วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เชียงคาน... กลางม่านฝน บนวิถีพุทธ

ตื่นเช้าตักบาตรข้าวเหนียวที่เชียงคาน
เสียงสายฝนหล่นเบาๆ มาพร้อมกับละอองเย็นๆของน้ำที่ให้ความชุ่มชื้นที่กระเด็นมาแปะผิวกาย ม่านฝนที่ตกกระหน่ำลงกระทบผืนดินนี้กอบโกยเอาความฉ่ำเย็นและกลิ่นไอดินให้ ฟุ้งกระจายไปทั่ว ทำให้"ตะลอนเที่ยว" ที่กำลังเดินทางมุ่งหน้าสู่ อ. "เชียงคาน" จ.เลย พลอยรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าไปด้วย

ทันทีที่มุ่งหมายว่าจะขอเดินทางมาพักผ่อนที่ "เชียงคาน" ในช่วงกลางฤดูฝนแบบนี้ คิดไว้ว่าคงจะเจอเชียงคานในความเงียบสงบ เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเลือกมาที่นี่ในช่วงฤดู หนาวเสียมากกว่า แต่สำหรับ"ตะลอนเที่ยว"แล้วการแสวงหาความสงบไม่พลุ่นพล่านด้วยผู้คนคลาคล่ำ ดูเหมือนจะเป็นจุดประสงค์หลักและการได้มาเยี่ยมเชียงคานช่วงฤดูฝนแบบนี้

ย่านถนนชายโขงบ้านเก่าที่ฟื้นชีวิตอีกครั้งด้วยการท่องเที่ยว
ซึ่งก็เป็นจริงดังคาด ดูเหมือนสายฝนจะไม่ได้ทำให้ความงดงามของเมืองเล็กๆริมฝั่งโขงแห่งนี้ด้อยลง สักนิด ตรงข้ามกลับแปลกเป็นเชียงคานที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา สองเรี่ยรายทางดูเพลินตาไปด้วยต้นข้าวอ่อนๆสีเขียวขจีกำลังแข่งกันเติบโตคับ แปลงนา สายลม สายฝนที่หยาดหยดยิ่งด้วยทำให้พวกมันแลดูระริกระรี้ดั่งต้นข้าวเต้นระบำแข่ง ขันกันในท้องทุ่ง ทัศนียภาพที่กระจ่างตาแบบนี้ เป็นสัญญาณว่าทริปเที่ยวหน้าฝนที่ "เชียงคาน" ของเรากำลังจะเริ่มขึ้นอย่างจริงจังแล้ว

มองเชียงคานมุมสูงจากภูช้างน้อย
วันสบาย...ในสายฝน

น่าแปลกที่เวลาในกรุงเทพและที่เชียงคานเท่ากัน หากที่นี่กลับเหมือนเคลื่อนผ่านไปอย่างช้าๆ เลือกมาเชียงคานหน้าฝนยังไม่พอยังมาในวันธรรมดาเสียด้วย ผู้คนที่นี่เลยบางตาเหมือนเชียงคานเป็นของเราแต่ผู้เดียว เรือนไม้ ที่เดี๋ยวนี้หันมาเปิดหน้าร้านค้าขายกันเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็มีเปิดบ้างปิดบ้าง แต่ร้านที่เปิดสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือคนเฝ้าหน้าร้านวัยล่วงเลยเข้าสู่วัย ผมสีดอกเลาแกมขาวหรือค่อนไปทางขาวโพลนหลายเจ้าทีเดียว นี่ก็จึงเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของเชียงคานกระมัง ที่มีคนรุ่นปู่ ย่า แสนใจดี มานั่งหน้าบ้านรอต้อนรับเราแบบนี้

วัดท่าคก เรียบง่ายแต่ทรงเสน่ห์
"ตะลอนเที่ยว" ไม่อยากเสียเวลาในการเที่ยวชมเชียงคาน เพียงเพราะอุปสรรคที่เป็นสายฝนเส้นบางๆ จึงเช่าจักรยานออกมาปั่นเล่นริมฝั่งโขง อย่างอ้อยสร้อย มองสายน้ำโขงแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวเชียงคาน ที่ฤดูกาลนี้น้ำขึ้นสูง ไหลไปด้วยสีขุ่นแดงเป็นสีโอวันติล ก่อนจะปั่นทะลุซอยโน้น โผล่ซอยนี้ (ตามผังเมืองที่ออกแบบอย่างดีคือทะลุได้ทุกซอย) ชมวิถีคนเชียงคาน ว่ากินอยู่กันอย่างไรในวันสบายๆแบบนี้

