วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

โรคร้ายจากภัยโลกร้อน


alien-sick.jpg

องค์การ อนามัยโลกระบุว่า ปัญหาโลกร้อนใช่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังนำโรคร้ายสารพัดสารพันชนิดมาสู่เราโดยไม่รู้ตัว และนี่เป็นตัวอย่างโรคร้ายใกล้ตัวที่มากับโลกร้อนที่พึงรู้และตระหนักในพิษ ภัยเอาไว้ จะได้รับมือกับเจ้าตัวร้ายอย่างรู้เท่าทัน

1. ภาวะเป็นลมจากความร้อนสูงหรือโรคลมเหตุร้อน (Heat Stroke) อย่าเพิ่งชะล่าใจว่าเราเกิดและโตท่ามกลางสภาพอากาศร้อนอบอ้าว เพราะถ้าอุณหภูมิพุ่งขึ้นกว่านี้อีก 7 - 10 องศาเซลเซียส รวมถึงหากออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาในภาวะอากาศร้อนจัดนานๆ จนอุณหภูมิในร่างกายสูงเกินขีดจะทนทานไหว (พุ่งถึง 40 องศาเซลเซียส) ก็จะทำให้เกิด “ภาวะเป็นลมจากความร้อนสูง” ซึ่งน่าสะพรึงกลัวอยู่ไม่น้อย

คนที่มีอาการสังเกตได้จากตัวจะร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ แม้ในตัวจะร้อน แต่กลับไม่มีเหงื่อออก นอกจากนี้ยังปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน และอาจถึงขั้นเกิดอาการช็อกอย่างเฉียบพลันถึงขั้นเสียชีวิตได้หากร่างกายสูญ เสียน้ำและเกลือแร่จนปรับตัวไม่ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอยู่ในบริเวณนั้นคนเดียว

วิธีรับมือ :
รีบนำผู้ป่วยเข้าที่ร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง
คลายเสื้อผ้าเพื่อระบายความร้อน
ประคบผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งที่ศีรษะ ซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน พร้อมใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน
อย่านิ่งนอนใจ รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

2. โรคหัวใจ บางคนอาจสงสัยว่าโรคหัวใจเกี่ยวข้องอย่างไรกับโลกร้อน ทั้งนี้แพทย์แห่งสถาบันคาโรลินสกา สวีเดน ชี้ว่า เพียงโลกร้อนขึ้นอีกไม่กี่องศา อาจทำให้มีผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจมากขึ้น เพราะเมื่ออุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นก็จะขับเหงื่อออกมาเพื่อบรรเทาความร้อน ส่งผลให้เลือดไหลเวียนมากขึ้น หัวใจของเราจึงต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดให้ไหลเวียนทั่วร่างกาย ยิ่งถ้าคนที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว รวมถึงคนสูงวัยที่ระบบการเต้นของหัวใจมีปัญหา อากาศร้อนจะเป็นเพชฌฆาตที่คร่าชีวิตได้เลยทีเดียว

ผู้เชี่ยวชาญยังระบุอีกว่า มลพิษทางอากาศจากปัญหาโลกร้อนก็เป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้ประชากรโลกป่วยเป็น โรคหัวใจมากขึ้นเนื่องจากการสูดดมอากาศพิษเข้าไปมากๆ ปอดจะปนเปื้อนด้วยสารพิษ ส่งผลต่อการทำงานของระบบหัวใจโดยตรง

วิธีรับมือ :
หลีกเลี่ยงการทำให้หัวใจทำงานเร็วผิดปกติจากปัจจัยข้างต้น
งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงที่อากาศร้อนอบอ้าวมากๆ เพราะแอลกอฮอล์จะซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น ร่างกายปรับสภาพไม่ทันถึงขั้นเกิดภาวะช็อกได้

3. ไข้สมองอักเสบ โรคไข้สมองอักเสบมีหลายชนิด แต่ที่พบในไทยส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส JapaneseEncephalitis (JE) ที่เป็นอันตรายถึงชีวิต โดยอัตราการป่วยตายอยู่ในช่วงร้อยละ 20 - 30 พาหะนำโรคร้ายนี้คือยุงรำคาญ (ที่เติบโตและขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วเมื่ออุณหภูมิโลกร้อนขึ้น) ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการในเบื้องต้น ต่อมาจะมีไข้ ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ ง่วงซึม เกร็ง ชักกระตุก หายใจไม่สม่ำเสมอ และในรายที่รุนแรงมากอาจเสียชีวิตในวันที่ 7 - 9 หลังการได้รับเชื้อ แม้ผ่านพ้นระยะนี้ไปได้จะเข้าสู่ระยะฟื้นตัวในช่วง 4 - 7 สัปดาห์ แต่เมื่อหายแล้วผู้ป่วยราวร้อยละ 60 จะมีความพิการเหลืออยู่ เช่น เป็นอัมพาตแบบแข็งเกร็งสมองเสื่อม

วิธีรับมือ :
ยังไม่มียารักษาเป็นการเฉพาะ มีเพียงการรักษาแบบประคับประคองตามอาการเท่านั้น บางรายต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
หลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัดในช่วงพลบค่ำเป็นดีที่สุด

4. อาหารเป็นพิษ ดูจะเป็นโรคที่แสนธรรมดาและเชื่อว่าหลายคนคุ้นเคย แต่โรคนี้ก็ติดโผด้วย เพราะในสภาพที่อากาศร้อนขึ้น แบคทีเรียจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อมีปริมาณมากพอก็จะทำให้ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีเชื้อแบคทีเรียปน เปื้อนอยู่เกิดอาการป่วย เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน มีไข้ ถ่ายเหลว บางรายมีอาการลำไส้อักเสบและปวดเมื่อยตามเนื้อตัว

วิธีรับมือ :
ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงและกินอาหาร
ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุกทุกครั้ง
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือขนมค้างคืนที่ผสมกะทิ
ล้างผักผลไม้ด้วยน้ำไหล หรือแช่ด่างทับทิมทิ้งไว้ 15 นาทีแล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง
เลี่ยงอาหารทะเลสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารทะเลที่กินโดยไม่ผ่านการปรุงสุก (เมนูที่บีบมะนาวใส่โดยเข้าใจว่าอาหารสุกเพราะสีของเนื้อ)

5. ภูมิแพ้จากไรฝุ่น ผศ.นพ. เฉลิมชัย บุญะลีพรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระบุว่า คนจะเป็นโรคภูมิแพ้จากไรฝุ่นมากขึ้น เพราะยุงและแมลงเคลื่อนย้ายข้ามภูมิภาคมากขึ้น ทั้งนี้ไรฝุ่นชอบอยู่ในที่ร้อนและชื้น เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ไรฝุ่นจะยิ่งเพิ่มปริมาณ จึงไม่น่าแปลกใจที่ในปัจจุบันคนไทยวัยผู้ใหญ่เป็นโรคภูมิแพ้ทางจมูก (โรคหวัดเรื้อรังจากภูมิแพ้) เพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน

วิธีรับมือ :
ในเบื้องต้นให้เลี่ยงสิ่งที่แพ้ อาทิ ควันบุหรี่ หรือแพ้ฝุ่น
หลีกเลี่ยงการนอนน้อยเกินไป (น้อยกว่า 6 ชั่วโมง)
หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ในกรณีที่เป็นบ่อยๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาด้วยยารับประทานหรือยาพ่นจมูก

ที่มา

www.vcharkarn.com

http://green.in.th/blog/lifestyle/2393


ภาพ

www.easyvectors.com