้ง่ายๆ เลย และก็เหมาะแก่การนำมาใช้ในวงการโอเวอร์คล๊อกแบบบ้าระห่ำ ไม่เหมาะแก่การเอาไปใช้งานจริงซักเท่าไหร่ (เว้นแต่ติดตั้งได้ดีจริงๆ) โดยปกติแล้ว เพวเทีย จะมีความสามารถในการปั๊มความร้อนให้ทั้ง 2 ด้านมีอุณหภูมิแตกต่างกันประมาณ 50-70 องศาเซลเซียส หรือในเพวเทียคุณภาพสูงๆ อาจทำให้ต่างได้ถึง 120 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว..
อันตรายและข้อควรระวังในการใช้เพวเทีย
           เนื่องจากเพวเทียมีประสิทธิภาพสูงในการที่จะทำให้อุณหภูมิลดลงและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีการกินกระแสไฟฟ้ามาก แน่นอนว่าต้องมีความอันตรายตามมา ดังนั้น ผู้ที่คิดจะใช้เพวเทีย จึงควรศึกษาให้เข้าใจถึงหลักการทำงาน, วิธีการป้องกันอันตราย และข้อปฏิบัติต่างๆ ให้ดีเสียก่อน ผมขอสรุปปัญหา และข้อควรระวังต่างๆ จากเพวเทีย ไว้ดังนี้



           - ด้านร้อนอุณหภูมิสูงเกินพิกัด (Overheating) ความจริงแล้ว เพวเทียเป็นเพียงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แผ่นบางๆ แผ่นหนึ่งเท่านั้น การจัดการของแต่ละคนกับเจ้าแผ่นบางๆ นี้ก็ไม่เหมือนกัน บางคนอาจใช้ heatsink และพัดลมประสิทธิภาพสูงประกบเข้ากับด้านร้อนของเพวเทีย บางคนอาจใช้ระบบระบายความร้อนด้วยน้ำมาประกบ ซึ่งบอกไว้ได้เลยว่า ความร้อนที่เกิดขึ้นจากด้านร้อนของเพวเทียนั้น จะมีความร้อนที่สูงกว่าความร้อนที่ซีพียูปล่อยออกมาอย่างแน่นอน (เพราะมันคือความร้อนที่ซีพียูปล่อยออกมา บวกกับ ความร้อนที่เกิดขึ้นจากเพวเทียเอง) ในกรณีแรก ถ้าใช้ heatsink กับพัดลม สิ่งที่ต้องระวังให้มากที่สุด คือ พัดลม ที่ต้องทำงานอย่างแน่นอน ไม่ดับหรือรอบตก การพลาดแม้แต่นิดเดียวอาจะทำให้คุณสูญเสียซีพียูไปได้โดยง่าย อย่าหวังว่าเมนบอร์ดจะตัดการทำงานให้อย่างเดียวนะครับ มีคนพลาดกับเพวเทียนี้ไปเยอะแล้ว ทั้งปัญหาการระบายความร้อนในด้านร้อนไม่ดีพอ, เมนบอร์ดไม่ตัดการทำงานเมื่อซีพียูร้อนเกินไป และ เพวเทียเผาซีพียู ก็มีมาแล้ว ดังนั้น ต้องระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษครับ อีกกรณีหนึ่งคือ การใช้น้ำหรือ water cooler ในการระบายความร้อนที่ด้านร้อน ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลมากวิธีหนึ่ง ก็ให้ระมัดระวังเรื่องของการรั่วซึมต่างๆ และการทำงานของปั๊มน้ำให้ดีครับ
