วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ศึกสุดยอดแห่งวงการสามมิติ แว่น Active 3-D หรือ Passive 3-D อันไหนดีกว่ากัน?



ตอนที่ผมรีวิว LG Optimus 3D MAX ผมได้อุทิศ 1 ตอนเต็มๆ เพื่อเขียนถึงเทคโนโลยีการแสดงผลแบบสามมิติแบบต่างๆ ให้ได้อ่านกัน นอกเหนือจากแค่พูดถึงเทคโนโลยีที่ใช้กับตัว LG Optimus 3D MAX เอง … สำหรับการนำเสนอภาพสามมิติผ่าน Smartphone/Tablet มันมีข้อด้อยตรงที่การโฟกัสของสายตา ที่ทำให้กล้ามเนื้อตาล้าเอาได้ง่ายๆ แต่ถ้าเป็นการใช้แว่นตาเพื่อช่วยในการกรองภาพให้เหมาะสมกับดวงตาแต่ละข้าง มันจะลดทอนปัญหานี้ให้น้อยลงได้ แต่มันก็มีคำถามตามมาอีกว่า … แล้วแว่นตาแบบไหนล่ะ ระหว่าง Active 3-D หรือ Passive 3-D ถึงจะเจ๋งที่สุด

ทบทวนพื้นฐานเรื่องการนำเสนอภาพสามมิติก่อน

ก่อนที่เราจะไปเริ่มเนื้อหาหลัก ผมขอทบทวนพื้นฐานกันก่อนนะครับ เผื่อใครที่ยังไม่ได้ไปอ่านบล็อกตอนเก่าของผม ก็จะได้ทราบคร่าวๆ ก่อน …​ ความลับของการนำเสนอภาพเป็นสามมิติก็คือการเข้าใจถึงการทำงานของดวงตาของเรานั่นเอง …​ เรามองเห็นภาพเป็นสามมิติ เพราะดวงตาของเราเห็นภาพเดียวกันจากมุมมองที่ต่างกัน แล้วสมองของเราเป็นหน่วยประมวลผลภาพที่ยอดเยี่ยมมาก นำภาพทั้งสองมุมนั้นมารวมกัน กลายเป็นภาพเดียว ที่เห็นทั้งกว้าง ยาว และ ลึก

อธิบายการมองเห็นภาพเป็นสามมิติของคนเรา

การนำเสนอภาพให้ดวงตาของเรามองเห็นเป็นสามมิติ ก็คือการนำภาพเดียวกันที่ถ่ายจากมุมสองมุม เหมือนกับภาพที่ได้เห็นจากดวงตาแต่ละข้างไปนำเสนอให้ดวงตาแต่ละข้างได้เห็น ซึ่งทั้ง Active 3-D Glasses และ Passive 3-D Glasses ก็จะใช้วิธีการแตกต่างกันไปครับ

Active 3-D Glasses

คำว่า Active หมายถึง ตัวแว่นนี่มีการทำงานอะไรบางอย่าง ซึ่งนั่นก็คือตัวชัตเตอร์ที่ทำหน้าที่ปิดเลนส์แต่ละข้างสลับกันไปมา ซึ่งจะ Sync กับการนำเสนอภาพบนหน้าจอครับ … พูดง่ายๆ คือ หน้าจอแสดงผล จะทำการแสดงผลภาพแบบเต็มๆ สำหรับดวงตาแต่ละข้างสลับกันไปมาด้วยความเร็วสูง ส่วน Active 3-D Glasses นี่ก็จะทำงานแบบสอดประสานกับจังหวะการแสดงผล ปิดและเปิดชัตเตอร์ของเลนส์แต่ละข้าง เพื่อให้ดวงตาของเราได้เห็นภาพที่เหมาะสม แล้วดวงตาของเราก็จะเหมือนกับเห็นภาพจากสองมุมมอง และสมองของเราก็จะทำการประมวลผลให้กลายเป็นภาพสามมิติไป

Active Glasses จะมีชัตเตอร์คอยปิดเลนส์แต่ละข้างสลับไปมา

ดูการทำงานของ Active 3-D Glasses จากภาพข้างบนได้ (Credit: CNET.com)

