แร่ ใยหิน (Asbestos) เป็นชื่อทั่วไปที่ใช้สำหรับเส้นใยแร่ซิลิเกต (Fibrous mineral silicates) ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีลักษณะเป็นเส้นใยอยู่รวมกันเป็นมัด (Bundle) แร่ใยหินแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ แอมฟิโบลและเซอร์เพนไทน์ ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็น 6 ชนิด
แร่ใยหินมีคุณสมบัติพิเศษคือ มีความเหนียว ทนทานต่อแรงดึงได้สูง ทนความร้อนได้ดี และมีความทนทานต่อกรด ด่าง และสารเคมีหลายชนิดได้ดี แร่ใยหินถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความแข็งแกร่ง ทนกรด ด่าง ความร้อน เช่น กระเบื้องกันความร้อน กระเบื้องมุงหลังคา ภาชนะพลาสติกบรรจุแบตเตอรี่รถยนต์ เป็นต้น
แร่ใยหินแม้จะมีคุณสมบัติที่เอื้อให้เกิดประโยชน์หลายประการ แต่หากแร่นี้เข้าไปอยู่ในปอดมันสามารถก่อให้เกิดโรคที่ร้ายแรงในมนุษย์ได้ อันตรายต่อสุขภาพมนุษย์นี้เป็นที่ทราบกันมานาน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 แล้ว โรคที่มีสาเหตุมาจากแร่ใยหิน ได้แก่ แอสเบสโตสิส (Asbestosis) มะเร็งปอด และเมโสเธลิโอมา (Mesothelioma) แม้จะเป็นที่ทราบดีเกี่ยวกับอันตรายของแร่ใยหิน และมีความพยายามที่จะควบคุมหรือหลีกเลี่ยงไม่ใช้แร่นี้ เช่น ประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศได้พยายามลดการใช้และห้ามนำเข้าแร่ใยหิน ตลอดจนค้นคว้าหาสารอื่นเพื่อใช้ทดแทน อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังคงมีการผลิตและการใช้แร่ใยหินอยู่โดยเฉพาะประเทศ ไทยเป็นประเทศหนึ่งทีมีการนำเข้าแร่ใยหินเป็นจำนวนมาก
แหล่งที่มีการสัมผัส
แร่ใยหินเป็นแร่ธรรมชาติมีอยู่ทั่วไปในพื้นดิน ในบางพื้นที่อาจมีแร่ใยหินอยู่ปริมาณมากมายจนสามารถทำเหมืองได้ ฉะนั้น ในกิจกรรมบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับการขุดเจาะดิน เช่น การทำเหมืองทองแดง ตะกั่ว เหล็ก หรือนิกเกิล จึงอาจมีแร่ใยหินฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศได้ ด้วยเหตุนี้การสัมผัสแร่ใยหินจึงเกิดขึ้นได้ ทั้งในสิ่งแวดล้อมทั่วไปและสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่มีการใช้แร่ชนิดนี้ใน กระบวนการผลิต
อุตสาหกรรมที่นำแร่ใยหินมาใช้เป็นวัตถุดิบมากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องซีเมนต์ อุตสาหกรรมผลิตเบรคและคลัทช์ อุตสาหกรรมผลิตท่อน้ำ
ผลกระทบต่อสุขภาพ การเข้าสู่ร่างกาย การสะสม และการกำจัด ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้แร่ใยหินก่อให้เกิดโรคมี 3 ประการ คือ
1 ปริมาณแร่ใยหินที่เข้าสู่ปอด
2 ขนาดของเส้นใย (เส้นใยต้องมีความยาวมากกว่า 5 ไมครอน และมีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 3 ไมครอน โดยมีอัตราส่วน ความยาว: ความกว้าง>=3:1)
3 ความคงทนของเส้นใยเมื่ออยู่ในปอด
เพราะฉะนั้นเส้นใยที่ยาว บาง และทนทานจึงเป็นเส้นใยที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่สุด อย่างไรก็ตาม เส้นใยที่มีขนาดใหญ่ คือ ยาวกว่า 200 ไมครอน และเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 3 ไมครอน ส่วนมากจะไม่สามารถเข้าสู่ถุงลมปอดได้ มักจะสะสมอยู่ในทางเดินหายใจส่วนบน และถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยขับออกมากับเมือกเป็นเสมหะ ในขณะที่เส้นใยที่มีขนาดเล็กกว่าคือ ยาวน้อยกว่า 5 ไมครอน และเส้นผ่านศูนย์กลางต่ำกว่า 2 ไมครอน ส่วนใหญ่ถูกกำจัดโดย Alveolar macrophages
