วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

บิททอร์เรนต์’ กระแสโหลดฟรี






ใครๆ ก็อยากเห็นโลกใบนี้ สงบสุขและเต็มไปด้วยความเอื้ออารีระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แต่เมื่อมีคนนำเอาความเอื้ออารีมาใช้ในทางที่ผิด จนโปรแกรมแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์กันเองในโลกออนไลน์หรือ ที่เรียกกันว่า 'บิททอร์เรนต์' (BitTorrent เป็นโพรโทคอลรูปแบบ peer-to-peer ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยกันโดยตรง ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยมีต้นกำเนิดมาจากความคิดของ แบรม โคเฮน ที่ต้องการให้การส่งผ่านข้อมูลสามารถอำนวยประโยชน์ได้ทั้งขาเข้าและขาออก ซึ่งเขาเริ่มพัฒนามันขึ้นมาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2544)

บิททอร์เรนต์ ถูกนำมาใช้ในทางที่ไม่ค่อยสร้างสรรค์เท่าไหร่นัก ด้วยการจับไฟล์หนัง ไฟล์เพลง ไฟล์เกม และไฟล์ลิขสิทธิ์ทุกสิ่งทุกอย่างอันพึงหาได้ไปไว้ในบิททอร์เรนต์ ให้โหลดกันอย่างสนุกมือ อาการปวดเศียรเวียนเกล้าจึงเกิดขึ้นกับบรรดาค่ายหนัง ค่ายเพลงน้อยใหญ่ ที่ใจหนึ่งอาจจะยินดีเมื่อได้รับความนิยม แต่อีกใจหนึ่งคงคิดว่าแย่แล้วเรา จนปรับกระบวนทัพตามแทบไม่ทัน

มาถึงตอนนี้แล้ว คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธความแรง ชนิดที่ไม่มีใครหน้าไหนเอาอยู่ทั้งนั้นของ บิททอร์เรนต์

จนปีนี้ยอดการดาวน์โหลดที่ได้รับการรวบรวมมาจากเว็บไซต์ทอร์เรนท์ฟรีค เขาบอกว่าแค่หนังเรื่องอวตาร (Avatar) เพียงเรื่องเดียวก็พุ่งทะลุ 16.6 ล้านครั้งไปอย่างสวยงามแล้ว ตามมาติดๆ ด้วยเรื่อง ‘คิก แอส’ (Kick Ass) คิกแอส หนังที่ยอดเข้าชมในโรงหนังดูจะน้อยเมื่อเทียบกับการครองแชมป์อันดับสองที่ 11.4 ล้านครั้ง ส่วนอันดับ 3 คือหนังความฝันซ้อนความฝันหลายชั้นอย่าง ‘อินเซปชัน’ (Inception) ที่คนโหลดกันกระหน่ำ 9.7 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 6 ล้านกว่าครั้ง เมื่อเทียบกับอันดับหนึ่งคือเรื่อง ‘สตาร์ เทรค’ (Star Trek) 10.9 ล้านครั้ง

หรือความแรงนี้จะไม่มีใครหยุดยั้งได้ หรือกระแสของบิททอร์เรนต์จะซัดวงการหนัง เพลง เกมส์ จนล่มจมกันไปข้างหนึ่ง

แหกทุกกฎที่เคยมีมา

ความนิยมดาวน์โหลดแบบบิททอร์เรนต์ หรือถ้าภาษาฮาร์ดคอร์หน่อยเรียกว่า 'สูบ' เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อ แบรม โคเอน หนุ่มอเมริกันเสรีชน เป็นผู้คิดค้นเทคนิคขั้นเทพนี้ขึ้นมาได้ในปี 2544 แล้วก็แพร่กระจายออกไปยิ่งกว่าโรคระบาด เนื่องจากความง่ายดาย กดเพียงแค่คลิกเดียว ไฟล์อะไรก็ตามที่ต้องประสงค์ก็ตกอยู่ในอุ้งมือของคนคลิก

ที่น่าสนใจของการดาวน์โหลดประเภทนี้คือ คนที่โหลดจะต้องมีใจเมตตากรุณากันอยู่สักหน่อย เพราะไม่ใช่แค่ว่าโหลดเสร็จแล้วจะปล่อยให้คนอื่นต้องรอเหงือกแห้งเฉาตาย งานนี้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันพอสมควร เพื่อที่จะปล่อยต่อๆ กันไป เกิดเป็นสังคมคนปล่อยและคนรับ โดยสามารถดึงไฟล์ที่ต้องการออกจากเครื่องของคนปล่อย บางทีก็มีคอมเมนต์ขอบอกขอบใจ ไปถึงขั้นว่ากล่าวหาว่าไฟล์ไร้คุณภาพก็มี (ทั้งๆ ที่โหลดฟรีก็ยังขอวิจารณ์)