การเรียนรู้อย่างอย่างหนึ่งที่เห็น คือ ทุกคนอยู่กันอย่างสุขสงบ แม้การเดินทางมาถึงของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ก็ไม่ได้แปรเปลี่ยนอะไรกับผู้คนที่นี่มากนัก ใครเคยทำอะไรก็ทำ ใคร่ค้าอะไรก็ค้า เรียกได้ว่าอยู่กันอยากกลมกลืน ระหว่างของดั้งเดิมและเรียนรู้ที่จะอยู่คู่สิ่งใหม่ๆอย่างพอเพียง

เชียงคานหน้าฝน กับความเขียวชอุ่มของท้องทุ่ง
จะมองคนเชียงคาน ก็คงเหมือนมองบ้านเก่าในเชียงคานนั่นแหละ บ้านเก่าที่บางหลังหลายสิบหลายร้อยปี เคยเงียบเหงาตามกาลเวลา ใครจะคิดว่าวันหนึ่งจะมีผู้คนสนใจเดินทางมาชมกันมากมาย เจ้าของบ้านก็ปรับปรุงภายในบ้านให้ผสานสมใหม่-เก่าลงตัว

ร้านรวงมากมายบนเส้นถนนชายโขง มีให้เอ่ยกันได้ไม่หมด แต่ละร้านก็ตั้งชื่อเก๋ไก๋เข้าบรรยากาศ อย่าง รักเลย จำเลยรัก เฮือนหลวงพระบาง ใช่เลย เป็นต้น แม้ช่วงถนนต้นสายถึงปลายทางจะไม่ยาวมาก แต่เชื่อเถอะว่าด้วยเสน่ห์แบบเชียงคาน จะทำให้คุณหลงรักเดินแล้วหยุด หยุดแล้วเดินเป็นวันๆ

บ้านไม้เก่า คนอยู่แก่ กับวิถีที่เรียบง่าย
เชียงคาน เบิกบาน ด้วยพุทธะ

นอกจากเรื่องของถนนสายคลาสสิกที่เต็มไปด้วยบ้านไม้เก่าแล้ว ถ้าไม่ได้เข้าวัดที่เชียงคานก็คงเหมือนเห็นเชียงคานไม่รอบตัว"ตะลอนเที่ยว"จึงมีโอกาสลัดเลาะไปตามวัดต่างๆ วัดแรกที่ไปคือ "วัดท่าคก" วัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นที่แม่น้ำโขงเว้นเข้ามาในแผ่นดิน หรือ วังน้ำวน ภาษาพื้นบ้านเรียกว่า คก มีตำนานกล่าวว่า บิดาของพระศรีอรรคฮาต และชาวบ้านช่วยกันสร้างวัดขึ้น เมื่อพ.ศ. 2395 ต่อมาพ.ศ.2410เมื่อพระยาศรีอรรคฮาต อายุได้ 41 ปี ได้สร้างโบสถ์วัดท่าคกขึ้น ด้วยป้องกันกลอุบายของฝรั่งเศสที่คิดจะมาเช่าผืนแผ่นดินสยามเท่าผืนหนังแต่ ตักเป็นริ้วได้ยาวมาก ที่เมืองเชียงคาน ไว้เพื่อไว้เก็บสินค้า เพื่อไม่ให้รุกล้ำพื้นที่เข้ามา จึงได้สร้างวัดท่าคกกันพื้นที่เอาไว้

และมาที่วัดซึ่งเป็นเสมือนวัดหลวงของคนเชียงคานอย่างวัด "ศรีคุณเมือง" อยู่ ที่ถนนชายโขง ซอย 7 ทางด้านเหนือของตลาดเชียงคาน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2485 วัดนี้เป็นแหล่งรวมงานศิลปะทั้งแบบล้านนาและล้านช้างดังจะเห็นได้จากโบสถ์ ซึ่งหลังคาลดหลั่นอย่างศิลปะล้านนา ศิลปวัตถุที่สำคัญมีหลายชิ้น เช่นพระพุทธรูปไม้จำหลัก ลงรักปิดทองปางประทานอภัยแบบล้านช้าง นอกจากนี้ในวัดยังมีธรรมาสน์แกะสลักไม้ ลงรักปิดทองทุกด้านที่พนักหลังมียอดคล้ายปราสาท ด้านหน้าโบสถ์มี ภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่เต็มหน้าบัน ภาพทั้งหมดเป็นภาพ นิทานชาดก ชุดพระเจ้าสิบชาติซึ่งวาดขึ้นใหม่แทนของเดิม

วงดนตรีไทยวงนี้ อย่ารวมอายุผู้เล่น
อีกหนึ่งวัดที่คนไปเชียงคานไม่ควรพลาดคือ "วัดมหาธาตุ"แถว ถนนศรีเชียงคาน ที่สร้างเมื่อพ.ศ.2197 ที่ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธรูปไม้ศิลปะแบบล้านช้างและมีภาพวาดจิตรภาพฝาผนังเก่าแก่ที่เริ่มจะ หลุดลอกแล้วให้ได้ชมกัน

