เปิด เรื่องด้วยประเด็นเมื่อวานนะครับว่าจะนำเรื่องราวของมดที่เข้ามาเกี่ยวข้อง กับวิถีชีวิตธรรมดาของคนธรรมดา ซึ่งต่างจากนักมดวิทยาที่เกี่ยวข้องแบบไม่ปกติ วันนี้ เริ่มต้นด้วยการแนะนำมดที่เป็นพิษนะครับ เอาแค่ให้เห็นหน้าตาและรายละเอียดเล็กน้อยเป็นการเรียกน้ำย่อยจากความอยาก รู้ก่อน เริ่มจากสี่ชนิดนะครับ อันดับแรกเริ่มจากความทรมานหลังการต่อยและกัดจากน้อยไปหามากนะครับ
มดแดง ,Asian weaver red ant , มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Oecophylla smaragdina หลายคนคงรู้กันดีแล้วกับรสชาติความอร่อยของไข่และดักแด้ ส่วนตัวมดงานนี่ก็อร่อยไม่แพ้กัน ป้องกันอาการง่วงเหงาหาวนอนได้อย่างดี ชาว บ้านใช้กลิ่นจากกรดมดชนิดนี้นำมารักษาอาการเคลื่อนเหียนอาเจียน น่ามืดตามัวครับ นับเป็นภูมิปัญญาที่วิเศษ ในยุคที่ผู้นำประเทศหน้ามืดตามัวกับอำนาจและผลประโยชน์ (อัน นี้ไม่เกี่ยวกันกระมังครับ) มดมักทำรังในที่มีแสงแดดจัดจ้า แต่เลือกทำรังบนใบไม้ของไม่ยืนต้นและไม้พุ่ม โดยเฉพาะในป่าทดแทนและสวนผลไม้ เคยมีคนเอาไปตั้งเป็นวลีที่น่าคิดว่า “มดแดงเฝ้ามะม่วง” นี่แสดงว่ามดแดงอยู่คู่กับชาวสวนมานาน ในประเทศไทยพบเพียง ๑ ชนิดในสกุลนี้ วิธี การกัดของมดงานที่เราเห็นคือ กัดให้ลึกแบบหัวขาดก็ไม่ปล่อย จากนั้นมันจะพ่นกรดออกจากส่วนท้อง ทำให้แสบ ๆ คัน วิธีการแก้พิษแบบภูมิปัญญาชาวบ้านคือเอาคืน โดยการปล้นเอาไข่มาบีบให้แตก และทาที่รอยกัดอันแสบคันนั่นแหละครับ ดู แล้วโหดนะครับ แต่นี่เป็นภูมิปัญญาจริง ๆ โดยเฉพาะของคนที่แหย่ไข่มดแดง แต่ถ้าทนได้ไม่นานก็หายครับ ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดก็พอ มดนี้จึงถูกผมโหวตให้เป็นมดที่สร้างความทรมานระดับหนึ่งเท่านั้น คือ แค่แสบ ๆ คัน ๆ
มดคันไฟหรือหลายท้องที่เรียกมดแดงไฟ Fire Red Ant มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Solenopsis geminata ในประเทศไทยมีรายงานพบเพียง ๑ ชนิด ครับในสกุลนี้ กระจายเกือบทั่วโลก มด ชนิดนี้ตัวเล็กครับ มดงานนี่กัดเจ็บและไวต่อการถูกรุกรานมาก พฤติกรรมที่ทำให้ศัตรูยำเกรงคือ ความสามัคคีที่มันสามารถสื่อสารให้เพื่อนพ้องน้องพี่ออกมารุมได้รวดเร็ว อาศัยอยู่ตามพื้นดินครับ ขุดรูอยู่ร่วมกันเป็นโคโลนีขนาดใหญ่ มดนี้ชอบอยู่ในที่โล่ง เช่น สนามหญ้าแห้งแล้ง ทุ่งนาร้าง มักสร้างรังจนดินพอกเป็นกองเล็ก