เป็นที่น่าสังเกตุว่า ปัจจุบันนี้เด็กในเมืองหลวงป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจมากขึ้น และมากกว่า 50% ของผู้ที่เขียนมาถามเรื่องธาตุเจ้าเรือน จะมีปัญหาเกี่ยวกับอาการภูมิแพ้อากาศ ไซนัส หอบหืดไอ
การแพทย์แผนไทยมีความเห็นต่อโรคภูมิแพ้ หอบหืด ไซนัส อย่างไร
ถ้ากล่าวถึงทฤษฎีการแพทย์แผนไทย เด็กในวัย แรกเกิดถึง 16 ปี มักป่วยด้วยโรคที่มีต้นเหตุมาจากเสมหะ หมายถึงธาตุน้ำชนิดหนึ่ง เสมหะนี้มีที่ตั้งอยู่ที่คอ เรียกว่า ศอเสมหะ อยู่ที่ช่วงอก เรียกว่า อุระเสมหะ อยู่ที่ลำไส้ใหญ่ตอนล่าง เรียกว่า คูถเสมหะ
ลักษณะเสมหะก็มีสามลักษณะ คือเสมหะกำเริบคือมีมาก เช่น น้ำมูกไหล เสมหะในคอมาก เสมหะหย่อน คือแห้ง เหนียว และถ้าเสมหะกำเริบมากๆก็พัฒนาไปสู่เสมหะพิการ ขณะที่เสมหะหย่อนมากๆก็พัฒนาไปสู่เสมหะพิการได้เช่นเดียวกัน
ดังนั้น ในวัยเด็กจึงมีโอกาสป่วยด้วยอาการ หวัด ไอ คออักเสบ ปอดบวม ท้องเสีย ท้องผูก อาการเหล่านี้ถ้าปล่อยให้เรื้อรังก็พัฒนาไปเป็นโรคภูมิแพ้ หอบ หืด ไอ ริดสีดวงจมูก ริดสีดวงทวาร
เงื่อนไขสำคัญอะไรที่จะทำให้มีอาการป่วยเรื้อรัง
1. ไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เช่น ชอบทานอาหารทอดด้วยไขมัน อาหารถุงขบเคี้ยว อาหารรสจัด อาหารมีสารกันบูด น้ำประสานทอง ผงชูรส อาหารบรรจุถุงพลาสติก กล่องโฟม ดื่มน้ำเปล่าน้อยไป
2. อยู่ในที่อากาศแออัด ไม่ถ่ายเท อยู่ในห้องปรับอากาศทั้งกลางวัน กลางคืน และไม่ออกกำลังกาย
3. เคยเจ็บป่วยด้วยไข้หวัด ไข้เลือดออก ไข้สูงมาก แล้วกระทุ้งพิษไข้ออกไม่หมด
เงื่อนไขข้อที่ 3 นี้สำคัญมาก ในพระคัมภีร์ตักศิลา ว่าด้วยอาการไข้ กล่าวไว้ว่า ผู้ใดป่วยมีไข้พิษ ไข้ที่มีเม็ดมีหัว แล้วกระทุ้งพิษไข้ออกไม่หมด พิษเหล่านี้จะกลับเข้าไปอยู่ที่ตับ ปอด หัวใจ จะฝังตัวอยู่ยาวนานหลายปี เป็นต้นเหตุทำให้สุขภาพไม่แข็งแรง ไม่สบายบ่อยๆ หาสาเหตุมิได้
เด็กในเมืองใหญ่ๆ เมื่อไม่สบายเป็นหวัด ก็จะได้รับยาแก้ไข้ แก้ปวด ยาแก้อักเสบ ยาบรรเทาอาการไอ เป็นอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า พอรู้สึกมีไข้ ปวดหัว ก็ทานพารา เมื่อมีน้ำมูก ก็ทานยาลดน้ำมูก ยาแก้แพ้ คอแดงก็ทานยาแก้อักเสบ มีผื่นขึ้น ก็ทายาแก้ผื่น ขณะเดียวกัน พฤติกรรมในข้อ 1 และข้อ 2 ก็ยังคงเหมือนเดิม นานเข้าธาตุน้ำก็พิการ มีปัญหาน้ำเหลืองเสีย เป็นต้นเหตุของอาการภูมิแพ้ ทั้งไอหวัด ฝุ่น ภูมิแพ้ผิวหนัง เมื่อเสมหะคั่งในปอด ไม่ขับออก นานเข้าก็เกิดอาการหืดไอเรื้อรัง เมื่อเป็นหวัดมีน้ำมูก แล้วยังมีชอบทานอาหารแสลง อยู่ในที่อากาศแออัด ไม่โปร่ง น้ำมูกก็ยังคงไหลจนที่สุดเป็นริดสีดวงจมูกหรือไซนัส เมื่อเกิดคอแดง เจ็บคอ ก็ยังคงรับประทานอาหารให้พลังงานสูง ดื่มน้ำเย็น ท้องผูก นานเข้าต่อมทอนซิลก็อักเสบ
ถ้าหากถามว่า เด็กบางคนก็มีพฤติกรรมทั้ง 3 แบบข้างต้น ไม่เห็นป่วยเลย
คำตอบก็คือ ธาตุแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนมีธาตุที่ไม่สมบูรณ์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาแล้ว และยังเกี่ยวข้องกับกระบวนการคลอดออกมา การดูแลในวัย 1-12 เดือน คุณภาพของอาหารและความเอาใจใส่ สภาพแวดล้อมที่ต่างกันทั้งที่บ้านและนอกบ้าน
จะมีแนวทางในการป้องกันและรักษาอย่างไร
1. อย่าทานยาแก้ไข้ แก้ปวด แก้อักเสบพร่ำเพรื่อ
2. เมื่อมีไข้ ให้ถ่ายพิษไข้ออก ด้วยการลดความร้อนของโลหิต ดื่มน้ำอุ่นมากๆ ขับอุดจาระ ปัสสาวะให้ออก
3. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมอาหารแสลง และอากาศแออัด
4. ออกกำลังกาย และมีทัศนคติทางบวก
ที่มา http://thaiherbclinic.com/node/276