Passive 3-D Glasses

ตรงกันข้ามกับคำว่า Active … คำว่า Passive คือ ตัวแว่นจะไม่ได้มีการทำงานอะไรเลย … แต่เทคนิคที่ใช้กับ Passive 3-D Glasses มีหลายแบบครับ แต่ในที่นี้ผมจะพูดถึงที่ใช้กับโทรทัศน์แบบ 3D ซึ่งใช้เทคนิคที่เรียกว่า Polarization Glassed หรือที่บางคนเรียกว่าแว่นตัดแสงครับ …  ดูรูปด้านล่างนี่ครับ (Credit: Howstuffworks.com) จะเห็นว่าภาพถูกแสดงออกมาสองภาพพร้อมๆ กัน โดยภาพหนึ่งจะถูกนำเสนอโดยใช้แสงที่เดินทางไปในทิศทางหนึ่ง (ลูกศรสีน้ำเงิน) ส่วนอีกภาพก็จะถูกนำเสนอโดยใช้แสงที่เดินทางไปในอีกทิศทาง (ลูกศรสีเขียว) ส่วนแว่นก็จะทำหน้าที่กรองแสงเพื่อให้ตาแต่ละข้างของเราได้เห็นเฉพาะภาพที่เหมาะสมเท่านั้น

การทำงานของแว่น Polarized

ถ้าเราเอาภาพบนจอแบบ Passive มาดูใกล้ๆ จะเห็นว่าหากไม่มองผ่านแว่น เราจะเห็นภาพแบบ 2 เส้นตัดกันไปมา นั่นคือภาพสองภาพสำหรับดวงตาแต่ละข้างถูกแสดงให้เห็นพร้อมๆ กัน … แต่เมื่อมองผ่านแว่น Polarized แล้ว จะเห็นว่าเส้นหายไปเส้นหนึ่งครับ นั่นคือ เราได้เห็นเฉพาะภาพสำหรับดวงตาข้างหนึ่งนั่นเอง (Credit: CNET.com)

(ซ้าย) ภาพบนจอ Passive 3-D แบบมองไม่ผ่านแว่น (ขวา) ภาพบนจอ Passive 3-D แบบมองผ่านแว่นข้างนึง

คำถามคือ Active 3-D หรือ Passive 3-D อันไหนดีกว่ากัน?

สองค่ายใหญ่ที่ปะทะกันเรื่อง Active 3-D กับ Passive 3-D ก็คือ Samsung กับ LG ครับ โดย Samsung จะใช้ Active 3-D ในขณะที่ LG นั้นถือหาง Passive 3-D อยู่ … แต่ดูท่า LG จะพยายามชี้ให้เห็นถึงจุดเด่นของ Passive 3-D มากกว่า โดยทำเป็นวิดีโอคลิปออกมาเยอะแยะเลยครับ แต่ผมว่าที่สรุปจุดเด่นของ Passive 3-D ได้ดีที่สุดก็น่าจะเป็นคลิปข้างล่างนี่


อ๊ะๆ แต่อย่าเพิ่งคิดว่า Passive 3-D นี่ดีสุดยอดที่สุดแล้วนะครับ … ผมเสียดายที่ทาง Samsung เขาไม่ได้ทำคลิปวิดีโอมาโพสต์บน YouTube เพื่อตอบโต้คลิปของ LG (หรือผมหาไม่เจอก็ไม่รู้) เลยไม่สามารถเอาคลิปของอีกฝ่ายมาแย้งได้ แต่ไม่เป็นไร เดี๋ยวเรามาคุยกันเองก็ได้นะ
จุดเด่นของจอที่ใช้เทคนิค Active 3-D นั้นภาพที่ได้มีความคมชัดเต็มรูปแบบ เพราะไม่ต้องนำเสนอภาพสองภาพขึ้นบนจอพร้อมๆ กัน ดังนั้น ภาพที่เป็น 1080p นั้นก็จะคมชัดระดับ 1080p จริงๆ แต่ข้อเสียของจอ Active 3-D นี้ก็คือการที่มันใช้เทคนิคชัตเตอร์เพื่อปิดภาพสลับเป็นระยะๆ ก็เลยทำให้ภาพนั้นดูมืดลง (ผลจากช่วงที่ปิดเปิดชัตเตอร์) ซึ่งผลที่ตามมาคือ หาก Refresh Rate ไม่สูงมากพอ ก็จะรู้สึกกระพริบด้วย ซึ่งเจอแบบนี้นานๆ ดวงตาก็เกิดอาการล้าได้ … วิธีคำนวณ Refresh Rate ของจอแบบ Active 3-D นี่ต้องเอาค่าที่ได้มาหารสองครับ … และที่สำคัญที่สุดคือ แว่นแบบ Active 3-D นั้นต้องใช้แบตเตอรี่ครับ ซึ่งหากหมด ก็จะใช้งานไม่ได้ ต้องเสียเวลาชาร์จเพิ่ม และตัวแว่นก็มีราคาแพงด้วย