แล้วบรรดาไฟล์ทั้งหลายที่ใคร่กระหายอยากจะโหลดกันจนตัวสั่นนั้น ไม่ได้มีแค่เพียงไฟล์หนัง ไฟล์เพลง ไฟล์เกมเท่านั้น แต่ยังมีไฟล์หนังเรต 20+++ รวมอยู่ด้วย เมื่อสุดทางขนาดนี้แล้ว ก็ต้องมีไฟล์ธรรมะกับเขาอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน เรียกว่ารองรับคนทุกกลุ่ม ทุกรูปแบบอย่างแท้จริง

โหลดฟรีย่อมดีกว่าซื้อแผ่นผี

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนทุกเพศทุกวัยที่บ้านมีอินเทอร์เน็ตเลือกใช้บริการบิททอร์เรนต์คงจะหนีไม่พ้นเรื่อง 'ของฟรี' อย่างแน่นอน

อลงกรณ์ คล้ายสีแก้ว บรรณาธิการนิตยสาร Filmax นิตยสารหนังรายเดือน บอกว่า กลุ่มหลักๆ ที่โหลดหนังมักจะเป็นพวกเวลาว่างเยอะมาก นั่งหน้าคอมพ์ ไม่รู้จะทำอะไร เลยโหลดหนังมาดูแก้เบื่อ

“เราสามารถแบ่งคนชอบดูหนังออกได้เป็น 2 กลุ่มง่ายๆ คือ กลุ่มที่อยากดูก่อนไม่ว่าหนังจะมีภาพไม่สมบูรณ์ เสียงจะหาย แย่ขนาดไหนก็จะขอให้ได้ดูก่อน กับอีกกลุ่มคือ ขอภาพคมๆ เสียงเนี้ยบๆ เพื่ออรรถรสในการชมอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งกลุ่มแรกก็จะเป็นคนที่โหลดนี่แหละ

“แล้วคนกลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มเดียวกับคนที่ซื้อแผ่นผีมาดู อยากดูหนังชนโรงฯ มันจะไปแชร์ตลาดกับพวกหนังแผ่นผีมากกว่า ยังไงก็ไม่ดูโรงฯ หรือซื้อแผ่นหนังลิขสิทธิ์อยู่แล้ว”

นั่นทำให้เรื่องของบิททอร์เรนต์ในบ้านเราไม่ค่อยจะตื่นตัวกันมากเท่าไหร่ มีก็มีไป เพราะแผ่นผีก็วางขายท้าทายสายตาประชาชีอยู่ในตลาดนัดทุกแห่ง แต่ในฝั่งของเมืองนอกที่มีการกวาดล้างแผ่นผีอย่างจริงจังเต็มรูปแบบ การเข้ามาของบิททอร์เรนต์จึงเป็นอะไรที่ยิ่งกว่าฝันร้ายตอนกลางวันแสกๆ

บรรณาธิการนิตยสารหนังอธิบายเรื่องนี้ว่า

“ตอนที่ค่ายหนังเขากังวลกันสุดๆ คือตอนที่หนังเรื่อง ‘วูฟเวอรีน’ (Wolverine) ถูกปล่อยออกมาทั้งๆ ที่ยังทำเอฟเฟกต์ไม่เสร็จ นั่นทำให้เขาวิตกกันมาก เพราะถ้ามันปล่อยออกมาหลังจากหนังฉายแล้วก็ว่าไปอย่าง แต่นี่หนังยังไม่ทันได้เข้าโรงฯ ฉายเลย แต่ในอินเทอร์เน็ตกลับมาปล่อยแล้ว เขาเลยจัดการแบนเว็บไซต์ปล่อยบิทฯ เท่าที่จะทำได้ แต่ก็จับไม่ได้ไล่ไม่ทันหรอก”

โหลดควบดูโรงฯ

ในฟากของขาโหลดบิททอร์เรนต์อย่าง ชีวรัตน์ (ขอสงวนนามสกุล) พนักงานบริษัทวัย 28 ปี กล่าวว่า สาเหตุหลักๆ เลยที่ตนรู้คือ เรื่องของฟรีมีอยู่จริง แต่เธอก็ยังชอบดูหนังในโรงหนังมากกว่าอยู่ดี

“ใครก็ชอบของฟรีทั้งนั้นแหละค่ะ อย่างเราเองก็เลือกโหลดเฉพาะเรื่องที่ไม่ได้อยากดูมาก สามารถรอได้ หรือบางทีก็มีบ้างที่พลาดไม่ได้ไปดูในโรงหนัง เพราะจัดเวลากับเพื่อนไม่ลงตัว แล้วก็พวกหนังนอกสายตาที่เราดูหน้าหนังแล้วไม่รู้ว่าสนุก แต่พอโหลดมาแล้วก็สนุกดี แต่ถ้าหนังที่อยากดูจริงๆ ต้องไปดูในโรงหนังเท่านั้น ดูในโรงฯ มันได้บรรยากาศคนละแบบกับดูที่บ้านนะ อย่างดูหนังตลกในโรงฯ มันก็ขำกว่าดูคนเดียวที่บ้าน

