วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

ดับร้อนให้บ้านไม่พึ่งแอร์

เคล็ดลับทำง่าย....สบายกระเป๋า

ด้วย สภาวะอากาศบนโลกที่ร้อนรุ่ม ไม่ว่าหันไปทางไหนเดินไปทางใดก็มักจะเจอแต่ผู้คนบ่นอุบถึงสภาวะอากาศร้อน ทั้งกลางวันและกลางคืน สิ่งเหล่านี้เป็นตัวที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตของประชากร โดยเฉพาะภายในบริเวณที่พักอาศัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทุกคนต้องใช้ชีวิตประจำ วัน ยิ่งต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ หากคิดแบบง่าย ๆ โดย “ไม่แคร์โลก” แค่ติดแอร์ในบ้านทุกอย่างก็จบ แต่ความร้อนจากแอร์ก็ยิ่งเพิ่มความร้อนให้กับโลก

สำหรับคนที่มี เงินในกระเป๋าน้อยสามารถคลายร้อนให้กับบ้านเพื่อให้บ้านเย็นสบายเมื่ออยู่ อาศัยได้ โดย ผศ.ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต แนะนำว่า ด้วยภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงทำให้ผู้อยู่อาศัยประสบปัญหาเมื่ออยู่ใน บ้านที่มีอากาศร้อนมากขึ้น ต่างจากเดิมที่บ้านถูกออกแบบมาเพื่อรองรับอาชีพเกษตรกรรม แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก เนื่องจากเนื้อที่บ้านค่อนข้างมีน้อย เพราะราคาที่ดินค่อนข้างสูง ผู้อยู่อาศัยหลายคนต้องเช่าคอนโดอยู่ ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้ การออกแบบบ้านเน้นการใช้พื้นที่เต็มความจุมากเกินไป จนไม่คำนึงถึงทิศทางการระบายของลม

“มนุษย์พยายามพึ่งพิงเทคโนโลยี มากกว่าการใช้ธรรมชาติเป็นเครื่องช่วยในการออกแบบบ้านให้มีความ เย็นสบาย ด้วยแนวคิดนี้ทำให้มนุษย์พยายามเอาชนะธรรมชาติ ซึ่งหากมีพื้นที่รอบบ้านควรปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้ทางทิศตะวันตกและทิศใต้ เนื่องจากแดดจะส่องบริเวณดังกล่าวนานและแรงกว่าทิศอื่น ขณะเดียวกันไม่ควรวางตำแหน่งห้องนอนหรือห้องใดๆ ที่ใช้เป็นประจำอยู่ทิศนี้เพราะจะทำให้มีความร้อนผ่านเข้ามาในห้องได้ มากกว่าปกติ แต่ทิศดังกล่าวควรตั้งห้องครัวเพื่อให้แดดฆ่าเชื้อโรคหรือแก้โดยติดชายคาให้ ยื่นกันแดด” ผศ.ดร.นฤพนธ์ กล่าว

บ้านที่มีพื้นที่แคบไม่สามารถ ปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ได้หรือห้องเช่าที่ไม่สามารถต่อเติมบ้านได้วิธีป้องกัน ไม่ให้ได้รับความร้อนแบบง่ายๆ ไม่เปลืองเงิน คือ ใช้แผ่นโฟมปิดไว้ที่ผนังทางทิศตะวันตกและทิศใต้ ที่แสงแดดจะส่องด้านนี้นานกว่าทิศอื่น โดยติดแผ่นโฟมไว้ที่กำแพงได้ทั้งด้านนอกและด้านใน โดย จะใช้หลักการเดียวกันกับกระติกใส่น้ำแข็งที่เก็บกักความเย็นไว้ในห้อง

ขณะ เดียวกันในกรณีที่บ้านมีหลังคาเป็นตัวนำความร้อน เช่น หลังคาสังกะสี ควรทาสีขาวทับเพราะเป็นสีที่สะท้อนความร้อน ควรหลีกเลี่ยงการทาสีดำหรือสีเข้ม ๆ ที่กักเก็บความร้อนทำให้ผู้ที่อยู่ใต้หลังคาได้รับความร้อน ในบางกรณีที่หลังคามีความร้อนมากสามารถนำแผ่นโฟมมาทำเป็นฝ้าแทนหรือนำกล่อง ใส่ของที่ไม่ได้ใช้มารองใต้หลังคากันความร้อน ตลอดจนนำสแลนมาขึงกรองความร้อนไว้ใต้หลังคา

ส่วนบนหลังคาที่นำ ความร้อนสามารถนำหลังคามุงจากมาปูทับหลังคาสังกะสีเพื่อบรรเทาความร้อน ขณะที่ช่วงกลางวันที่แดดร้อนจัดสามารถนำน้ำไปราดบนหลังคาเพื่อบรรเทาความ ร้อนได้เช่นกัน นอกจากนี้ในทิศตะวันตกและทิศใต้ของบ้านสามารถนำสแลนมาขึงหรือสร้างระแนงให้ ไม้เลื้อยเป็นที่บังแดด และ ไม่ควรหันหัวนอนไปบริเวณทิศดังกล่าวเนื่องจากมีความร้อนสะสมที่เกิดจากการ ส่องของแสงอาทิตย์ตั้งแต่กลางวันบนวัตถุ เช่น เตียงนอนทำให้นอนไม่สบายตัว

