วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กลับบ้านหลังน้ำลดคราวนี้ มีอะไรต้องทำ




house

เรื่อง : กรวิกา วีระพันธ์เทพา

ช่วงเวลานี้ หลายพื้นที่น้ำลดลงจนหลายคนเดินทางกลับเข้าบ้านได้แล้ว เมื่อกลับไปเจอบ้านที่มีสภาพเปลี่ยนไปเพราะมีแขกที่ไม่ได้รับเชิญมาเยี่ยมเยียน อาจทำให้วางแผนไม่ถูกว่าจะฟื้นฟูอย่างไรดี จะเริ่มจากตรงไหน สิ่งไหนซ่อมได้ สิ่งใดควรทิ้ง ฯลฯ

ก่อนเข้าบ้าน ลองอ่านแนวทางง่ายๆ เหล่านี้กันก่อน เพื่อความปลอดภัยทั้งคนและทรัพย์สิน และอย่าลืมว่าเช่นเดียวกับช่วงเวลาก่อนและระหว่างน้ำท่วม นั่นคือ “สติ” เป็นสิ่งสำคัญที่สุด


สำรวจให้ทั่ว จัดพื้นที่เก็บขยะ

เมื่อกลับถึงบ้าน อย่ารีบทำอะไร ยังไม่ต้องเปิดระบบไฟ สำรวจสภาพของในบ้านและโดยรอบว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลง เมื่อแก้ไขจะได้ทำตามลำดับได้ไม่สับสน
แน่นอนว่าจะมีขยะทั้งของบ้านเราเองและบ้านคนอื่น เลือกที่พักขยะหรือที่แขวนถุงขยะ เพราะสิ่งที่ลำบากที่สุดหลังน้ำลดก็คือปริมาณขยะมากกว่าคนจะมาเก็บขยะ ดังนั้นจึงต้องใช้เวลา
เรียงลำดับ แยกประเภทขยะ เพราะกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ทิ้งขยะที่จะเน่าได้ก่อน เช่น เศษอาหาร ส่วนขยะบางประเภทเก็บไว้ในบริเวณบ้านก่อนได้แล้วค่อยทยอยทิ้งทีหลัง เช่น โฟม พลาสติก เฟอร์นิเจอร์ที่พังเสียหาย ส่วนขยะอันตราย จำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า หลอดไฟ (ที่ยังไม่แตก) ควรคัดแยกไว้ต่างหาก แล้วหาวิธีจัดการอย่างเหมาะสมเป็นลำดับถัดไป

ระบบไฟฟ้า

อย่าเพิ่งเริ่มเปิดระบบไฟฟ้าใดๆ ทั้งสิ้น ตรวจสภาพเรียบร้อยก่อนว่ามีอะไรชำรุด
ตัวหลักๆ ที่มักเสียหายเวลาน้ำท่วมคือปั๊มน้ำและคอมเพรสเซอร์แอร์ ตรวจดูว่ามีขยะอะไรเข้าไปขวางในเครื่องหรือไม่ เปิดฝาครอบ จัดการเก็บขยะออก ทิ้งไว้ให้แห้งอย่างน้อย 3-4 วัน หรือ 1 สัปดาห์
ปลั๊กไฟที่อยู่ระดับน้ำท่วมถึง ไขน็อตเปิดฝาออก ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง 3-4 วัน หรือ 1 สัปดาห์ ส่วนมากไม่ค่อยเจ๊ง
ตู้ไฟส่วนมากจะอยู่สูง น้ำท่วมไม่ถึง แต่ถ้าท่วมจริงๆ อย่าทำอะไรเพราะเกินความสามารถของเรา ต้องให้ช่างไฟมาตรวจสอบ

โครงสร้างบ้าน

น้ำท่วมอาจจะทำให้โครงสร้างบ้านมีปัญหา โดยเฉพาะรอบข้างเราเป็นบึง ตลิ่ง หรือพื้นที่ที่มีความสูงต่างกันมากๆ อาจจะเกิดดินสไลด์ จนทำให้ฐานราบเคลื่อนตัวได้
สำรวจรอบบ้าน มีดินที่เคลื่อนตัว ถนนทรุดตัวผิดปกติหรือเปล่า ดูอาคารเราว่ามีรอบร้าวอะไรเพิ่มเติม
ถ้ามีรอยแตกแนวดิ่ง แสดงว่าโครงสร้างอาจจะมีการขยับตัว ต้องให้ช่างมาตรวจสอบ
แต่ถ้าเป็นรอยร้าวเฉียงๆ เล็กน้อย ไม่เป็นระเบียบ สามารถซ่อมเองได้โดยใช้วัสดุโป๊วสำเร็จรูป
ปัญหาจริงๆ คือความชื้นเข้าไปในผนัง อยู่เฉยๆ อย่าเพิ่งดำเนินการซ่อมใดๆ ทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ขึ้นไปแล้วค่อยซ่อมแซมหรือทาสีใหม่ เพราะยิ่งซ่อมจะยิ่งเป็นปัญหา ทำให้ความชื้นไม่ระเหยออกมา หากมีตู้อะไรขวางการระบายความชื้นต้องเลื่อนออก