Samsung ก็ชูจุดเด่นของแว่น Active 3-D ที่เหนือ Passive 3-D

จุดเด่นของจอที่ใช้เทคนิค Passive 3-D ก็คือ ภาพที่ได้จะสว่างกว่าแบบ Active 3-D แล้วก็ไม่เกิดปัญหาจอกระพริบ ดวงตาไม่เกิดอาการล้าเมื่อจองมองหน้าจอไปนานๆ เมื่อก่อนเทคนิค Polarization นี่เป็นแบบ Linear Polarization ซึ่งจะมีปัญหาเวลาที่ไม่ได้มองภาพในแนวตรง แต่หลังจากที่มีการปรับเทคนิค Polarization ให้เป็นแบบ Spiral แล้ว ก็ทำให้ปัญหานี้หมดไปครับ จอมองหน้าจอในมุมไหนก็สามารถดูภาพสามมิติได้สบายๆ ข้อดีอีกอย่างคือแว่นมีน้ำหนักเบามาก และราคาถูกด้วย และไม่ต้องกลัวแบตเตอรี่หมด เพราะไม่มีแบตเตอรี่ แต่จุดด้อยของจอที่ใช้เทคนิค Passive 3-D ก็คือ ภาพที่เห็นจะมีความคมชัดแค่ครึ่งเดียว เพราะว่ามันต้องแสดงผล 2 ภาพพร้อมๆ กันนั่นแหละครับ
ส่วนเรื่องของน้ำหนักแว่นนั้น เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยจะเป็นประเด็นเท่าไหร่แล้ว เพราะแว่น Active 3-D รุ่นใหม่ที่
ผมเจอคลิปวิดีโอหนึ่งที่รีวิวจอ 3-D ของ Samsung และ LG ได้น่าสนใจมาก และเห็นภาพชัดทีเดียวถึงข้อดีข้อเสีย อยากให้ดูกันครับ


จากในคลิปข้างบน ผมก็ยังแปลกใจอยู่นิดๆ ว่าทำไมแว่นแบบ Active 3-D มันถึงมีปัญหาเวลาตะแคงดูหน้าจอ ซึ่งทำให้มองภาพไม่เห็นเลย …​ แต่เดาว่าคงเป็นเพราะการที่แว่นแบบ Active 3-D ใช้แว่นที่เป็นจอผลึกเหลวในการเป็นชัตเตอร์เพื่อเปิดปิดเลนส์ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาแบบเดียวกับแว่นที่เป็น Linear Polarization ครับ

โดยสรุปแล้วในภาพรวม Active 3-D หรือ Passive 3-D อันไหนดีกว่ากัน?

ณ ตอนนี้ ถ้าไม่ติดใจเรื่องคุณภาพความคมชัดว่าจะต้องเต็มๆ 1080p ละก็ ผมว่าในภาพรวมแล้วจอภาพแบบที่เป็น Passive 3-D นั้นคุ้มค่ากว่าครับ ทั้งในแง่ของการใช้งาน และราคาของแว่น แต่ในระยะยาวนั้น เมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนามากขึ้น หลายๆ อย่างที่เป็นจุดด้อยของเทคนิค Active 3-D  ก็อาจจะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป เช่น Refresh Rate ที่ด้อย ซึ่งแม้ว่ายังไงเสียก็ยังด้อยกว่า Passive 3-D แต่ว่ามันจะไปถึงจุดที่ดวงตาของเราจะไม่ทันรับรู้ถึงการกระพริบครับ เรื่องแบตเตอรี่ก็อาจจะได้ชนิดที่สามารถใช้งานได้ยาวนานขึ้น …​ ในขณะที่ความละเอียดของจอที่อาจจะเพิ่มเป็น 4K (2160p) หรือ 8K ในอนาคต ก็จะทำให้ภาพคมชัดขึ้นอย่างมาก จนแม้ว่าความละเอียดจดหดหายไปครึ่งหนึ่งก็คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไรอีกเช่นกัน

ที่มา http://www.kafaak.com/2012/06/14/active-or-passive-glasses-which-one-is-the-best/