โลกในมุมมองของ Value Investor 30 ตุลาคม 53
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ในเรื่องของการลงทุนหรือเล่นหุ้นนั้น มีเทคนิคหรือวิธีการหลายอย่างที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น ลงทุนแบบ Value หรือเน้นคุณค่า เล่นหุ้นแบบดูกราฟแนวรับแนวต้าน หรือเล่นหุ้นโดยวิธีการ “ปั่นหุ้น” เป็นต้น คำถามก็คือ เล่นหุ้นด้วยวิธีไหนดีที่สุด?
ก่อนที่จะตอบคำถามนั้น ผมคงต้องเติมข้อความในวงเล็บว่า ดีที่สุด (โดยเฉลี่ย) เพราะในแต่ละเทคนิคหรือวิธีการนั้น คนที่ทำได้ดีอาจจะเก่งมากจนทำได้ดีกว่าคนที่เก่งที่สุดในอีกวิธีหนึ่ง แต่โดยเฉลี่ย ซึ่งรวมถึงคนที่ไม่เก่งทั้งหมดด้วยแล้ว วิธีนั้นอาจจะแพ้การลงทุนอีกวิธีหนึ่งที่คนเก่งมากกับคนที่เก่งน้อยได้ผลตอบ แทนไม่ต่างกันมากก็ได้
ประเด็นต่อมาก็คือ ในการที่จะบอกว่าวิธีไหนดีกว่าวิธีอื่นนั้น เราจำเป็นต้องมีข้อมูลเพื่อที่จะพิสูจน์ ดังนั้น วิธีการลงทุนหรือเล่นหุ้นบางอย่างที่หาข้อมูลไม่ได้ เช่น การ “ปั่นหุ้น” นั้น เราคงไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นวิธีที่ดีแค่ไหนในการทำกำไรแม้ว่าเราจะเชื่อว่า เป็นวิธีที่น่าจะได้ผลตอบแทนสูงสุด อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นวิธีการที่ผิดกฎหมายและผมไม่แนะนำให้ทำ มันก็เหมือนกับถามว่า วิธีทำงานหาเงินที่ได้เงินมากและเร็วที่สุดคืออะไร? ซึ่งคำตอบของเราอาจจะบอกว่า การ “คอร์รัปชั่น” แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนสามารถทำได้ เช่นเดียวกับการ “ปั่นหุ้น” ที่ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้
ในการศึกษาเรื่องของเทคนิคหรือวิธีการในการลงทุนหรือเล่นหุ้นนั้น ในเชิงวิชาการเราสามารถแบ่งออกได้เป็นกลุ่มหลัก ๆ 4 วิธีด้วยกันคือ วิธีแรก เป็นกลุ่มของนักเล่นหุ้นที่ใช้ข้อมูลเพียง 2 อย่าง นั่นก็คือ ข้อมูลราคาหุ้นกับปริมาณการซื้อขายของหุ้น กลุ่มนี้จะนำข้อมูลทั้งสองอย่างมาเขียนเป็นกราฟหรือทำเป็นจุดอะไรต่าง ๆ จากนั้นก็อาจจะคำนวณหาราคาเฉลี่ยในแต่ละช่วงเวลาหรือลูกเล่นต่าง ๆ แล้วก็กำหนดจุดซื้อขายหุ้น ด้วยวิธีนี้ พวกเขาคิดว่าจะสามารถทำกำไรได้ดีกว่าปกติ เราเรียกพวกเขาว่า “นักเล่นหุ้นแบบเท็คนิค” การศึกษาจากตลาดที่พัฒนาแล้วอย่างในสหรัฐพบว่า การเล่นหุ้นแบบเท็คนิคไม่สามารถเอาชนะดัชนีตลาดได้ ปัญหาใหญ่ก็คือ พวกเขาต้องเสียค่าคอมมิชชั่นสูงเนื่องจากวิธีนี้มักทำให้ต้องซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้น “ตามสัญญาณ” ค่อนข้างมาก ในตลาดหุ้นไทยผมไม่แน่ใจว่ามีคนทำการศึกษาหรือไม่ นอกจากนั้น คนที่เป็นนักเท็คนิคเองผมก็คิดว่ายังมีไม่มากนัก
วิธีที่สองก็คือการลงทุนแบบอาศัย “ข้อมูลพื้นฐาน” ทั้งหลายที่เปิดเผยต่อสาธารณชนแล้ว ข้อมูลเหล่านี้รวมถึงข้อมูลทางเศรษฐกิจ การเงิน และข้อมูลผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นด้วย กลุ่มคนที่ใช้วิธีนี้ในการลงทุนนั้นกว้างขวางมาก ซึ่งรวมไปถึงคนที่บริหารกองทุนรวมจำนวนมหาศาล จากการศึกษาในตลาดหุ้นสหรัฐเช่นเดียวกันก็พบว่า นักลงทุนที่ใช้วิธีการนี้ก็แพ้ดัชนีตลาดแบบ “ราบคาบ” ประเด็นสำคัญก็คือ การทำแบบนี้ต้องค้นคว้าและศึกษาข้อมูลมากมาย ต้องใช้คนที่จบการศึกษาทางด้านการเงินระดับ “MIT” มาทำงานทำให้มีต้นทุนในการบริหารพอร์ตสูงไม่คุ้มค่า
วิธีลงทุนโดยอาศัย “ข้อมูลพื้นฐาน” นี้ มีวิธีการ “ย่อย” แตกแขนงออกมานั่นก็คือ วิธีการที่เรียกว่า “Value Investment” หรือการลงทุนแบบเน้นคุณค่า วิธีนี้เน้นที่การลงทุนในหุ้นที่มี “ราคาถูกเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับพื้นฐานของกิจการ” การศึกษาจากตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นไทยด้วยพบว่า การลงทุนแบบ VI นั้น ให้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมกว่าดัชนีตลาดมากในระยะยาว ว่าที่จริงในตลาดหุ้นไทยนั้น การลงทุนแบบ VI ให้ผลตอบแทนโดดเด่นมากเมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้น ในขณะที่ในตลาดหุ้นสหรัฐนั้น ในบางช่วงบางตอน การลงทุนแบบ VI ก็แพ้ตลาดเหมือนกันแม้ว่าในระยะยาวแล้วโดยเฉลี่ยจะเหนือกว่ามาก
