วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2554

ความแตกต่างระหว่างธรรมยุตกับมหานิกาย

' ธรรมยุติกับมหานิกาย เหมือนต่างกันอย่างไร ? '
คำถามนี้ยาก เพราะมันมีหลายระดับครับ ถ้าตอบแบบธรรมดาก็

1. สีจีวรต่างกัน มหานิกายจะห่มสีส้มทอง แต่ธรรมยุติจะห่มสีเข้ม ที่เรียกว่า สีแก่นขนุน แต่เดี๋ยวนี้ แยกออกมาอีกหลากหลาย มีทั้งแก่นทอง แก่นกรัก แก่นแดงพระป่า ฯลฯ แต่ความต่างอันนี้ก็ไม่จำเป็น อีกแล้วครับ เพราะอย่างสายหลวงพ่อชา พระอาจารย์สุรศักดิ์ เองก็เป็นมหานิกาย ที่ห่มจีวรสีธรรมยุติ อีกประการหนึ่งที่ทำให้สังเกตุยากในพิธีหลวง คือ สงฆ์สองนิกาย จะใช้จีวรสีพระราชนิยม (ที่เรียกบิดเบือนไปว่า สีพระราชทาน) เป็นสีกลางระหว่างสองนิกายครับ เพื่อความเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันเมื่อประชุมพร้อมกัน และไม่ทำให้เกิดความแตกแยกด้วยครับ
เกร็ด : เล่า ว่าสายพระป่าใช้สีจีวรออกแดง เพราะหลวงปู่มั่นท่านสงสัยว่าในสมัยพุทธกาล พระครองจีวรสีอะไรกัน และสีนี้ก็ปรากฏในสมาธิของท่าน จึงใช้ต่อๆกันมาเป็นอาจาริยวาสครับ
ประสบการณ์ : ขณะ ที่บวชอยู่ทราบว่าพระป่าท่านจะไม่ค่อยซักจีวรกัน เพราะใช้ด้วยความระมัดระวัง และด้วยข้อจำกัดของการอยู่ป่า ท่านจึงมักครองซักระยะ แล้วใช้ต้มจีวร พร้อมแก่นขนุน หรือสีสังเคราะห์ครับ สีย้อมจีวรนี่คนนึกไม่ถึงกัน จึงไม่ค่อยได้ถวาย ขอแนะนำสีตรากิเลนครับ เพราะจะติดดี ใช้อัตราส่วน สีเหลืองทอง 2 กระป๋อง ต่อสีกรัก(สีอัลโกโซน) 1 กระป๋อง และบวกด้วยสีแดงนิดหน่อย ต่อจีวรหนึ่งผืนครับ ใครอยากถวายของหาได้ยาก งานนี้ได้เลย โมทนาด้วยครับ

2. ครองจีวรต่างกัน มหานิกายมักจะห่มดอง โดยสังเกตุได้ว่าจะพันผ้ารัดอกทับสังฆาฏิ และมือสองข้างเป็นอิสระ โดยเฉพาะในงานพิธีการ นอกจากนั้น ก็ จะมีการห่มมังกร โดยหมุนผ้าลูกบวบทางขวาเวลาออกนอกวัด ส่วนเมือถึงเวลาทำสังฆกรรมจะคาดผ้าที่หน้าอก และมีผ้าสังฆาฏิพาดที่ไหล่ซ้าย แต่เหลือน้อยวัดแล้ว เช่นที่วัดสะเกศ เป็นต้น ส่วนธรรมยุติ จะห่มลูกบวบ โดยม้วนๆๆ ใส่ไว้ใต้รักแร้ข้างซ้าย เวลางานพิธีก็เพียงพันผ้ารัดอกทับไปเลย บางทีเรียกกันลำลองว่าห่มดองธรรมยุติ แต่เดี๋ยวนี้ความต่างน้อยลงเพราะ มีพระบัญชาของสมเด็จพระมหาสมณะเจ้ากรมพระวชิรญาณวโรรส ให้พระภิกษุทั่วสังฆมณฑลห่มผ้าตามแบบของธรรมยุติกนิกายทั้งหมด อีก ประการที่เหมือนกันคือ พระไทยจะห่มคลุมไหล่ทั้งสองข้างเมื่ออยู่นอกวัด และลดไหล่ซ้ายยามอยู่ในวัด ซึ่งแตกต่างจากของพม่าที่ทำตรงข้ามกัน

