ผมเชื่อว่า หัวหน้างานที่มีลูกน้องภายใต้การบังคับบัญชา ส่วนมากทราบกันอยู่แล้วว่า ผู้บริหารระดับสูง และองค์กรต่างคาดหวังการบริหารหรือจัดการงานจากท่านในสองลักษณะ คือ การจัดการงานตามภารกิจหรือหน้าที่งาน เช่น จัดการงานจัดซื้อวัตถุดิบเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต การจัดการเงินเดือนของพนักงานและลูกจ้างรายวัน เป็นต้น ให้บรรลุเป้าหมายที่รับมา และสอดคล้องกับกลยุทธ์การดำเนินงานขององค์กร กับอีกลักษณะหนึ่งก็คือ การจัดการ “คน” ทำงานเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดคุณค่างานที่ดี งานของหน่วยงานสำเร็จ งานขององค์กรในภาพที่กว้างขึ้นก็ลุล่วง
เรียกง่าย ๆ ว่า “จัดการทั้งงาน และจัดการทั้งคน” สองอย่างควบคู่ประกอบกันไป จะเน้นในด้านใดด้านหนึ่งก็อาจจะกระทบกับภาพรวมของการบริหารงาน
ทว่า ในงานสองลักษณะที่ว่าไปนั้น งานด้านที่ชวนให้ปวดหัวมากที่สุดเห็นจะเป็นงานด้านการ “จัดการคน” นี่ล่ะครับ ผมเชื่อว่า หากจะถามหัวหน้างานแล้วล่ะก็ ร้อยทั้งร้อย คงเห็นไม่ต่างไปจากผม ทั้งนี้ เพราะคนทำงานส่วนนึงขับเคลื่อนงานที่รับผิดชอบไปตามสภาพอารมณ์ที่เป็นอยู่ใน แต่ละวัน คู่ขนานไปกับการทำงานตามความเคยชิน หรือประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ฝึกฝนมา และความเป็นเหตุและผล ซึ่งช่วยกำกับทั้งแนวทางการทำงาน ความประพฤติ และการแสดงออกในทางที่อะไรควร ไม่ควร ประกอบกันไป เมื่อใดที่อารมณ์นำเหตุผล การทำงานหรือประสานงานกัน ก็มักจะกลายสภาพเล็กไปเป็นการประสานอารมณ์ โดยมีเหตุผลกำกับลดลงไปตามส่วน
เรื่องที่ผมว่าไปนี้ ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลก เพราะลำพังสมองของมนุษย์เองก็มีสองซีกคือ ซีกที่ว่าด้วยอารมณ์ จินตนาการและความจำ (ขวา) กับซีกที่ว่าด้วยเหตุผล (ซ้าย) นั่นเอง
จริงแท้แค่ไหนก็ลองคิดดูสภาพการใช้ชีวิตการทำงานจริงสิครับ มนุษย์ปุถุชนอย่างเรา วันใดที่ทะเลาะระหองระแหงกับคนที่บ้าน เคลียร์ใจไม่หมด จิตว้าวุ่นไร้ความสงบ แม้บอกว่าสามารถยิ่งกับการตัดอารมณ์ที่ขุ่นมัวจากปัญหาครอบครัวไปได้ ไม่นำเข้ามาพัวพันกับงาน แต่ท่านจะมั่นใจหรือว่า งานที่รับผิดชอบวันนั้น จะราบรื่นเรียบร้อย เหมือนกับวันที่สภาพอารมณ์ปรกติ ผมว่า ยากอยู่ครับ...
ว่าไปแล้ว อารมณ์ก็เลยเป็นเรื่องหลักที่ทำให้การ “จัดการคน” มีความซับซ้อนและยากขึ้นไปอีก
ลองทายสิครับว่า ทักษะหรือสมรรถนะด้านการจัดการเรื่องใดที่มักจะเป็นหัวข้อที่ได้รับความนิยม ในการจัดเป็นหลักสูตรเรียนรู้หรือฝึกอบรมให้กับพนักงานระดับอาวุโส ไล่เรียงไปจนถึงระดับหัวหน้างานขั้นสูง ? …….
ผมว่า ทักษะในการจัดการคน (people management) และการจัดการกับอารมณ์ (emotional management) ครับ.....
