วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สีของปัสสาวะ



       เราอาจเคยทราบมาบ้างว่าสีของปัสสาวะนั้นบ่งชี้ถึงสุขภาพ แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าสีจากของเหลวที่เราขับถ่ายออกจากร่างกายนั้น ยังมีหลากเฉดราวกับสีรุ้งด้วย ซึ่งบ่งชี้ถึงปัญหาและวิกฤตที่เกิดขึ้นภายในร่างกายเราได้เป็นอย่างดี 
       
       ฮีเธอร์ เวสต์ (Heather West) นักวิทยาศาสตร์ประจำห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลทาโคมา (Tacoma General Hospital) ในวอชิงตัน สหรัฐฯ เป็นผู้หนึ่งที่ได้พบเห็นสีสันของปัสสาวะจากผู้ป่วยในโรงพยาบาลอยู่เสมอ และเธอได้บันทึกภาพตัวอย่างปัสสาวะเหล่านั้นเผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งเธอบอกไลฟ์ไซน์ว่า ผู้ที่ได้เห็นไม่เชื่อว่านั่นคือปัสสาวะจริงๆ และเข้าใจว่าเธอกับเพื่อนร่วมงานคงเติมอะไรลงไปแน่ๆ
       
       หน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ประจำห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลที่ไม่ได้เห็นแค่สีสันอันน่าอัศจรรย์ของปัสสาวะ แต่ภารกิจภายในห้องปฏิบัติการปิดทึบในใต้ถุนอาคารโรงพยาบาลของเวสต์วัย 26 ปี มีบทบาทสำคัญต่อผู้ป่วยทุกคน เพราะสีสันของปัสสาวะเหล่านั้นบ่งบอกถึงวิกฤตในสุขภาพผู้ป่วย
       
       คริสเตน กรีน (Kirsten Greene) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการศึกษาเกี่ยวกับระบบปัสสาวะ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ อธิบายไลฟ์ไซน์ถึงความสำคัญของสีปัสสาวะว่า หน้าที่ของเธอไม่เพียงแค่ดูสีสันของปัสสาวะ แต่หากปัสสาวะเหล่านั้นเป็นสีแดงหรือสีเลือดมากๆ เป็นสัญญาณชัดเจนว่ามีการติดเชื้อหรือเป็นมะเร็ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอจะวิตกเป็นอย่างมาก
       
       สำหรับสีสันของปัสสาวะหลักๆ บ่งชี้ถึงสุขภาพได้ ดังนี้
       
       สีแดง 
       เลือดเป็นปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ปัสสาวะเป็นสีแดง และเป็นสัญญาณเตือนถึงปัญหาสุขภาพ ซึ่งกรีนบอกว่าในฐานะผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินปัสสาวะเธอจะเป็นกังวลต่อผู้ป่วยที่มีปัสสาวะเป็นสีนี้ โดยมะเร็งกระเพาะปสสาวะ การติดเชื้อ รวมทั้งนิ่วในไต ล้วนเป็นสาเหตุให้เลือดออกและแสดงผ่านปัสสาวะ ซึ่งทั้งหมดควรจะรีบไปพบแพทย์ นอกจากนี้การกินหัวบีทมากๆ ก็ทำให้ปัสสาวะกลายเป็นสีชมพูได้เช่นกัน
       
       สีส้ม 
       ปัสสาวะสีเข้มบ่งบอกถึงสุขภาพที่มีปัญหา โดยโรคมะเร็งตับทำให้ปัสสาวะมีสีน้ำตาลเข้ม เพราะมีสาร “บิลิรูบิน” (bilirubin) มากเกินไป ซึ่งสารดังกล่าวคือเม็ดสีสีน้ำตาลที่ตับผลิตออกมา การใช้ยาแก้ปวดชื่อ “ฟีนาโซไพริดีน” (phenazopyridine) หรือไพริเดียม (Pyridium) ก็ทำให้ปัสสาวะมีสีส้มสว่าง ยาดังกล่าวจะให้แก่ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ นอกจากนี้ยาปฏิชีวนะก็เปลี่ยนสีปัสสาวะให้เป็นสีส้มได้ หรือใครที่กินแครรอทมากๆ จนผิวเปลี่ยนสีส้มก็จะมีปัสสาวะสีส้มด้วยเช่นกัน
       
