วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

กฏของ Pareto กับการเล่นหุ้นแบบ Trend Following

ผลกำไรจากการซื้อ-ขายเพียงไม่กี่ครั้งคือสิ่งที่มีค่ามากกว่าที่เราคิด พวกมันมักจะเป็นสิ่งที่กำหนดผลการลงทุนในภาพรวมของพวกเราเอาไว้ มันคือสิ่งที่คุณไม่ควรมองข้ามเป็นอันขาดครับ!
“ความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของนักเก็งกำไรก็ คือการพลาดโอกาสในการทำกำไรก้อนใหญ่ไป นั่นก็เพราะผลกำไรกว่า 95% นั้นมักจะมาจากเพียง 5% ของจำนวนการซื้อขายทั้งหมดเท่านั้น”
Richard Dennis ผู้ให้กำเนิด Turtle Trader
กฎของ Pareto
ถึงแม้ว่าหลายคนคงจะเคยได้ยินถึงกฏ 80/20 ของ Pareto กันมาบ้างแล้ว แต่ผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายต่อหลายคนที่ไม่ได้ฉุกคิดถึงความเกี่ยวโยงระหว่าง กฏข้อนี้กับหลักการเล่นหุ้นตามแนวโน้มแบบ Trend Following กันสักเท่าไรนัก และนี่ก็คือเรื่องที่ผมอยากจะนำมาเล่าให้ฟังในบทความนี้
ท้าวความกลับไปเมื่อประมาณปี ค.ศ 1906 นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาเลียนคนหนึ่งที่ชื่อว่า Vilfredo Pareto ได้ค้นพบกฏบางอย่างของธรรมชาติและได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า “ร้อยละ 80 ของความมั่งคั่งในประเทศอิตาลีนั้นได้ถูกครอบครองโดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งคิด เป็นเพียงร้อยละ 20 ของประชากรในประเทศอิตาลีเท่านั้น!” และแน่นอนว่าสิ่งที่เขาได้ค้นพบนี้ได้กลายมาเป็นหลักการซึ่งถูกนำมาใช้กัน อย่างกว้างขวางในเวลาต่อๆมา ซึ่งถึงแม้ว่าตัวเลข 80/20 ตรงนี้จะไม่ใช่เลขที่เป็นอัตราส่วนมหัศจรรย์แบบตรงเป๊ะในทุกๆกรณี แต่มันก็ได้มีความสำคัญที่ทำให้เราได้เข้าใจถึงหลักการของ “ความสำคัญจากสิ่งที่เป็นส่วนน้อย หรือ Vital Few Principle” นั่นเอง

กฏของ Pareto เกี่ยวข้องอย่างไรกับหลักการเล่นหุ้นแบบ Trend Following อย่างนั้นหรือ?

