วันเสาร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2557

ไขข้อข้องใจ เมื่อไหร่ถึงควรเปลี่ยนยาง

เปลี่ยนยางรถยนต์
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอมคอม
          
          อย่างที่รู้ ๆ กันว่ายางรถยนต์เป็นส่วนประกอบสำคัญของรถยนต์ และอาจจะเคยได้ยิน ๆ บ่อย ๆ ว่าควรเปลี่ยนยางรถยนต์จากที่คำแนะนำเบื้องต้นที่มักได้ยินกันว่าทุก ๆ 2 ปี ไม่ก็ที่ระยะทาง 20,000 - 50,000 กิโลเมตร ถูกต้องแล้วครับมันเป็นคำแนะนำเบื้องต้นแต่ขอบอกเลยว่ามันสิ้นเปลืองเกินความจำเป็นครับ

          เพราะการที่เราใช้ อายุยาง หรือ ระยะทาง มาบอกว่ายางนั้นเสื่อมสภาพนั้นไม่สามารถชี้วัดได้หรอกครับว่ายางรถยนต์เราเสื่อมสภาพจริงไหม ด้วยเหตุจากหลายปัจจัย ทั้งน้ำหนักรถ พื้นถนนที่ใช้วิ่ง สภาพอากาศ ความดันลมยาง ความเร็วในการขับขี่ ฯลฯ ด้วยเหตุนี้กระปุกคาร์ขอนำความรู้วิธีตรวจยางจากหมดสภาพตามความเป็นจริงมาบอกต่อครับ

เปลี่ยนยางรถยนต์

          สภาพดอกยาง

          เราสามารถใช้งานได้จนกระทั่งดอกยางสึกหรอเหลือต่ำสุด 1.6 มิลลิเมตร สามารถสังเกตง่าย ๆ ได้จาก จุดสามเหลี่ยมเล็ก ๆ 6 จุดบนไหล่ยางแต่ละด้านเมื่อเจอสัญลักษณ์นี้แล้ว ให้มองตรงขึ้นไป ที่หน้ายาง และมองลึกลงไปที่ร่องดอกยาง ก็จะพบสันนูนที่ร่องยาง ซึ่งเรียกว่า สะพานยางและเมื่อไหร่ที่ดอกยางสึก ไปถึงสะพานยาง นั่นแสดงว่ายางหมดอายุการใช้งาน

          ลักษณะยาง

          ถึงแม้ยางไม่หมดอายุแต่เกิดการบวมล่อนขึ้น บริเวณส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ที่หน้ายาง หรือ ไหล่ยาง ก็ควรเปลี่ยนใหม่ทันทีเช่นกัน เพราะหากยังใช้ต่อไป ยางอาจแตกระเบิดได้

          บาดแผลบนยาง

          ถ้าเกิดบาดแผลขึ้น โดยแผลนั้นมีความลึกไปถึงโครงสร้างยางภายใน และมีความกว้างของบาดแผลมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แผลบริเวณแก้มยาง ห้ามทำการปะซ่อมและนำมาใช้งานเด็ดขาด ควรเปลี่ยนยางใหม่โดยด่วนทันที 

          สภาพเนื้อยาง

          เนื้อแข็ง และกระด้างไม่มีความยืดหยุ่น ทดสอบง่าย ๆ โดยใช้เล็บจิกลงบนเนื้อของหน้ายางเก่า ถ้าใกล้หมดสภาพแล้วมักแทบจิกไม่ลงเลยครับ

เปลี่ยนยางรถยนต์

          เมื่อรู้แบบนี้แล้วก็รับรองได้เลยครับว่าคุณอาจจะประหยัดค่าเปลี่ยนยางเพิ่มได้อีกเยอะ อ๊ะแต่ก็ไม่แน่นะครับลองไปสำรวจยางรถยนต์ของคุณดูนะว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานหรือปล่าว เพราะบางทีอาจพึ่งเปลี่ยนมาไม่ถึงปีก็อาจจะมีอาการเหล่านี้ได้ เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณ คนรอบข้าง และผู้ที่ใช้ถนนร่วมกับคุณ อย่าให้เป็นดังคำที่กว่าไว้ว่า "เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย" เลยนะครับ



ที่มา http://car.kapook.com/view59048.html