จากการศึกษาวิจัย ทั้งในสัตว์ทดลองและในมนุษย์ International Agency for Research on Cancer ได้ระบุว่า แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ (Class 1)
โรคเนื่องจากแร่ใยหิน
แร่ใยหินเข้าสู่ร่างกายทางจมูกโดยการหายใจเข้าไป อวัยวะเป้าหมายสำคัญคือ ปอด ผลจากการศึกษาทางระบาดวิทยา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน ทำให้เชื่อได้ว่า แร่ใยหินทุกชนิดมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค แอสเบสโตสิส มะเร็งปอด และมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและเยื่อบุช่องท้อง (Mesothelioma) แอสเบสโตสิส (Asbestosis) เป็นโรคปอดเรื้อรังที่เกิดเฉพาะกับผู้ที่สัมผัสกับแร่ใยหินเท่านั้น เนื่องจากปฏิกิริยาทางชีวภาพระหว่างเส้นใย แร่ใยหินและเนื้อเยื่อปอด ทำให้ปอดเกิดเป็นแผลเป็น ปอดที่ถูกทำลายไปแล้วไม่สามารถรักษาให้กลับคืนมาดีได้ดังเดิม
ภาพจาก http://www.insurance-death.co.cc/2010/06/what-is-mesothelioma.html
ระยะเวลาในการฟักตัวของโรคนี้ยาวนานถึง 15-35 ปี การวินิจฉัยโรคทำได้โดยการดูประวัติการทำงาน ว่าเคยสัมผัสกับแร่ใยหินหรือไม่ อาการทางคลินิก ภาพถ่ายรังสีปอดและการตรวจสมรรถภาพปอด การวินิจฉัยโรคสำหรับผู้ป่วยระยะแรก ตรวจพบโรคค่อนข้างยาก โดยเฉพาะผู้ทีสัมผัสแร่ใยหินแล้วน้อยกว่า 20 ปี จึงมักพบผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวต่อเมื่อมีอาการรุนแรงแล้ว อาการแสดงเริ่มแรกของโรคนี้ มีลักษณะคือ ไอ และหายใจหอบมีช่วงการหายใจออกสั้น และจากการตรวจร่างกายอาจสังเกตเห็นริมฝีปากและลิ้นหรือเล็บเป็นสีน้ำเงิน คล้ำและมีเสียงกรอบแกรบที่ฐานของปอด จากภาพถ่ายรังสีปอดจะเห็นจุดทึบเล็กๆ และมีสมรรถภาพการทำงานของปอดต่ำ ผู้ป่วยมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะพัฒนากลายเป็นมะเร็งปอด
มะเร็งปอดเนื่องจากแร่ใยหิน
ความสัมพันธ์ระหว่างมะเร็งปอดและการสัมผัสแร่ใยหิน เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนเนื่องจากมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง จากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า การสัมผัสแร่ใยหินที่ความเข้มข้นต่ำ (Accumulative Dose=10-50 ล้านเส้นใยต่อ ลบ.ฟุตต่อปี) ไม่พบความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด
นอกจากนี้การเกิดมะเร็งปอดยังสัมพันธ์กับขนาดเส้นใย เส้นใยที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-2.5 ไมครอนและมีความยาว 10-80 ไมครอน จะมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง ในขณะที่เส้นใยที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 0.2 ไมครอน และมีความยาว 5-10 ไมครอน ไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง ผลการศึกษาทางระบาดวิทยา ยืนยันว่าการสูบบุหรี่เพิ่มอัตราการตายเนื่องจากโรคแอสเบสโตสิส และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด ในคนที่สัมผัสแร่ใยหิน โดยการสูบบุหรี่และการสัมผัสแร่ใยหินมีความสัมพันธ์กันในลักษณะเสริมกัน (Synergistic Effect)
เมโสเธลิโอมา (Mesothelioma) คือ มะเร็งเยื่อหุ้มปอดและเยื่อบุช่องท้อง เป็นมะเร็งที่พบน้อยมากในประชาชนทั่วไป ส่วนมากจะพบในคนที่สัมผัสแร่ใยหิน ผู้ป่วยมีอาการหายใจสั้น เจ็บช่องอก และอาการเจ็บช่องอกนี้จะรุนแรงมากหากหายใจลึกๆ โรคลุกลามเร็ว และสามารถทำให้เสียชีวิตภายในเวลา 2-3 ปี หลังจากที่มีอาการปรากฏ
********************************
ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, Faculty of Medicine Siriraj Hospital
www.si.mahidol.ac.th