เมื่อเราลองพิจารณาถึงคำพูดของ Richard Dennis ผู้ที่ได้ฉายาว่าเป็น Prince of The Pit และเป็นผู้ที่ให้กำเนิดกลุ่ม Turtle Trader ขึ้นมานั้น คำตอบของมันคงจะเดาได้ไม่ยากนัก นั่นก็เพราะเขาได้บอกใบ้ให้กับเราอย่างชัดเจนสุดๆแล้วว่า ผลการซื้อขายไม่กี่ครั้งเท่านั้นคือสิ่งที่จะกลายเป็นตัวตัดสินถึงผลลัพท์ ของการลงทุนชนิดร่ำรวยแบบล้นฟ้ากับการเล่นหุ้นได้กำไร-ขาดทุนไปวันๆเลยที เดียว! และเพื่อที่จะทำให้ทุกๆคนได้เห็นภาพของมันได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นนั้น ในบทความนี้ผมจึงได้ทำการเก็บสถิติจากระบบการลงทุนแบบ Trend Following ชนิดหนึ่งซึ่งก็คือระบบ Turtle System 2 (แบบ Simplify โดยไม่มีการ Pyramid ซื้อหุ้นเพิ่ม) ในรูปแบบของค่า R-Multiple ออกมาให้ดูกันถึงความเกี่ยวโยงของมันกับกฏของ Pareto ออกมาแล้วทำการคำนวณคร่าวๆด้วย Excel โดยในตารางที่เราจะได้เห็นกันต่อไปนั้นเป็นการเก็บสถิติจากผลการลงทุนกับ หุ้นใน SET100 ตั้งแต่วันที่ 3/1/2001 – 29/12/2011 โดยได้รวมเอาค่า Com ที่ 0.25% ต่อการซื้อขายเอาไว้เรียบร้อยแล้ว
Turtle 2 Simplify Portfolio Equity RMultiple Article Mangmaoclub thumb กฏของ Pareto กับการเล่นหุ้นแบบ Trend Following
ภาพที่ 1 : Portfolio Equity ของระบบ Turtle 2 Simplify ด้วยเงินทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท ทดสอบย้อนหลังกับหุ้นใน SET100 ตั้งแต่ปี 2001 – 2011 โดยรวมค่าคอมมิสชั่นแล้ว
Note : การวัดผลกำไรจากการซื้อขายแต่ละครั้งในรูปแบบ R-Multiple คือการนำเอาผลกำไรที่ได้รับหารด้วยความเสี่ยงเริ่มต้นของการซื้อขายในครั้ง นั้น โดยที่ความเสี่ยงเริ่มต้นคิดจากราคาซื้อลบด้วยจุดตัดขาดทุนที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งเขียนเป็นสมการได้ว่า
R-Multiple = Profit / Initial Risk
โดยที่ Initial Risk =  Entry Price – Stop Price
การวัดจาก R-Multiple จะมีข้อดีกว่าการวัดผลกำไร-ขาดทุนเป็นรูปแบบของจำนวนเงินหรือ % ร้อยละของเงินทุนเนื่องจากมันได้ทำให้ผลของกำไร-ขาดทุนนั้นอยู่ในหน่วยเดียว กัน มันจึงช่วยให้เราสามารถเปรียบเทียบผลการซื้อขายจากระบบที่ต่างกันหรือจาก ขนาดของพอร์ทโฟลิโอที่ต่างกันได้เป็นอย่างดี
image thumb2 กฏของ Pareto กับการเล่นหุ้นแบบ Trend Following
ภาพที่ 2 : Win R-Multiple จากระบบ Turtle 2 (Simplify) แสดงให้เห็นถึงค่า +R Multiple จากการซื้อขายที่ “ได้กำไร” จากระบบ โดยที่แกน Y แนวตั้งด้านซ้ายแสดงให้เห็นถึงความถี่และแกน Y ด้านขวาคืออัตราส่วนร้อยละจากจำนวนการซื้อขายที่เป็นกำไร +R ทั้งหมด
Frequency of +R - แท่งแต่ละแท่งคือจำนวนความถี่ของค่า +R Multiple ที่เกิดขึ้นแต่ละช่วงของค่า R เช่น ผลกำไรที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงค่า 0R ถึง 1R มีจำนวน 75 ครั้ง
Cumulative +R Distribution - เส้นที่ลากต่อกันคือจำนวนความถี่สะสมของค่า +R Multiple ที่เกิดขึ้นไล่ไปในแต่ละช่วง เช่น ผลกำไรที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง 0R ถึง 5R คิดเป็น 82.67% ของจำนวน Win R-Multiple ที่เกิดขึ้นทั้งหมด
Cumulative +R Contribution – เส้น ที่ลากต่อกันคือมูลค่าสะสมของค่า +R Multiple ที่เกิดขึ้นไล่ไปในแต่ละช่วง เช่น ผลกำไรที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง 0R ถึง 5R คิดเป็นมูลค่า 30.78% ของมูลค่าจาก Win R-Multiple ที่เกิดขึ้นทั้งหมด

