วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

๑๐ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอันตรายของโลก




๑๐. งูหลาม (Burmese python)
สัตว์ ประจำถิ่นเอเชีย นำเข้าสหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง ราว ค.ศ. ๑๙๙๐ เมื่อโตจนมีขนาด ๖ เมตร ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่เลี้ยงต่อไม่ได้ จึงปล่อยสู่ธรรมชาติ สร้างปัญหาการจับสัตว์พื้นถิ่นกินเป็นอาหารและมีรายงานทำร้ายคน
๙. หอยม้าลาย (Zebra mussels)
สัตว์ประจำถิ่นในทะเลสาบแคสเปียน แพร่กระจายสู่สหรัฐอเมริกา ยุโรป และประเทศต่าง ๆ โดยเกาะติดมากับเรือขนส่งสินค้า มันแย่งกินแพลงก์ตอนจนทำให้ระบบนิเวศในท้องถิ่นต่าง ๆ เสียสมดุล และชอบเกาะผิววัสดุสร้างความเสียหายแก่สิ่งก่อสร้างที่อยู่ใต้น้ำ
๘. ปลาช่อนพันธุ์เหนือ (Northern snakehead)
สัตว์ประจำถิ่นเอเชียซึ่งคนเอเชียนิยมกินเป็นอาหาร มีข่าวการพบปลาช่อนนี้ครั้งแรกในบึงธรรมชาติของสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ๒๐๐๒ หลังจากนั้นก็แพร่กระจายไปทั่ว เป็นสัตว์กินเนื้อ นิสัยดุร้ายทำลายสัตว์พื้นเมืองอื่น ๆ ในแหล่งน้ำ ทนแล้งเก่งและเคลื่อนที่บนบกได้
๗. นกกิ้งโครงพันธุ์ยุโรป (European starling)
สัตว์ประจำถิ่นยุโรป ค.ศ. ๑๘๙๐ ถูกนำเข้ามาที่สวนสาธารณะของสหรัฐอเมริกา ๖๐ ตัว ปัจจุบันเพิ่มจำนวนเกินล้าน แพร่กระจายทั่วสหรัฐอเมริกาและตอนใต้ของแคนาดา เป็นสาเหตุทำให้เครื่องบินตก มีผู้เสียชีวิต ๖๒ คน ในปี ๑๙๖๐ มูลของมันยังเป็นพาหะของโรคติดเชื้อ

๖. ผึ้งเพชฌฆาต (Killer bees)
ค.ศ. ๑๙๕๗ เกษตรกรชาวบราซิลนำผึ้งพันธุ์แทนซาเนียมาเลี้ยงแล้วหลุดไปผสมพันธุ์กับ พันธุ์ยุโรป เกิดเป็นผึ้งเพชฌฆาตที่มีนิสัยปกป้องรังก้าวร้าวมาก พิษของมันไม่ได้รุนแรงกว่าผึ้งพันธุ์ยุโรป แต่ร้ายกาจที่การรุมต่อยศัตรูนับพันครั้ง แพร่กระจายสู่ทวีปอเมริกาเหนือ แย่งชิงรังและอาหารของผึ้งพันธุ์เดิม รวมทั้งทำร้ายคนจนเสียชีวิตไปหลายราย

๕. กระรอกเทา (Gray squirrel)
มีถิ่นกำเนิดในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา นำเข้ามาในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ อิตาลี ออสเตรเลีย หาอาหารและสะสมอาหารเก่งกว่ากระรอกพันธุ์พื้นเมืองเป็นพาหะของโรค squirrel pox จนทำให้กระรอกพันธุ์พื้นเมืองลดจำนวนอย่างรวดเร็ว

๔. ถั่วคุดสุ (Kudzu)
พืชไม้เลื้อยตระกูลถั่ว มีถิ่นกำเนิดในจีนและญี่ปุ่น นำเข้าสหรัฐอเมริกาเพื่อใช้เป็นไม้ประดับตกแต่งสวนในปี ๑๘๗๖ เจริญเติบโตรวดเร็วเพียง ๑ วันก็งอกยาวถึง ๑ ฟุต เมื่อขาดการควบคุมจึงแพร่ไปขึ้นคลุมสิ่งต่าง ๆ จนก่อความเสียหาย ทั้งต้นไม้โค่น บ้านพัง เสาไฟฟ้าล้ม

๓. คางคกไร่อ้อย (Cane toads)
มีถิ่นกำเนิดอยู่อเมริกากลางและอเมริกาใต้ นำเข้าหลายประเทศเพื่อใช้กำจัดศัตรูพืชโดยเฉพาะในไร่อ้อย ผิวหนังมีต่อมพิษร้ายแรง สัตว์ผู้ล่าในพื้นถิ่นไม่รู้จักเมื่อกินเข้าไปจึงตายในไม่กี่นาที เป็นต้นเหตุให้สัตว์กินเนื้อขนาดเล็กชื่อ quoll ซึ่งเคยมีอยู่มากในออสเตรเลียลดจำนวนลง

๒. กระต่ายพันธุ์ยุโรป (European rabbit)

สัตว์ประจำถิ่นทางตะวันตกเฉียงใต้ของยุโรป หลายประเทศนำเข้าไปเป็นสัตว์เลี้ยง ที่ออสเตรเลียนำเข้าครั้งแรก ๒๔ ตัวในปี ๑๘๕๙ ปัจจุบันมีจำนวนถึงกว่า ๖๐๐ ล้านตัว เพราะเป็นสัตว์เลี้ยงง่าย โตไว ขยายพันธุ์เร็ว กินอาหารได้หลากหลาย สร้างปัญหาให้สัตว์พื้นถิ่นจนลดจำนวนลง

๑. ปลาไน (Asian carp)

ค.ศ. ๑๙๗๐ ฟาร์มเลี้ยงปลาในสหรัฐอเมริกานำปลาไนจากเอเชียมาช่วยกำจัดสาหร่าย ต่อมาเกิดน้ำท่วมฟาร์มจนปลาไนหลุดออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ชาวอเมริกันไม่นิยมกินเนื้อปลานี้ มันจึงแพร่กระจายพันธุ์ไปอย่างรวดเร็ว แย่งที่อยู่อาศัยและอาหารของสัตว์น้ำประจำถิ่น รวมทั้งมีนิสัยชอบกระโดดขึ้นเหนือน้ำ เป็นอุปสรรคในการเดินเรือ

* จัดอันดับโดย นิตยสาร TIME ร่วมกับ CNN

ที่มา http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=1071