           - การควบแน่นของน้ำ ปัญหานี้โลกแตกพอสมควรเลยครับสำหรับ Peltier Element จะเกิดขึ้นในช่วงแรกของการเปิดเครื่อง ซักนาทีหรือสองนาทีแรก ที่ซีพียูยังไม่ร้อนเท่าไหร่ แต่เพวเทียทำให้มันเย็นลงไปกว่าอุณหภูมิห้องมากๆ สิ่งที่ตามมาอย่างไม่ต้องสงสัยเลย คือ ไอน้ำ ที่เกิดจากการควบแน่น (การเปลี่ยนสถานะจาก อากาศ เป็น ของเหลว) หุหุ แอบเอาความรู้วิทยาศาสตร์สมัยประถมมานิดนึง แต่ไอ้เจ้าไอน้ำที่เกิดขึ้นเนี่ย เราอาจมองไม่เห็นเนื่องจากมันจะเกิดขึ้นที่ตัวซีพียู, socket บนเมนบอร์ด และใต้ socket เมนบอร์ด (อันนี้พูดถึงกรณีที่ติดตั้งเพวเทียเป็นอย่างดีแล้วนะครับ) แต่ไม่ต้องวิตกมากสำหรับการเกิดขึ้นของไอน้ำนี้ เนื่องจากไอน้ำที่เกิดจากการควบแน่นนั้น มีประจุไฟฟ้าเกือบจะเป็นศูนย์ โอกาสที่จะเกิดการลัดวงจรจึงต่ำมาก เพียงแค่เราติดตั้งให้ดี อย่าให้ปริมาณไอน้ำมากจนเกินไป นั่นคือการติดตั้งพยายามอย่าให้เกิดช่องว่างของอากาศมาก งานนี้ความสำคัญส่วนหนึ่งอยู่ที่ซิลิโคนด้วยครับ
           - ปัญหาทางด้านไฟฟ้า บอกไปแล้วว่าเพวเทียนั้นกินกระแสไฟฟ้าค่อนข้างมาก ตัวที่วางขายกันโดยทั่วไป ส่วนมากจะเป็นขนาด 70-90 W ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงมากหากเทียบกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ตัวอื่นๆ งานนี้ความสำคัญตกไปอยู่ที่ Power Supply Unit ของเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วครับ ยิ่งในระบบปัจจุบัน เครื่องคอมพิวเตอร์ก็กินกระแสไฟฟ้ามากอยู่แล้ว ถ้าไปเจอเพวเทีย 80 W พ่วงไปอีกตัวก็ไม่ไหวแน่นอน ต้องไปหา Power Supply วัตต์สูงๆ มาใช้ เช่นพวก 430 W ขึ้นไป หรือจะใช้เทคนิคการต่อ Power Supply 2 ตัวเข้าด้วยกันก็ได้ และสายไฟขิงเพวเทียที่เสียบกับ Power Supply ไม่ควรที่จะเป็นเส้นเดียวกับที่เสียบกับ harddisk หรือ drive ต่างๆ เนื่องจาก harddisk เป็นอุปกรณ์อีกตัวหนึ่งที่มีการแกว่งของการใช้ไฟพอสมควร โดยเฉพาะในช่วงของการหมุนรอบมอเตอร์ขึ้น (ช่วง boot เครื่อง) หากไปทำให้การจ่ายไฟของ harddisk ติดขัด อาจทำให้ harddisk มีปัญหาได้ง่ายครับ อันนี้ก็ต้องระมัดระวังกันไว้ด้วย


เพวเทียมีอายุการใช้งานนานเท่าไหร่?
           ตอบยากครับ ... ยากพอๆ กับถามว่า โทรทัศน์มีอายุการใช้งานนานเท่าไหร่? ... หากเรามองว่า เพวเทียเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตัวหนึ่ง ก็ไม่แปลกครับ ที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะมีอายุยืนยาวนานหลายปี คนที่ใช้เพวเทียระบายความร้อนให้กับซีพียูบางคนก็ใช้มานานนับปีแล้วเหมือนกัน โอกาสที่มันจะพังนั้น ขึ้นอยู่กับการใช้งานที่ถูกต้อง ติดตั้งและดูแลระบบระบายความร้อนให้มันเป็นอย่างดี เท่านั้นเองครับ
ปัจจุบันเพวเทียมีบทบาทต่อวงการคอมพิวเตอร์อย่างไร?