ทั้งสองเรื่องนี้ ก็เลยมักจะเป็นสิ่งสำคัญอันหนึ่งที่มักจะปรากฏทั้งในรายการ managerial competency (หรือบางองค์กรอาจกำหนดเป็น leadership competency ก็ไม่แปลกอะไร) และในแผนผังเส้นทางการฝึกอบรมพัฒนา (training and development roadmap) ของหัวหน้างานทั้งหลาย
ทั้งกูรูและกูรู้ด้านการบริหารจัดการหลายท่าน มองว่า หากมองให้ลึกแล้ว แท้จริงนั้น งานด้านการบริหารคนจะพัวพันกับการจัดการกับอารมณ์ของคนเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งครอบคลุมทั้งการจัดการกับอารมณ์คนอื่น (เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง เจ้านาย หรือแม้กระทั่งลูกค้าภายนอก) บางท่านบอกแบบฟังธนธงให้ได้แง่มุมคิดที่น่าสนใจว่า ปัญหาในที่ทำงานส่วนใหญ่เกิดมาจากคน และปัญหาของคน ส่วนมากแล้วก็เกิดจากอารมณ์เป็นหลัก
แล้วอารมณ์แบบไหนหรือที่มีแนวโน้มสร้างปัญหาให้กับองค์กร และหน่วยงานของท่านมากที่สุด ผมเองก็พยายามค้นหางานวิจัยทั้งเชิงวิชาการและกึ่งวิชาการมาช่วยอธิบาย แต่ด้วยข้อจำกัดด้านสติปัญญาและการเข้าถึงข้อมูลของผมก็ยังไม่ชัดเจนนัก จะพบก็เพียงแต่บางมุมมองที่เสนอว่า อารมณ์ที่มักส่งผลกระทบต่อองค์กรและพบบ่อยมาก โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่เจนวายในองค์กรคือ อารมณ์น้อยใจ เพราะผิดหวังในบางสิ่งที่ตนไม่ได้รับ หรือได้รับผิดจากที่คาดคิดไว้ ปกตินั้น อารมณ์น้อยใจ หรือที่เรียกกันแบบชาวบ้าน ๆ ว่า “งอน” นี้ มักมาพร้อมกับความรู้สึกว่าตนไม่ได้รับการให้ความสำคัญหรือคนอื่นมองข้ามตน เองไป
แล้วอารมณ์อื่นน่ะมีมั้ย....ขอตอบว่ามีมากครับ จนยากที่จะนำมาพูดถึงได้หมด แต่หากจะกล่าวกันเพียงอารมณ์ไม่ส่งผลกระทบอย่างแรงกับองค์กร ผมว่าน่าจะได้แก่ อารมณ์โกรธ (angry) ซึ่งมักจะเกิดจากการที่คนเราไม่ได้รับการตอบสนองหรือไม่ได้รับในสิ่งที่ตน เองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมสันทนาการหรือการทำงานระหว่างกัน อารมณ์แบบนี้ เข้าใจกันง่าย ๆ ได้ว่า “อารมณ์เสีย”
แต่ไม่ว่าอารมณ์ใดที่เกิดขึ้นกับคนในหน่วยงานของท่าน หรือแม้แต่เกิดกับท่านเอง นอกเหนือไปจาก “อารมณ์งอน และอารมณ์เสีย” แล้ว ผลที่มักจะตามมาเสมอคือบรรยากาศในการทำงานที่เริ่มตึงเตรียด ไม่สามัคคี ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน พนักงานเกิดความรู้สึกไม่พึงพอใจต่อการทำงาน หมดกำลังใจ กระทั่งขาดความผูกพัน หรือความทุ่มเทต่อการทำงาน นำมาซึ่งการถอนตัว (withdrawal) หรือลาออกจากองค์กรไปเอาดีดาบหน้า ซึ่งผู้บริหารจำเป็นอย่างมากที่จะต้องให้ความสำคัญและตระหนักถึงผลกระทบที่ จะเกิดขึ้นกับการดำรงชีวิตในการทำงานร่วมกันของคนในองค์กร
ผมอยากแลกเปลี่ยนมุมมองกับหัวหน้างานว่า ในฐานะที่ท่านเป็นผู้นำที่มีผู้ตาม ไม่ว่าจะมากหรือน้อย คงต้องหันมาใส่ใจกับสภาพอารมณ์ของคนที่ทำงานร่วมกัน ควบคู่ไปกับความสนใจทักษะความสามารถในทางเทคนิคที่จะทำให้งานบรรลุเป้าหมาย แบบมองสองทาง ให้น้ำหนักเทียงเคียงกัน เพราะปัญหาของคนส่วนใหญ่ก็มาจากอารมณ์ที่มีขึ้นมีลง ในทำนองจิตมนุษย์นั้น ยากแท้ หยั่งถึง... การเป็นหัวหน้าที่ดี จึงจำเป็นที่จะต้องสอนให้น้อง ๆ ในทีม รู้จักจัดการอารมณ์ของตนเอง และจัดการกับอารมณ์ของคนอื่นให้เป็น หากทำได้ ปัญหาในการทำงานร่วมกันของคนก็ย่อมจะลดลง หากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดใด ก็ไม่ยากมากนักที่จะจัดการ
แต่สุดท้ายแล้ว อารมณ์ของตัวเองนี่ล่ะครับที่จัดการได้ยากที่สุด ยากยิ่งกว่าการจัดการกับอารมณ์คนอื่นอีกหลายเท่านัก ด้วยเหตุนี้ หากท่านจะจัดการอารมณ์คนอื่นให้ได้ผล โดยเฉพาะสองอารมณ์ที่ผมว่าไปแล้ว ควรอย่างยิ่งที่ท่านจะจัดการกับอารมณ์ของตนเองให้ได้ก่อน จะด้วยเทคนิคใดก็ตาม ผมไม่ขอกล่าวถึง แล้วจึงค่อยไปปรับอารมณ์คนอื่น
ท่านเห็นด้วยไหมว่า EQ ที่เยี่ยมยอดของคนเราก็คือ การจัดการกับอารมณ์ตนเองได้เป็นอย่างดี....ไม่ใช่เพียงการจัดการกับอารมณ์๘ ของคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น
ที่มา http://www.tpa.or.th/writer/read_this_book_topic.php?bookID=2245&read=true&count=true