งูพิษที่สำคัญและมีอยู่ชุกชุม ได้แก่
1.งูเห่า เป็นงูพิษที่สำคัญมากที่สุด พบได้ทุกภาค
2.งูจงอาง เป็นงูพิษที่ใหญ่ที่สุดในโลก คล้ายงูเห่าแต่โตกว่า นิสัยดุ
3.งูสามเหลี่ยม มีแนวกระดูกสันหลังยกตัวเป็นสันสูงทำให้ดูเป็นรูปสามเหลี่ยม สีตัวเป็นปล้องดำสลับเหลือง ปลายหางทู่
4.งูแมวเซา ลำตัวอ้วนสั้น สีตัวเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีลายสีน้ำตาลเข้มๆเป็นดวงกลมๆตามตัว เวลาถูกรบกวนสามารถพ่นลมออกมาทางรูจมูก เกิดเป็นเสียงขู่ดังน่ากลัวได้
5.งูกะปะ ลำตัวสีน้ำตาลแดง มีลายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนสีน้ำตาลเข้มตามข้างลำตัว
6.งูเขียวหางไหม้ มีอยู่หลายชนิด หัวค่อนข้างโตเป็นรูปสามเหลี่ยม คอเล็ก มีลำตัวอ้วน หางสั้น ที่มีชุกชุมได้แก่ งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง งูเขียวหางไหม้ท้องเขียว
7.งูพิษในทะเล ทุกชนิดจะมีหางแบนเป็นรูปใบพาย เพื่อใช้ในการว่ายน้ำ ส่วนใหญ่มักหากินอยู่ไม่ไกลฝั่งมากนัก
อาการเมื่อถูกงูพิษกัด แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตามอาการของพิษ คือ
1.งูพิษทางระบบประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการหนังตาตก ขากรรไกรแข็ง พูดไม่ชัด กลืนน้ำลายไม่ได้ แน่นหน้าอก ตาพร่า อ่อนเพลีย เป็นอัมพาต อาจตายเพราะการหายใจล้มเหลว งูพิษประเภทนี้ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม
2.งูพิษทางระบบกล้ามเนื้อ แสดงอาการค่อนข้างช้าอาจถึง 1 วัน ผู้ป่วยมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บางรายเป็นอัมพาต ปัสสาวะลดลงและสีเข้มขึ้น ผู้ป่วยมักถึงแก่กรรมเนื่องจากไตวายหรือการหายใจล้มเหลว งูพิษประเภทนี้ ได้แก่ งูทะเลชนิดต่างๆ
3.งูพิษทางระบบโลหิต มีเลือดซึมตามรอยเขี้ยวที่แผล ปวดบวม มีเลือดออกใต้ผิวหนัง อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะมีเลือดปน อวัยวะภายในตกเลือด มักตายด้วยอาการไตวาย งูพิษประเภทนี้ได้แก่ งูแมวเซา งูกะปะ และงูเขียวหางไหม้
การปฐมพยาบาลผู้ถูกงูกัด
1.ทำความสะอาดแผลที่ถูกงูกัดด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์หรือทิงเจอร์ไอโอดีน
2.ไม่ควรเอาใบไม้ รากไม้ หรือสมุนไพรต่างๆ มาใส่แผล เพราะจะทำให้แผลสกปรก ติดเชื้อและอาจเป็นบาดทะยักได้
3.ตำแหน่งขาหรือแขนที่ถูกกัดควรให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุด โดยใช้ไม้กระดานหรือกระดาษแข็งๆ รองหรือดามไว้
4.ถ้าจะขันเชนาะต้องใช้ผ้า ห้ามใช้เชือกหรือยางรัด โดยรัดเหนือตำแหน่งที่ถูกงูกัด รัดแน่นปานกลางพอที่จะใช้นิ้วมือ1นิ้วสอดระหว่างผ้ากับผิวหนังที่รัดได้
5.ห้ามดื่มของมึนเมา เพราะอาจเกิดการสำลักและอาเจียน หรืออาจปิดบังอาการแสดงที่เกิดจากพิษงูได้
6.อย่าตื่นตกใจเกินไป ต้องพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุด โดยนำซากงูที่กัดไปด้วย (ถ้ามี) เพื่อความถูกต้องในการรักษา
ที่มา
http://kanchanapisek.or.th/kp7/science/Snake.html
http://www.pattanakit.net/index.php?lay=show&ac=article&Id=437464&Ntype=120