อันว่าสมาร์ทโฟนทุกวันนี้ก็แสนแพง ยิ่งหน่วยความจำภายในเครื่องเยอะก็ยิ่งแพงขึ้นไปอีก หลายคนจึงจำเป็นต้องซื้อเครื่องที่ถูกกว่า แต่คุ้มค่าและเพิ่มหน่วยความจำภายนอกได้ ซึ่งเจ้าหน่วยความจำภายนอกนี้ สำหรับสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่แล้วจะเลือกใช้ microSD Card เราจึงขอหยิบเอาบทความน่ารู้เกี่ยวกับ microSD Card มาฝากเพื่อนๆ นะครับ
MicroSD Card คืออะไร?
SD Card หรือเรียกชื่อเต็มๆ ว่า Secure Digital Card มีหลากหลายขนาดและรูปร่าง ทั้ง microSD และ miniSD มันคืออุปกรณ์ในการจัดเก็บข้อมูล แบบ nand Flash Memory ที่มีการนำไปใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์หลายอย่าง เช่น กล้องดิจิตอล โทรศัพท์มือถือ หรือแม้กระทั่งแท็บเล็ต สาเหตุสำคัญที่ทำให้มันเป็นที่นิยม คือ ราคาที่ค่อนข้างถูก เมื่อเทียบกับหน่วยความจำอื่นๆ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจึงเลือกใช้ microSD Card เป็นส่วนใหญ่ และปัจจุบันมีการพัฒนา microSD ให้ดีมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของความเร็วในการบันทึก ซึ่งมีการแบ่งออกเป็น Class ต่างๆ ดังต่อไปนี้
Class ของ microSD Card คืออะไร? สัมพันธ์กับความเร็วในการบันทึกข้อมูลอย่างไร?
- Class 2 โอนถ่ายข้อมูลขั้นต่ำได้ที่ความเร็ว 2 MB / วินาที
- Class 4 โอนถ่ายข้อมูลขั้นต่ำได้ที่ความเร็ว 4 MB / วินาที
- Class 6 โอนถ่ายข้อมูลขั้นต่ำได้ที่ความเร็ว 6 MB / วินาที
- Class 10 โอนถ่ายข้อมูลขั้นต่ำได้ที่ความเร็ว 10 MB / วินาที
ในปัจจุบัน SD Card ขนาดต่างๆ รวมทั้ง microSD Card ส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยความจำแบบ MLC (Multi-level Cell) ซึ่งจะสามารถเขียนข้อมูลลงได้เพียง 5,000 – 10,000 ครั้งเท่านั้น หลังจากนั้นจะไม่สามารถเขียนข้อมูลลงในนั้นได้ นั้นหมายความว่า จะไม่สามารถเซฟอะไรได้เลย
รูปตัวอย่างการอ่านข้อมูลบน microSD Card (U คืออะไร?)
เลข10 ที่อยู่ในตัว C นั่นคือ Class10 ก็จะมีการถ่ายข้อมูลขั้นต่ำที่ 10 MB/s ส่วนเลข 1 ที่อยู่ในตัว U คือ Class UHS-1 (ย่อมาจาก Ultra-High Speed Bus 1 ทำให้ความเร็วของอัตราการถ่ายโอนข้อมูลสูงสุดที่ ระดับ 104MB/วินาที และ 300MB/วินาที)ง่ายๆก็คือ มันอ่านได้เร็วกว่า Class 10 นั่นเอง
หลักการเลือกซื้อ microSD Card
1. เลือกความจุที่เหมาะสมกับการใช้งานของเรา เอาไว้เก็บเอกสาร เก็บรูป เก็บวีดีโอ หรือเอาไว้ลงแอพพลิเคชั่น มากน้อยแค่ไหน? เราต้องเลือกให้เหมาะสม อย่าซื้อเผื่อ!! ถ้าไม่พอค่อยซื้อใหม่ได้ เพราะราคาในท้องตลาดมันลดลงเรื่อยๆ อยู่แล้วครับ
- หากเอาไว้สำหรับจดชื่อที่อยู่ บันทึกอะไรเล็กๆ น้อยๆ แค่ 2GB Class 2-4 ก็เพียงพอ
- หากเอาไว้สำหรับบันทึกรูปและเพลง แนะนำที่ 4GB – 8GB Class 6
- หากเอาไว้สำหรับบันทึกรูป, เพลง และ วีดีโอ แนะนำ 16GB – 32GB Class 6-10 ถ้าเป็นวีดีโอแบบ FULL HD แนะนำอย่างยิ่งที่ class 10
2. ตรวจสอบดูว่า ยี่ห้อสินค้า หรือ ผู้ผลิต มีรายชื่ออยู่ใน List รึเปล่า โดยเช็คได้ที่เว็บนี้ SDcard.org ถ้าสินค้าที่คุณกำลังเลือกซื้อ ไม่มีรายชื่ออยู่ใน List “ห้ามซื้อ เด็ดขาด” เนื่องจากการผลิตในคุณภาพต่ำ, ลดระดับหน่วยความจำลง หรือความเร็วในการรับ – ส่ง ข้อมูลทำได้ช้า บางทีอาจจะทำความเสียหายให้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกของคุณได้
3. เช็คให้ดีว่าเป็นของใหม่ เลือกร้านที่น่าเชื่อถือ ไม่ควรซื้อ microSD Card มือสอง อย่างที่บอกไปข้างต้น ว่าการเขียนข้อมูลมันมีได้จำกัด เผื่อซื้อๆ มาแล้วใช้ไปได้ไม่กี่ครั้งก็ใช้ต่อไม่ได้ มันจะไม่คุ้มเอา
4.ตรวจสอบกล่องหรือการหีบห่อให้ดี ว่าไม่มีการแกะพลาสติกที่หุ้มหรือกล่องที่เปิดมาแล้ว หากมีเครื่องหมายการันตีว่ารับประกันสินค้าด้วยยิ่งดีมาก ส่วนมากเดี๋ยวนี้มักจะรับประกันแบบตลอดอายุการใช้งานเลยครับ
เพียงเท่านี้เราก็สามารถกรอง microSD Card ไม่ได้มาตรฐาน หรือพวกของปลอมได้บ้างแล้ว ที่สำคัญเราควรสำรองข้อมูลในการ์ดเอาไว้ที่อื่นบ้าง เพราะเราก็อาจจะเจอเหตุการณ์ที่ว่า เมมเสีย เซฟไม่เข้า มีปัญหา เข้ามาได้เหมือนกัน อย่างที่บอกไปว่าความสามารถในการเขียนข้อมูลของมันจะลงได้เพียง 5,000 – 10,000 ครั้งเท่านั้น แม้ประกันจะเป็นแบบตลอดอายุการใช้งาน หากข้อมูลสำคัญสูญหายไปก็ไม่มีความหมาย
ที่มาและแหล่งข้อมูล