3. ปัจจัย อย่างที่ทราบกันว่า พระธรรมยุตินั้นจะไม่จับปัจจัย แต่สามารถรับใบโมทนาบัตรได้ ส่วนพระมหานิกายนั้น ไม่ถือในข้อนี้ ในหนังสือบูรพาจารย์เล่าว่า หลวงปู่มั่น เคยออกปากไล่พระอาคันตุกะ เพราะนำอสรพิษติดตัวมาด้วย ตอนแรกพระท่านก็งง แต่นึกออกภายหลังว่านำเงินติดใส่ย่ามมาด้วย ดร. สนอง วรอุไร ท่านสรุปว่าสองนิกายรับเงินได้ เพียงแต่มีวิธีคนและแบบเท่านั้นครับ แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นนะครับ พระบางรูปท่านถือเรื่องเงินว่า เป็นเรื่องที่ท่านจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเลย อย่าง ที่วัดมเหยงคณ์มีพระอาจารย์ที่ผมและทิดทั้งหลายนับถือมากท่านหนึ่ง ท่านไม่รับถวายปัจจัย ไม่ว่าในรูปแบบใดและข้าวของใดๆทั้งสิ้น นอกจากจำเป็นจริงๆ ท่านเป็นมหาเปรียญ ๗ ประโยค ผู้แตกฉานในพระไตรปิฏก แต่เร่งความเพียรในการภาวนา และอยู่อย่างเรียบง่ายยิ่งนัก เป็นพระสุปฏิปัณโณที่แท้จริง และสอนจริงทั้งทฤษฏี และ ปฏิบัติ แต่จะหาตัวยาก เพราะท่านมักออกธุดงค์ไปตามที่ต่างๆโดยเดินไป และไม่อาจติดต่อได้ ขอออกนามท่าน 'พระอาจารย์มหาสุชาติ สุชาโต' ด้วยความเคารพเหนือเกล้า (จิตตอนนี้นึกถึงพระมหากัสปะผู้เป็นเลิศในธุดงควัตร) แต่ การจับปัจจัย รับปัจจัยหรือไม่ ไม่อาจบ่งชี้ว่าท่านใดบริสุทธิ์หรือไม่นะครับ เพราะเป็นเพียงการแสดงออกของกายบัญญัติ มิใช่เจตนาปรมัตถ์ เช่นที่หลวงปู่แหวนเอาแบ๊งค์ห้าร้อยมามวนบุหรี่สูบ พระธรรมยุติสายป่าเองก็ปรับท่านอาบัติมิได้ โดยหลวงตามหาบัวท่านรับรองไว้
4. ฉันในบาตร กริยานี้บางท่านก็ว่าเป็นข้อต่างของสองนิกาย เพราะธรรมยุติมักจะฉันในบาตร แต่พระมหานิกายรับบาตรแล้วแยกฉันในจาน ข้อนี้ก็ตอบยากเพราะมีวัดธรรมยุติที่ไม่ใช่สายป่าบางวัดก็ฉันในจาน และพระมหานิกายบางรูปที่ถือธุดงควัตรข้อนี้ก็ฉันแต่ในบาตร
เกร็ด : ถ้าจะนำบาตรไปถวายพระป่า ควรเลือกปากกว้างซัก 9 นิ้ว และไม่มีขอบเพื่อกันเศษอาหารเข้าไปติดบูดเน่าได้นะครับ

5. การรับบาตร และเก็บอาหาร พระสายป่าท่านจะเคร่งเรื่องนี้ครับ ว่ารับเฉพาะของที่ฉันได้ทันที ดังนั้นจะไม่รับของแห้งพวกข้าวสาร หรือของที่ฉันไม่ได้เช่น แปรงสีฟัน ใส่ในบาตร แม้เป็นเพียงการรับเชิงสัญลักษณ์ เช่นตักบาตรปีใหม่ ท่านจะเสี่ยงให้ถวายกับมือแทน หรือ ถวายเป็นสังฆทานกองรวมไป และ ก็จะไม่เก็บอาหารพ้นกาล เช่น อาหารทั่วไป ถึงเที่ยง น้ำปานะ หนึ่งวัน เภสัชห้า (น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำตาล เนยใส เนยข้น)เจ็ดวัน พ้นนี้ไปท่านไม่เก็บในกุฏิ แม้ไว้ให้ญาติโยม และไม่มีการนำมาประเคนใหม่ แต่ก็ไม่ใช่พระทั้งหมดที่ทำตามข้อวัตรนี้ และผู้ที่ถือตามนี้ก็มีทั้งสองนิกายด้วยเช่นกัน
เกร็ด : พระอาจารย์เปลี่ยนท่านห่วงโยมว่าจะไม่เข้าใจเรื่องนี้ เลยเมตตาเขียนไว้เป็นคู่มือการถวายของพระครับพุทธศาสนิกชนควรอ่านทำความเข้า ใจนะครับ หนังสือมีคุณค่ามากๆเล่มนึง

6. พระธรรมยุติไม่ทำสังฆกรรมร่วมกับพระมหานิกายครับ เช่น การลงอุโบสถ อย่างที่หลวงปู่มั่นให้หลวงปู่ชาทำ คือ มาบอกบริสุทธิ์ กับท่านหลังจากพระธรรมยุติรูปอื่นๆ ชำระศีลผ่านขั้นตอนปาฏิโมกข์เรียบร้อยแล้วจึงเห็นได้ว่า ลูกศิษย์ที่เคยเป็นสายมหานิกาย ต้องทำการญัตติ หรือบวชเป็นพระ เริ่มนับพรรษาใหม่

สรุป
การ มองอย่างผิวเผินโดยการนำข้อวัตรของสองนิกายนี้มาเปรียบหาแต่ความแตกต่างกัน ทำได้ยากขึ้นทุกทีๆ เพราะมีการโน้มเข้ามาหากันมากขึ้น หรืออาจจะเกิดจาก perception ที่ตั้งไว้ผิดตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว และ อีกอย่างการคิดในการหาข้อต่างอย่างเดียวอาจเสี่ยงให้เกิดการยึดมั่นในศรัทธา ต่อนิกายหนึ่งนิกายใด จนลืมไปว่าธรรมะของพระองค์ไม่มีแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เพราะการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายก็คือการมีตัวตนอยู่ในนั้น และสุดยอดของคำสอนคือการละตัวตนเพือมิให้มีกิเลสมาอาศัยเกาะได้ถึงตรงนี้ ต้องกราบหลวงปู่มั่นงามๆที่เล็งเห็นในอันตรายนี้จึงห้ามมิให้ลูกศิษย์บาง ส่วนเช่น หลวงปู่ชาญัตติเข้าธรรมยุติครับ

ที่มา http://www.watyaichaimongkol.net/index.php?mo=3&art=135587