ๆ ปีไหนนาแล้งก็จะพบกับมดชนิดนี้ได้ง่าย ๆ ครับ ละเมื่อน้ำมาท่วมนานั้นแหละ มันจึงจะลอยเป็นแพไปเกาะอาศัยทำรังใหม่ตามคันนา เวลาเรายืนบนคันนาไม่ระวัง ก็จะโดนรุมเอาง่าย มันจะเริ่มจากเท้าเรานั่นแหละ เป้าหมายแรก อาการปวดจากแผลรุนแรงขึ้นอยู่กับจำนวนที่มันต่อยครับ ต่อยมากปวดมาก รักษาอาการปวดให้ทุเลาด้วยยาหม่องนี่แหละครับดีที่สุด แต่อย่าคิดขุดเอาไข่มาทานะครับ อันนี้จะทำให้มันโกรธ ยกมารุ่มเป็นกองทัพครับ ด้วยเหตุผลทั้งหมด ผมจึงโหวตให้อยู่ในความทรมานอันดับสอง คือ ปวดพอทน
มดตะนอย มีหลายชนิดครับ ในสกุล Tetraponera ประเทศ ไทยมีรายงานพบแล้วประมาณ ๑๓ ชนิด อาจมีมากว่านี้ อยู่ในระหว่างการทำข้อมูล ส่วนที่พบจะยกตัวอย่างมาให้ดูนี่ สองชนิด สองสีที่พบบ่อยครับ มดสกุลนี้อาศัยอยู่ได้หลายระดับ แต่ที่พบเห็นบ่อย อาศัยตามหญ้าสูง ๆ สนามหญ้ารก ๆ ตามพุ่มไม้ครับ ในหนึ่งรังมีประชากรน้อยจนถึงพบมาก ตามขอนไม้ผุ ในที่ไม่ชื้นมาก ชนิดแรกที่ผมนำมาเสนอเป็นตัวสีดำครับ มักพบตามสนามหญ้า ชื่อ ตะนอยดำธรรมดา ( Tetraponera pilosa ) ละกันครับ ส่วนชนิดที่สอง ชื่อ ตะนอยดำส้ม ( Tetraponera rufonigra ) ครับ อาศัยตามไม้ผุ ตอไม้ผุ แห้ง ๆ ทั้งสองชนิดนี้ต่อยแล้วปวดจนน้ำตาเล็ดครับ นี่แค่ตัวเดียวนะ แต่ถ้าโดนรุมสักสิบตัวนี่ คงต้องนอนโรงพยาบาลครับ จากประสบการณ์โดนกัดจากมดตะนอยดำธรรมดาเพียง ๑ ตัว ใช้เวลาห้านาทีจึงพอทุเลาลงได้ ส่วน ตะนอยดำส้มนี่ผมโดน ๑ ตัวเช่นกัน ปวดแบบไม่ลืมครับ นานกว่าเกือบสองเท่า จึงไม่อยากยุ่งกับมันมาก ผมนำรูปแบบชัดมาฝากครับ ว่าง ๆ เข้าไปหาข้อมูลได้จาก source ที่ผมเขียนไว้ในรูป ที่ปวดมากขนาดนั้นเพราะมันตัวใหญ่ พิษของมันมาจากส่วนเหล็กใน โดยตรง อาการปวดจึงเหมือนโดนต่อหรือแตนตัวโต ๆ ต่อย ครับ ผมจึงยกให้มันเป็นมดที่สร้างความทรมานอันดับสาม คือ ปวดแบบไม่ลืม
จบ เรื่องมดและพิษภัยไว้ก่อนนะครับ สำหรับประเทศนี้ยังมีพิษจากการเมือง เรื่องทำร้ายประชาชน ยืนกันกระจัดกระจาย ทำร้ายคนจนปากกัดตีนถีบ พิษนี้มดเทียบไม่ติดอันดับความทรมารหรอกครับ คนไทยวันนี้มีมดเป็นแบบอย่างเรื่องความสามัคคี เอาอย่างดีมาปฏิบัติเพื่อลดความทรมานของชีวิตลงบ้างครับ ข้อมดยังมีมากว่านี้เล่าไม่จบ กลัวตัวหนังสือเป็นพิษ สร้างความมึนงงได้ ติดตามในบทความเรื่องชีวิตของมด ในหมวด ชีวิตของแมลง คราวต่อไปครับ