วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Push-Pull System

การจัดการพัสดุคงคลัง (เช่น วัตถุดิบ ชิ้นงานในระหว่างการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จแล้ว) และการจัดการเรื่องการไหลเวียนของวัสดุในระหว่างการผลิต มีจุดมุ่งหมายหลัก คือ ให้สินค้าถึงมือผู้บริโภคเมื่อมีความต้องการ โดยใช้ต้นทุนที่น้อยที่สุด ซึ่งต้นทุนนี้อาจเกิดจากค่าใช้จ่ายในการสำรองสินค้า ค่าเสียโอกาสหากสินค้าขาดมือ เป็นต้น สามารถจำแนกระบบการจัดการได้เป็น 2 ระบบหลัก คือ Push System (ระบบผลัก) และ Pull System (ระบบดึง)

ความหมายของ Push-Pull System

ใน ระบบ Push การวางแผนเรื่องการไหลเวียนของพัสดุคงคลังในระบบ ถูกจัดทำจากศูนย์ หรือ หน่วยวางแผนส่วนกลาง ซึ่งแผนที่ได้นี้ จะถูกส่งต่อ (Push) ไปยังลำดับขั้นต่อไปของระบบ เช่น ฝ่ายการตลาดคาดคะเนอุปสงค์ของลูกค้า ฝ่ายวางแผนจะกำหนดยอดการผลิต และเมื่อผลิตสินค้าแล้ว จะทำการจัดส่งไปยังหน่วยกระจายสินค้า เพื่อจัดส่งให้ร้านค้าต่อไป

ในระบบ Pull นั้น การวางแผนการผลิตแต่ละขั้นตอน จะเกิดจากอุปสงค์ในลำดับขั้นต่อไปของระบบ เช่น ในสายการผลิตซึ่งต้องเจาะชิ้นงาน แล้วส่งไปตัด แผนกเจาะจะทำการเจาะชิ้นงานให้พอกับความต้องการของแผนกตัดเท่านั้น นั่นคืออุปทานจะเกิดขึ้นเมื่อมีอุปสงค์มาดึง

ความสำคัญและรายละเอียดของ Push-Pull System

ใน ระบบ Push นั้น ปริมาณของพัสดุที่ต้องผลิตจะถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง ซึ่งเมื่อกำหนดปริมาณที่ต้องผลิตแล้ว ฝ่ายวางแผนสามารถกำหนดปริมาณที่แต่ละแผนกในสายการผลิตต้องทำการผลิตได้ค่อน ข้างแน่นอน ตัวอย่างของระบบ Push เช่น เมื่อกำหนดยอดสินค้าชนิด ก จำนวน 1000 ชิ้น แต่ละชิ้นต้องใช้ส่วนประกอบแบบที่ 1 จำนวน 5 ชิ้น แบบที่ 2 จำนวน 1 ชิ้น ดังนั้น ในการวางแผนนี้ ต้องการส่วนประกอบแบบที่ 1 จำนวน 5000 ชิ้น และส่วนประกอบแบบที่ 2 จำนวน 1000 ชิ้น (ทั้งนี้ในการผลิตจริง อาจต้องเพิ่มจำนวนชิ้นงานเผื่อเสีย ตามคุณภาพของการผลิต) นอกจากนี้ ฝ่ายวางแผนมีข้อมูลของกระบวนการและกรรมวิธีที่ต้องใช้ในการผลิตแต่ละชิ้น ส่วน เช่น กระบวนการ ข. สามารถแปรสภาพชิ้นงานจากวัตถุดิบ 1 ชิ้น ให้เป็นส่วนประกอบแบบที่ 2 ได้ จำนวน 2 ชิ้น ดังนั้นกระบวนการ ข. ต้องแปรสภาพวัตถุดิบเพียง 500 ชิ้น เพื่อที่จะได้ส่วนประกอบที่ 2 ตามจำนวนที่ต้องการ ดังนั้น เมื่อทราบยอดสินค้าที่ต้องการ ในระบบ Push สามารถกำหนดปริมาณการผลิตของแต่ละแผนกได้อย่างชัดเจน แต่ไม่ได้ระบุถึงเวลาที่ต้องทำการผลิตแต่ละชิ้นส่วนว่าต้องผลิตเมื่อไหร่ถึง จะเหมาะสม เช่น แผนกที่ผลิตกระบวนการ ข.ทราบว่าต้องผลิตส่วนประกอบที่ 2 จำนวน 1000 ชิ้น เมื่อมีเวลาว่างก็ทำการผลิตส่วนประกอบที่ 2 แต่ส่วนประกอบที่ผลิตที่แผนกอื่นอาจยังผลิตไม่เสร็จ ทำให้เกิดชิ้นงานในระหว่างการผลิตจำนวนมากที่ต้องรอส่วนประกอบอื่นๆ