       สีเหลือง 
       หลายคนแสดงอาการขาดน้ำให้เห็นในปัสสาวะ โดยให้ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม หากไม่ได้รับน้ำอบ่างเพียงพอ เม็ดสีที่เรีกยว่า “ยูโรโครม” (urochrome) จะมีความเข้มข้นมากในปัสสาวะ หรืออีกด้านหนึ่งผู้ป่วยที่ที่ได้รับสารเหลวผ่านทางหลอดเลือดดำจะมีน้ำในร่างกายมาก จึงสร้างปัสสาวะที่ใสเกือบจะไม่มีสี ส่วนปัสสาวะสีเหลืองขุ่นๆ นั้นมีสาเหตุจากการติดเชื้อ
       
       สีน้ำเงิน 
       สำน้ำเงิน เป็นสีปัสสาวะที่พบได้ค่อนข้างน้อย มักเกิดจาการใช้ยาหรือให้สารเคมีแก่ผู้ป่วย โดยยาที่ชื่อ “เมทิลีนบลู” (methylene blue) ที่เคยถูกใช้เป็นยาบำบัดรักษามาลาเรียระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 คือตัวการอันดับหนึ่งที่ทำให้ปัสสาวะมีสีนี้ ซึ่งยาดังกล่าวใช้เพื่อบำบัดอาการเป็นพิษเนื่องจากคาร์บอนมอนอไซด์ และใช้เป็นสีย้อมระหว่างผ่าตัด โดยให้ปัสสาะเป็นได้ทั้งสีเขียวและน้ำเงิน
       
       ยังมีตัวยาอื่นๆ ที่ใช้ในทางการแพทย์แล้วให้ปัสสาวะเป็นสีน้ำเงิน เช่น ไวอากรา อินโดเมทาซิน และโพรโพฟอล ยาระงับความรู้สึกที่มีความเชื่อมโยงต่อการเสียชีวิตของ ไมเคิล แจ็คสัน (Michael Jackson) ราชาแพลงป๊อป นอกจากนี้ลักษณะทางพันธุกรรมยังส่งผลต่อการแตกสลายของสารอาหารซึ่งเป็นสาเหตุให้ปัสสาวะกลายเป็นสีน้ำเงินได้ แม้กระทั่งสีผสมอาหารสีน้ำเงินก็ส่งผ่านไปยังปัสสาวะได้ในบางครั้ง
       
       สีเขียว 
       ปัสสาวะสีเขียวเป็นกรณีของปัสสาวะสีน้ำเงินที่เจือจาง และในบางครั้งการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะก็ทำให้ปัสสาวะกลายเป็นสีเขียวด้วย
       
       สีครามและสีม่วง 
       ปัสสาวะสีม่วงเข้มนั้นมาจากผู้ป่วยที่การทำงานของไตล้มเหลว ดดยเวสต์อธิบายว่าปกติไตควรจะทำหน้าที่ในการกรองเลือดและกำจัดของเสียในร่างกายของเราออกไป แต่เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับไตก็จะมีเลือดจำนวนมากหลุดออกไปพร้อมปัสสาวะ และยังมีกรณีที่ผู้ป่วยสวนสายปัสสาวะก็อาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่พบไม่บ่อยที่เรียกว่า “เพอร์เพิลยูรีนแบ็กซินโดรม” (purple urine bag syndrome) ที่ให้ปัสสาวะสีม่วง ซึ่งสัมพันธ์กับการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะและภาวะที่ปัสสาวะมีความเป็นด่างสูง และอาการทางพันธุกรรมที่เรียกว่า “พอร์ฟีเรีย” (porphyria) ก็กระตุ้นให้ปัสสาวะเป็นสีม่วงเช่นกัน 


ที่มา http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000078189