วิธีที่สามคือการลงทุนหรือเล่นหุ้นโดยใช้ “ข้อมูลภายใน” ที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชน วิธีนี้นั้น แน่นอน คนที่จะรู้ก็มักจะเป็น “คนใน” ที่เป็นผู้บริหารของบริษัท คนกลุ่มนี้มักจะมีจำนวนไม่มาก การศึกษาในสหรัฐเคยพบว่าพวกเขาสามารถทำกำไรได้ดีกว่าดัชนีหุ้น อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่ลงทุนตาม “คนใน” ผมก็เชื่อว่าคงไม่สามารถทำกำไรได้ เนื่องจากกว่าเขาจะรู้ ราคาหุ้นก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
สุดท้ายคือวิธีการลงทุนแบบ Passive หรือการลงทุนโดยการกระจายการถือครองหุ้นตามดัชนีพูดง่าย ๆ ซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนหุ้นตามดัชนี กลุ่มคนที่ใช้วิธีนี้มีความเชื่อว่าตลาดหุ้นนั้น “มีประสิทธิภาพ” ราคาหุ้นในตลาดสะท้อนคุณค่าของกิจการหมดแล้วจึงมีราคาที่เหมาะสม ดังนั้น จึงไม่มีประโยชน์ที่จะเลือกหุ้น ไม่ว่าจะใช้วิธีการหรือเท็คนิคอะไร วิธีการที่ดีกว่าก็คือ ซื้อหุ้นกระจายกันไปทุกตัวในตลาดและได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีโดยที่ต้น ทุนในการบริหารกองทุนนั้นต่ำมาก ซึ่งผลการศึกษาในตลาดหุ้นสหรัฐพบว่า วิธีนี้ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดโดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับวิธีการลงทุนแบบอื่น ๆ ที่กล่าวมา
นั่นอาจจะเป็นผลที่เกิดขึ้นในตลาดสหรัฐที่ซึ่งตลาดหุ้นอาจจะ “มีประสิทธิภาพสูง” อันเป็นผลจากการที่มีนักลงทุนและนักวิเคราะห์ที่มีความสามารถสูงมากมาย ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวได้รวดเร็วตามพื้นฐานของมันและทำให้หาหุ้นที่ราคาผิดไป จากพื้นฐานได้ยาก แต่ในตลาดหุ้นไทยเองนั้น ก็อาจจะมีข้อสงสัยว่าตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพแค่ไหน? คนจำนวนมากโดยเฉพาะที่เป็น VI เชื่อว่ายังมีหุ้นถูกและดีที่เป็นหุ้น VI อีกมากและเรายังสามารถใช้หลักการของ VI ทำผลตอบแทนได้โดดเด่นอยู่
ผมเองเชื่อว่า VI นั้น เป็นวิธีการลงทุนที่เหนือกว่าการลงทุนแบบอื่น ๆ มองจากประสบการณ์ส่วนตัวและที่ได้สัมผัสกับนักลงทุนจำนวนมาก เหนือสิ่งอื่นใด การศึกษาก็พบว่ามันเป็นเท็คนิคที่ให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นมากอย่างไม่น่าเชื่อ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคนที่เก่งมาก ๆ เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เท็คนิคนั้นก็จะด้อยประสิทธิภาพลงไปเรื่อย ๆ เพราะหุ้นที่ Undervalue หรือหุ้นที่มีราคาถูกก็จะถูกไล่ซื้ออย่างรวดเร็วจนมีราคาแพงขึ้นและทำให้คน ที่เข้าไปลงทุนตามไม่ได้กำไร สุดท้าย ราคาหุ้นส่วนใหญ่หรือเกือบทุกตัวก็จะมีราคาที่เหมาะสมซึ่งทำให้เราไม่สามารถ หากำไรได้ง่าย ๆ
ก่อนจะจบผมอยากเพิ่มเติมประเด็นที่มักจะมีการถกเถียงกันว่าการใช้วิธีการ ลงทุนแบบเท็คนิค หรือการลงทุนแบบ VI ใครดีกว่ากัน? หรือ VI ควรนำวิธีการของเท็คนิคมา “เสริม” ไหม? คำตอบสั้น ๆ ของผมก็คือ ข้อมูลราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นนั้น เป็นข้อมูลสาธารณะที่นักลงทุนในกลุ่มสองสามารถใช้ได้อยู่แล้ว ที่จริง VI ดัง ๆ หลายคนก็ใช้ข้อมูลทางเท็คนิค ประเด็นสำคัญที่จะแบ่งว่าคุณอยู่กลุ่มไหนจึงน่าจะอยู่ที่ดีกรีของข้อมูลที่ ใช้มากกว่า อย่างตัวผมเองนั้น ผมใช้ข้อมูลเกี่ยวกับราคาและปริมาณการซื้อขายน้อยมาก ผมพอใจที่จะอยู่กับข้อมูลพื้นฐานเป็นหลัก แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุด คนที่จะพูดแบบนั้นได้ควรจะมีข้อพิสูจน์
ที่มา http://www.thaivi.com/2010/10/570/
วิตามินซีกับการป้องกันหวัด ???
9 ปีที่ผ่านมา