ใน ระบบ Pull นั้น การวางแผนการผลิตเน้นให้กระบวนการผลิตแต่ละขั้น ทำการผลิตให้พร้อมเสร็จให้ตรงตามเวลาที่ลูกค้ากำหนด ดังนั้น ในกระบวนการย่อยจำเป็นต้องวางแผน ลำดับการผลิต ปริมาณการผลิต โดยต้องคำนึงถึงความสามารถในการผลิตที่มีของแต่ละกระบวนการว่าจะทำได้ตรงตาม แผนที่ต้องการ ตัวอย่างวิธีของระบบ Pull ได้แก่ การส่งแผ่นคัมบัง (Kanban) ไปยังแผนกที่ส่งส่วนประกอบมาให้ เพื่อบอกถึงความต้องการส่วนประกอบ และจำนวนที่ต้องการ ซึ่งเมื่อแผนกที่ได้รับ เห็นแผ่นคัมบัง จะรู้ว่าส่วนประกอบถูกใช้จนถึงระดับที่ต้องมีการเติม หรือต้องมีการผลิตเพิ่ม ซึ่งแผ่นคัมบังจะเป็นตัวช่วยกำหนดให้แผนกที่ส่งส่วนประกอบมาให้เริ่มทำการ ผลิต

ข้อพิจารณาในการปรับใช้ Push-Pull System


จะ เห็นได้ว่าในระบบ Push หากการคาดคะเนอุปสงค์ของลูกค้ามีความคลาดเคลื่อนมาก อาจก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ไม่ตรงตามความต้องการของลูกค้าเป็นจำนวนมาก หรือแม้แต่การเกิดพัสดุคงคลังจำนวนมาก การเลือกใช้ระบบ Push จะเหมาะสม หากมีการคาดคะเนอุปสงค์ของลูกค้าที่แม่นยำ เหมาะกับสินค้าที่ปริมาณอุปสงค์ของลูกค้ามีมากและมีการบริโภคที่รวดเร็ว มีความจำเป็นต้องผลิตเผื่อสำรองเพื่อป้องกันการขาดแคลนสินค้า เหมาะกับกระบวนงานที่ใช้เวลาในการเตรียมการผลิตนาน ต้นทุนในการเตรียมการผลิตสูงหากมีการเปลี่ยนการเตรียมการบ่อย และเหมาะกับระบบการผลิตที่ทำการผลิตอย่างต่อเนื่อง

ระบบ Pull เหมาะกับระบบที่มีการตอบสนองความต้องการในการผลิตที่รวดเร็ว ต้นทุนในการเตรียมการผลิตไม่สูง เหมาะกับกระบวนการที่สามารถควบคุมความไม่แน่นอนได้ดี เช่น สามารถจัดการให้การส่งมอบวัตถุดิบตรงตามความต้องการทั้งด้านปริมาณและเวลา และจะเห็นได้ว่าความจำเป็นของปริมาณพัสดุคงคลังมีน้อยเนื่องจากความสามารถใน การตอบสนองความต้องการที่รวดเร็ว แต่การที่พัสดุคงคลังมีจำนวนน้อยอาจทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุ หากการผลิตเกิดการติดขัด การจะใช้ระบบ Pull ต้องมีความพร้อมและมีมาตรการในการรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เครื่องจักรเสีย หรือการที่วัตถุดิบในการผลิตไม่มาส่งตามเวลาและปริมาณที่ต้องการ เป็นต้น

เพื่อ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การผสมระบบ Push และ Pull อาจเหมาะสมกว่าที่จะใช้ระบบใดระบบหนึ่งเพียงอย่างเดียว เช่น ใช้ระบบ Push ในส่วนของการวางแผนการผลิตที่ใช้เวลาในการผลิตนานๆ และใช้ระบบ Pull ในกระบวนการประกอบชิ้นส่วน เป็นต้น

คำไข ระบบ Push ระบบ Pull

จัดทำโดย อ.สุรพงษ์ ศิริกุลวัฒนา
ที่มา www.ismed.or.th