           เพวเทีย เป็นเพียงอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์แผ่นบางๆ (ประมาณ 4-6 มม.) เท่านั้น ในที่นี้ของพูดถึงเฉพาะการนำไปใช้ในการระบายความร้อนให้กับซีพียูเท่านั้นนะครับ ซึ่งต้องนำไปประกบกับอุปกรณ์ระบายความร้อนอีกครั้งหนึ่งอย่างที่บอกไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น heatsink+พัดลม หรือจะเป็นระบบระบายความร้อนด้วยน้ำก็สุดแล้วแต่ ... โดยเราสามารถเลือกใช้เพวเทียได้ 2 ทางคือ ไปซื้อเฉพาะเพวเทียมาติดตั้งกับ heatsink เอง หรือจะซื้อเป็นแบบสำเร็จรูปก็ได้ แบบสำเร็จรูปที่ว่าก็คือมียี่ห้อนั่นแหละครับ ผู้ผลิตระบบระบายความร้อนชื่อดังหลายรายนั้น มี product ที่เป็น Peltier Element ขายด้วย นั่นคือทางบริษัทเหล่านี้จะประกบ heatsink มาให้เสร็จสรรพ หรืออาจขายเป็นชุดพร้อมกับชุด water cooler ไปด้วยนั่นเอง ... แต่ ในบ้านเรายังหาซื้ออุปกรณ์เหล่านี้ได้ยากยิ่งนัก จะมีก็เพียงแผ่นเพวเทีย แล้วเราก็ต้องมาติดตั้งกันเอง โดยมีขั้นตอนความยุ่งยากอยู่พอสมควรครับ ปัจจุบัน เพวเทีย ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเป็น TEC หรือ Thermo-Electric Cooler ซึ่งชื่อนี้ก็ได้มาจากการใช้ไฟฟ้าเข้ามาช่วยในการระบายความร้อนนั่นแหละครับ ตัวอย่างของ Peltier Cooler หรือ TEC ที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือผลิตภัณฑ์จาก Thermaltake ผู้ผลิตฮีตซิงค์ชื่อดังของโลก ที่มาในชื่อของ Thermaltake SubZero4G เป็นการผสมผสานระหว่างการใช้เพวเทียและฮีตซิงค์ โดยมีการ์ดคอนโทรลเลอร์ไว้ควบคุมการจ่ายไฟให้เพวเทีย เพื่อรักษาระดับอุณหภูมิไม่ให้ลงไปต่ำเกินไปจนเกิดไอน้ำ และในขณะเดียวกันก็ควบคุมไม่ให้อุณหภูมิของซีพียูสูงเกินไปด้วย... เป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของ Thermaltake ที่สามารถใช้เพวเทียมาประยุกต์ใช้งานได้อย่างไม่เป็นอันตรายใดๆ ... พูดมาถึงตรงนี้ ชักอยากจะรู้จักกับ Thermaltake SubZero4G ขึ้นมามั่งมั้ยครับ.... ไม่ต้องสงสัยเลยครับ ผมเอามาให้ชมกันแน่นอน สำหรับ SubZero4G แต่อดใจรอชมในตอนหน้านะครับ วันนี้ก็พูดถึงเพวเทียมาจนคิดว่าน่าจะเห็นภาพกันบ้างแล้ว พร้อมกับเอา SubZero4G มายั่วน้ำลายกันไปพลางๆ ใครมีข้อสงสัยอะไรเกี่ยวกับเพวเทีย หรือ เรื่องอื่นๆ ก็ติดต่อได้ทาง E-Mail โดยคลิ๊กที่ชื่อผมด้านล่างได้นะครับ วันนี้ก็ลากันก่อน สวัสดีครับ..



ที่มา
http://www.overclockzone.com/spin9/peltier/index.html
http://www.peltier-info.com