ภายในบ้าน

ระบายความชื้นด้วยการเปิดประตูหน้าต่างทุกบาน
โซฟา ทิ้งให้แห้งประมาณ 2 สัปดาห์ เปลี่ยนวัสดุบุใหม่ พรมต้องตัดใจทิ้งเพราะยากที่จะกลับมาคืนสภาพเดิม
ประตูหน้าต่าง อลูมิเนียม ใช้น้ำยาเช็ดทำความสะอาดหรือน้ำสบู่อ่อนๆ
วงกบไม้ บานไม้ ประตูไม้ที่เสียรูปนิดหน่อย อย่าเพิ่งทำอะไร รอให้แห้งประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วอาจจะไสแต่งเองได้ แต่ประตูไม้อัดควรเปลี่ยนใหม่ ตัวบานพับก็หาสารหล่อลื่นมาฉีดได้
พื้นกระเบื้อง น้ำลดแล้วทำความสะอาดได้เลย เพราะทิ้งไว้จะขัดคราบยาก ใช้น้ำยาล้างพื้นขัดตามยาแนวออก ถ้าเป็นคราบเกาะแน่น ใช้ตะปูขูดยาแนวทิ้งแล้วใช้ยาแนวสำเร็จรูปป้ายใหม่
ปาเก้ ที่หลุดลอยต้องแกะทิ้งแล้วซื้อมาเสริม แต่ถ้ามีงบประมาณทำใหม่ดีกว่า เพราะใช้ต่อไปอาจจะเสียหายเพิ่มขึ้น
ถังน้ำที่ฝังดิน ตรวจดูว่าน้ำเข้าไปหรือเปล่า ช้อนเศษขยะแล้วใช้ปั๊มดูดน้ำออก ล้างถังให้สะอาด
ถังส้วมปล่อยทิ้งไว้ น้ำจะไหลออกมาเอง ใช้แบคทีเรียสำเร็จรูปหรือน้ำยาชีวภาพเทใส่ชักโครก


ใจเย็นสักนิด ของยังมีค่า

ทรัพยากรในบ้าน ใจเย็นสักนิด บางอย่างเมื่อความชื้นระเหยแล้ว สามารถนำกลับมาใช้ได้ หรือเมื่อแยกประเภทแล้ว สามารถขายได้
เหล็กดัด หน้าต่าง บานประตู ถอดออกมาผึ่งแดด ทิ้งไว้ให้แห้ง อาจจะนำกลับไปใช้ได้
ซากต้นไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ทำปุ๋ยหมักได้
แยกประเภทขยะ ได้แก่คอนกรีต โลหะ เศษไม้ พลาสติก แก้ว เครื่องใช้ไฟฟ้า และขยะอันตราย เช่น แบตเตอรี่ สิ่งเหล่านี้ หลายอย่างยังเป็นของที่มีมูลค่า ขายต่อให้ร้านรับซื้อของเก่าได้ ส่วนพวกอิฐบล็อก กระสอบทรายก็สามารถขายต่อให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเอาไปถมที่ได้
หลักการง่ายๆ คือ "อย่ารีบซ่อมทันที แต่ควรรีบทำความสะอาดทันที"
พื้นทิ้งไว้อย่างน้อย 1 เดือน ผนังอย่างน้อย 2 อาทิตย์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างน้อย 1 อาทิตย์

เตรียมพร้อมรับมือ อยู่กับน้ำ (ในคราวหน้า)

หากเลือกได้ ปูพื้นบ้านด้วยกระเบื้องดูจะเป็นทางเลือกที่ง่ายต่อการทำความสะอาดที่สุด
ถังส้วม อย่าฝังไว้ในดิน ลองประยุกต์พื้นที่จัดวาง เช่น ใต้บันได
กล่องไฟแยกระบบชั้นบน-ชั้นล่างชัดเจน ถึงเวลาน้ำมาตัดไฟชั้นล่าง ใช้ชีวิตชั้นบนได้ตามปกติ
ทุกชุมชนควรกำหนดพื้นที่พักขยะหรือซากปรักหักพังเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติไว้อย่างชัดเจน ขยะจะได้ไม่ล้นทะลัก และช่วยให้ง่ายต่อการจัดการในภายหลัง

ขอบคุณ
คุณทวีจิตร จันทรสาขา นายกสมาคมสถาปนิกสยาม
ดร.อัจฉรา อัศวรุจิกุลชัย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ที่มา http://www.greenworld.or.th/greenworld/local/1543