และกิจกรรมหนึ่งที่ "ตะลอนเที่ยว" หลงรักเชียงคานทวีคูณคือ การที่ได้ตื่นแต่เช้าตรู่ หาซื้อข้าวของมา "ใส่บาตร" พระ สงฆ์กัน ประเพณีดั้งเดิมของคนเชียงคานจะนิยมตักบาตรกันด้วยข้าวเหนียวเพียงอย่าง เดียวส่วนกับข้าวจะทำไปถวายวัดทีหลัง แต่ใครจะใส่บาตรแบบครบเครื่องเขาก็ไม่ว่ากัน ภาพที่เห็นพระสงฆ์เดินสงบงามเรียงแถวกันว่าแต่ไกล กับภาพการนั่งรอตักบาตรอยู่หน้าบ้านใครบ้านมันของคนเชียงคาน ที่ส่วนใหญ่เลยวัยเกษียณ เป็นภาพที่งดงามเกินคำบรรยายอิ่มอุ่นในความรู้สึกจริงๆ

บรรยากาศริมน้ำโขงยามเย็น
เสร็จแล้วก็หาอาหารอร่อยแบบเชียงคาน กินให้อิ่มหนำ ก่อนจะเดินท่องเชียงคานกันอีกครั้ง รอบๆตัวเมืองเชียงคานเองก็มีที่เที่ยวให้ได้ชมความสวยงามกันอยู่หลายแห่ง ที่ "ตะลอนเที่ยว" ชื่นชอบแห่งหนึ่งคือที่ "ภูช้างน้อย" ที่นอกจากจะเป็นที่ตั้งของวัดแล้วบนยอดเขา ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ "พระใหญ่" ของชาวบ้านที่จากมุมนี้เหมาะเจาะอย่างยิ่ง สำหรับชมวิวของเชียงคานมุมสูง

ปั่นจักรยานเที่ยวเชียงคานกิจกรรมยอดฮิตของนักท่องเที่ยว
จุดชมวิวเชียงคานอีกแห่งหนึ่งนอกเมืองออกไป คือ "ภูทอก" ตั้งอยู่เนินสูงกลางเมืองเชียงคาน เป็นที่ดูทะเลหมอก ชมวิวแม่น้ำโขงและเมืองเชียงคาน ที่ในฤดูฝนและฤดูหนาวจะถูกปกคลุมไปด้วยผ้าห่มหมอก ที่แม้จะอยู่ในพื้นที่ของ TOT แต่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางขึ้นไปชมได้

ลงจากเขาก่อนกลับเข้าเมืองก็แวะที่ "แก่งคุดคู้" เป็นแก่งหินใหญ่ขวางอยู่กลางลำน้ำโขง ช่วงโค้งของลำน้ำโขงพอดี ทำให้เกิดกระแสน้ำเชี่ยวไหลผ่านแก่ง เสียดายในหน้าน้ำแบบนี้ความงดงามถูกปกปิดไว้เสียมิด ช่วงเวลาที่เหมาะจะชมแก่งคุดคู้จึงต้องเป็น ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม

วัดศรีคุณเมือง หนึ่งในศูนย์รวมใจของชาวเชียงคาน
"ตะลอนเที่ยว" กลับมาเดินเล่นที่ถนนสายคลาสสิกแบบถนนชายโขง อีกรอบ พลัน...ได้ยินเสียงดนตรีไทยแว่วเข้าหูอย่างไพเราะ หลงเดินตามปานต้องกระแสจิตดังพระสังข์เรียกปลา แง้มบานประตูก้าวเข้าไปในบ้านหลังหนึ่ง อันเป็นที่มาของเสียงดนตรีไทย จึงได้เห็นว่าเสียงดนตรีเพราะนั้นไม่ใช่อื่นไกล เป็นกลุ่มผู้เฒ่า ผู้แก่ เชียงคาน ที่รวมตัวกันในวันว่างมานั่งร้องรำทำเพลงกัน เหนื่อยจากการเล่นดนตรีก็นั่งพักพูดคุยสนทนากันถึงเรื่องราวแต่ก่อนเก่า ครั้งเป็นหนุ่มสาวของเชียงคาน คนฟังอย่าง "ตะลอนเที่ยว" ก็บอกได้คำเดียวว่าเชียงคานหน้าฝนในหนนี้ ...สุขใจ.

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวเพิ่มเติม ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางสู่เชียงคานได้ที่ ททท. สำนักงานเลย โทร. 0-4281-2812


ที่มา http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9530000111370