นอก จากนี้เครื่องใช้ ไฟฟ้าเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดความร้อนในห้องนอน เช่น ตู้เย็นที่จะมีการระบายความร้อนออกมาอยู่เสมอจึงไม่ควรไว้บริเวณที่นอน เช่นเดียวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ก็ไม่ควรไว้ในบริเวณรอบที่นอนเพราะความร้อนจากเครื่องใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มความ ร้อนให้ห้องได้ ส่วน การเลือกพัดลม ควรเลือกพัดลมเพดานที่พัดความเย็นให้กระจายทั่วห้องทำให้วัตถุที่อมความร้อน ได้คลายตัวลง ต่างจากพัดลมตั้งโต๊ะที่ความเย็นส่วนใหญ่ กระจุกตัวอยู่ที่วัตถุตรงหน้าที่พัดลมพัดเท่านั้น

สิ่งสำคัญอีก ประการคือ ควรให้มีพื้นที่ซึ่งเป็นทิศทางลมเข้าและออกได้ โดยการ จัดห้องไม่ควรวางของไว้เกะกะเพราะอาจบังทิศทางลมในการเคลื่อนตัว นอกจากนี้เคล็ดลับสำคัญ เมื่อกลับบ้านควรเปิดหน้าต่างให้ลมเข้าประมาณ 15 นาที เพื่อให้ลมเข้าไประบายความร้อนในวัตถุต่าง ๆ ที่อมความร้อนตลอดทั้งวันเมื่อเราปิดบ้าน

ไม่ว่าคุณจะอยู่บ้าน เดี่ยวหรือหอพักสิ่งที่ต้องคำนึงอยู่เสมอคือ พื้นที่เพื่อให้มีต้นไม้ให้ร่มเงา สิ่งเหล่านี้ควรมีกฎหมายมารองรับในส่วนของผู้ประกอบการหอพักที่มักใช้ พื้นที่ในการสร้างจนเต็ม ซึ่งอย่าลืมว่า ไม่ว่ามนุษย์จะพยายามเอาชนะธรรมชาติเพียงไรไม่สามารถทำได้ ดังนั้นต้องเร่งสร้างจิตสำนึกให้กับผู้ประกอบการ

บ้านไม่ว่าจะลักษณะใด ล้วนจำเป็นต้องออกแบบมาให้อยู่ได้อย่างสบาย เพราะบ้านนั้นคือ แหล่งที่พักพิงหลักที่สำคัญของมนุษย์นั่นเอง.

ข้อควรรู้แต่งบ้านดับร้อน

1. ควรปลูกต้นไม้ที่ให้ร่มเงา เช่น มะม่วง จำปี ไว้รอบบริเวณบ้าน สามารถให้ดอกผลป้องกันแดดได้ดี ส่วนทิศเหนือควรปลูกไม้พุ่มเตี้ยเพื่อไม่ให้บังลม ขณะเดียวกันต้นไม้ที่มีใบเล็กละเอียดสามารถกรองซับความจ้าของแสงและสะท้อน ความร้อนไปได้ส่วนหนึ่ง เช่น ต้นแก้ว ต้นเข็ม ฯลฯ

2. ความยาวของชายคาบ้าน ทางทิศเหนือนั้นจัดว่าได้รับแสงจ้าน้อยกว่าทิศอื่น ๆ จึงไม่จำเป็นต้องมีชายคายาวมาก แต่สำหรับทิศใต้นั้นในฤดูหนาวดวงอาทิตย์จะทำมุมต่ำทำให้หน้าต่างด้านนี้ต้อง การชายคาคลุมยาวขึ้น ส่วนทิศตะวันออกและตะวันตก ความยาวของชายคาอาจไม่เพียงพอต่อการสร้างร่มเงาบนผนังและช่องหน้าต่างได้ เพราะแดดในทิศนี้ทำมุมต่ำมาก อาจเสริมด้วยกันสาดหรือแผงบังแดดในลักษณะต่าง ๆ ตามความเหมาะสม

3. ผนังบ้าน ควรเลือกใช้วัสดุทำผนังที่มีโครงสร้างเบาได้แก่ ผนังโครงสร้างไม้หรือเหล็ก ซึ่งมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ โดยผนังจะร้อนเร็วเมื่อได้รับความร้อนและทำให้เย็น โดยการคายความร้อนออกในเวลากลางคืนได้รวดเร็วกว่า ซึ่งจะเหมาะกับอากาศร้อนแบบบ้านเราที่อุณหภูมิช่วงกลางวันและกลางคืนไม่แตก ต่างกันมากนัก

4. หน้าต่าง ผ้าม่านมูลี่ ช่องหน้าต่างที่อยู่ทางทิศตะวันตก-ตะวันออกนี้ ควรติดตั้งมู่ลี่ปรับแสง เพื่อใช้กระจายแสง และสะท้อนความร้อนออกได้ส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกันการใช้ผ้าม่านแบบต่างๆ จะช่วยสร้างความเป็นส่วนตัว บดบังสายตาจากคนภายนอก ป้องกันแสงแดด และความร้อนเข้าสู่พื้นที่ภายในห้องได้ส่วนหนึ่ง

ที่มา http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=kengmanny&month=06-2010&date=01&group=9&gblog=176