“เราไม่ถึงขั้นไปขอให้คนอื่นมาอัปให้หน่อย อยากดูเรื่องนี้มากใจจะขาด อย่างนี้ไม่ทำนะ แต่มันก็มีคนแบบนั้นอยู่ อย่างคนรู้จักที่บริษัทโหลดบิทฯ ก็เพราะไม่อยากเสียเงินไปดูในโรงฯ ซึ่งเราก็คิดว่าคนแบบหลังน่าจะเยอะกว่าแบบเรานะ (หัวเราะ) เพราะหลายๆ เรื่องเข้าไปดูพวกคอมเมนต์ ก็มีมาบอกว่า รอมานานแล้ว ขอบคุณที่ปล่อยนะ อยากดูมากๆ เลย ซึ่งเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ไปดูในโรงฯ ล่ะ”

นอกจากนี้ยังมีกรณีอีกแบบ คือ บิททอร์เรนต์กลายเป็น 'ห้องทดลอง' สำหรับคนชอบดูหนัง ที่ไม่รู้จะไปซื้อแผ่นจากไหน เพราะดันไม่ได้เข้าฉายในบ้านเรา หรือไม่หนังก็เก่าจนไม่มีใครยอมเอามาวางขาย

รัชฏ์ภูมิ (ขอสงวนนามสกุล) เป็นคนหนึ่งที่ถ้าไม่โหลดหนังแล้วก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไงกับอาชีพการงานของตัว เองได้ แต่เขายังกล่าวเพิ่มว่ายังไงมันก็ไม่สามารถเอามาอ้างว่า สิ่งที่ตัวเองทำเป็นเรื่องที่ถูกต้องได้อยู่ดี

“ผมทำงานอยู่ในวงการหนัง แล้วต้องทำรีเสิร์ช หนังที่เลือกโหลดก็เป็นหนังที่หาซื้อไม่ได้ เพราะบางทีมันก็เก่าไป หรือไม่มีขายในไทย แล้วเราต้องหาหนังมาดูให้เยอะๆ จะให้ซื้อเองก็คงไม่ไหว รายได้ไม่สมดุลกับรายจ่ายเลย (หัวเราะ)”

แต่ถ้าหนังที่เข้าโรงฯ ในไทย เขาก็เลือกที่จะอุดหนุนอยู่แล้ว ยกเว้นแต่ว่าหนังจะโดนตัดหรือเซ็นเซอร์ อย่างหลังก็ต้องไปหาดูในอินเทอร์เน็ตอยู่ดี

ความพยายามเฮือกล่าสุด

หากจะต้องต่อสู้กับบิททอร์เรนต์ที่มีดีเพราะฟรีแล้ว ค่ายหนังทั้งหลายจึงต้องพยายามสร้างความแตกต่างระหว่างดูอยู่ที่บ้านกับดูใน โรงหนังให้ได้มากที่สุด เช่น การเข้ามาของ '3 มิติ' และ 'แผ่นบลูเรย์'

อลงกรณ์ ออกความเห็นเรื่องนี้ว่า

“ทำยังไงให้คนกลับมาดูอีก ก็ต้องชวนมาดูในโรงฯ เท่านั้น แม้ ‘อวตาร’ จะถูกโหลดมากที่สุด แต่ในทางกลับกันมันก็เป็นหนังที่ทำรายได้มากที่สุดในตอนนี้ ดีวีดีก็ยังขายดีมาก ทั้งๆ ที่คนก็ไปดูในโรงฯ กันมากมายแล้ว ส่วนโฮม เอนเตอร์เทนเมนต์ ก็ใช้วิธีออกแผ่นบลูเรย์ มันก็ไรต์ยากหน่อย แต่ว่าเดี๋ยวเทคโนโลยีมันก็ตามทันในที่สุด ซึ่งคนในวงการเขาก็ต้องพยายามดิ้นหนีกันให้ทัน”

ปิดท้ายด้วยความเห็นของคนที่ยังนิยมซื้อแผ่นแท้อยู่อย่าง ภัทรพงศ์ ศรศรี พนักงานบริษัทวัย 24 ปี เขาบอกว่า ถึงยังไงแผ่นแท้มันก็มีคุณค่าทางจิตใจมากกว่าโหลดจากบิททอร์เรนต์อยู่แล้ว

“เขาก็อุตส่าห์พยายามผลิตออกมาให้เราใช้ กว่ามันจะคิดออกมาได้แต่ละอย่าง ผมอยากเป็นกำลังใจให้เขาผลิตงานดีๆ ออกมาให้เราดู ให้เราใช้กัน แต่บางคนโหลดแบบจัดยาวสิบเรื่องรวด โหลดมาทิ้งๆ ไว้ในเครื่อง เสร็จแล้วก็ไม่ได้ดู ของที่มันได้มาฟรีๆ คุณค่ามันก็ลดลงไป เขาไม่ได้มีแรงจูงใจในการดูเท่ากับเราที่ไปซื้อมานะครับ”

ที่มา
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK ผู้จัดการรายวัน
ภาพ : ทีมภาพ CLICK ผู้จัดการรายวัน

http://www.artgazine.com/shoutouts/viewtopic.php?t=10911&sid=a385f56101370f18cbd23384a56837fa