วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2555

3 เทคนิคจัดการลูกน้อยจอมไฮเปอร์


      วัยเด็กเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด ทำให้พวกเขาเต็มไปด้วยพลังล้นเหลือ หลังรื้อค้นโซฟาในห้องนั่งเล่น ก็เริ่มตีลังกากระโดดไปมา ลากคุณไปทั่วเหมือนทุกตารางนิ้วเป็นสนามเด็กเล่นเหมือนหยุดไม่เป็น “ทุกสิ่งล้วนน่าตื่นเต้นไปหมดสำหรับเด็กวัยก่อนเข้าโรงเรียน” นักจิตวิทยาเด็กลินดา บัดด์กล่าว “นั่นเป็นความสุขของเด็กในวัยนี้”
      
       แต่แม้พวกเขาจะเพลิดเพลินกับการเล่น เราก็ต้องสอนให้เขารู้ว่าเมื่อไรเป็นเวลากิน เมื่อไรเป็นเวลานอน เพื่อให้พวกเขามีเวลาที่สงบลง แต่ยังเรียนรู้อยู่ได้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำดังนี้
      
       1.จัดเวลาให้เล่น
      
       วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะให้เจ้าตัวน้อยสุดไฮเปอร์หมดพลัง คือ จัดกิจกรรมให้ทำตลอดทั้งวัน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าไม่ควรปล่อยให้เจ้าตัวน้อยอยู่นิ่งนานเกิน 60 ต่อครั้ง เว้นเพียงเวลานอน
      
       ถ้าปล่อยให้เขานั่งนาน ก็เตรียมตัวเจอพายุหมุนได้เลย เพราะพลังล้นเหลือที่สะสม ลองเอาน้ำใส่ถังให้ลูกทาเล่นนอกบ้าน หรือหาลูกบอลเบาๆ ให้เล่น ให้เขาได้ออกกำลังกายเต็มที่ในเวลาเล่น แต่ไม่ต้องหนักใจที่ลูกเล่น และไม่ควรให้เขาดูโทรทัศน์
      
       2.พัฒนาสมอง
      
       เด็กก่อนวัยเรียนเหมาะกับของเล่นที่มีกลไก เช่น ตัวต่อไม้ หรือกรรไกรสำหรับเด็ก การเล่นของเล่นที่เบากว่า เงียบกว่าเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ช่วยเสริมพัฒนาการให้ลูกน้อย เพลิดเพลินกับการเล่นคนเดียวได้ หากเล่นของเล่นประเภทนี้เขาจะอยู่นิ่งมากกว่า จึงอาจเหมาะที่จะใช้หลอกล่อในสถานที่ที่เขาควรอยู่นิ่งๆ อย่างในรถ หรือระหว่างรอคุณหมอ
      
       นอกจากนี้ ยังอาจใช้กิจกรรมศิลปะอย่างวาดรูปมาช่วยให้ลูกได้ฝึกทั้งการใช้มือและ จินตนาการก็เข้าทีไม่แพ้กัน กิจกรรมอีกอย่างที่ทำได้คือการอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง นอกจากจะช่วยให้เขาอยู่นิ่งได้แล้ว ยังเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกันกับคุณพ่อคุณแม่ด้วย นับเป็นการเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านให้เจ้าตัวน้อยตั้งแต่ยังเล็กได้
      
       3.กำหนดเวลาพักผ่อน
      
       ควรจัดเวลานอนให้เป็นเวลา เด็กส่วนใหญ่จะตื่นมาพร้อมพลังงานเต็มเปี่ยม แล้วใช้จนหมดก่อนจะรู้ตัวว่าง่วง เวลานอนเจ้าตีวน้อยไม่ควรเกินสามทุ่ม โดยมีเวลาสามสิบนาทีก่อนหน้าไว้ผ่อนคลายก่อนนอน อย่างการฟังนิทาน การนอนเป็นเวลาอย่างสงบจะช่วยให้เจ้าตัวน้อยนอนหลับสนิทได้ยาวขึ้น ผลคือพลังงานที่ดูแลได้ง่ายขึ้นในวันถัดไปสำหรับคุณพ่อคุณแม่
      
       อ้างอิงจาก parents.com


ที่มา http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000151067