กฎของ Pareto กับธรรมชาติของผลกำไรจากระบบ Trend Following

ตาราง Win R-Multiple ได้บอกให้เราเห็นถึงความสำคัญของผลกำไรจากการซื้อขายไม่กี่ครั้งอย่างชัดเจน มากๆ (ซึ่งเราไม่มีทางรู้ล่วงหน้าได้ว่ามันคือครั้งไหน) จากภาพนั้นคุณจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามูลค่าของผลกำไรกว่า 69.22% นั้นเกิดขึ้นจากราวๆ 17.44% (5R ขึ้นไป) ของการซื้อขายที่ได้กำไรเท่านั้น! และในทางกลับกันแล้วร้อยละ 82.56% ของการซื้อขายที่ได้กำไรกลับคิดเป็นมูลค่าของกำไรทั้งหมดเพียงแค่ 30.78% เท่านั้น (0R-5R) นอกจากนี้แล้ว มูลค่าของกำไรกว่า 53.38% ของกำไรทั้งหมดจะเกิดขึ้นจากเพียง 5.13% ของการซื้อขายที่ได้กำไรเท่านั้น
สิ่งเหล่านี้กำลังตอกย้ำอะไรกับเราอย่างนั้นหรือครับ??
มันกำลังตอกย้ำให้เราจำเอาไว้ให้ดีว่าเราต้องกล้า Let Profits Run!! … อย่ากลัวว่าจะรวยเกินไป และอย่าไปใส่ใจมากเกินไปหากว่าการ Let Profits Run จะทำให้ผลกำไรที่เราเคยมีต้องหดหายลงไป นั่นเพราะกว่าร้อยละ 80 ของการซื้อขายที่ได้กำไรจากระบบ Trend Following จะกลายเป็นเพียงกำไรก้อนเล็กๆตั้งแต่ 0R – 5R เท่านั้น คุณต้องรู้ว่ามันคือเรื่องธรรมดา! และถ้าหากว่าคุณกลัวกำไรหดและรีบ Take Profit อยู่บ่อยๆล่ะก็ คุณก็จะไม่มีวันได้ลิ้มรสชาติของผลกำไรตั้งแต่ 5R ขึ้นไปเลยเพราะคุณได้ตัดโอกาสของคุณทิ้งไปเรียบร้อยแล้ว
และในทางกลับกันนั้น หากว่าคุณไม่ยอมตัดขาดทุนเสียแต่เนิ่นๆ แต่ดันไป Let Loss Run ก็จะเป็นการเปิดโอกาสทำให้คุณต้องโดนการขาดทุนแบบ –5R ขึ้นไปเข้าสักวันอย่างแน่นอน ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงความเสียหายของพอร์ทอย่างย่อยยับได้อย่างง่ายดาย และมันก็คือเหตุผลของคนที่เจ๊งหุ้นส่วนใหญ่นั่นเอง

ลักษณะของค่า R-Multiple จากระบบการลงุทุนแบบ Trend Following

ในคราวนี้เราลองมาดูถึงลักษณะซึ่งของค่า R-Multiple ซึ่งเป็นเหมือนลายเซ็นของระบบการลงทุนแบบ Trend Following กันดูบ้าง ซึ่งเมื่อคุณได้เห็นถึงค่า R-Multiple ในรูปแบบเฉพาะของมันแล้ว ผมเชื่อว่ามันก็น่าจะทำให้ได้เข้าใจว่าทำไมวินัยของการ Cut Losses Short, Let Profits Run และการ Take Every Trades จึงได้สำคัญนักที่จะสร้างผลกำไรในระยะยาวขึ้นมาได้
image thumb3 กฏของ Pareto กับการเล่นหุ้นแบบ Trend Following
ภาพที่ 3 : R-Multiple ที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากระบบ Turtle 2 (Simplify) โดยที่แกน Y แนวตั้งด้านซ้ายแสดงให้เห็นถึงความถี่และแกน Y ด้านขวาคืออัตราส่วนร้อยละจากจำนวนการซื้อขายทั้งหมด
Frequency of R-Multiple - แท่งแต่ละแท่งคือจำนวนความถี่ของค่า R-Multiple ที่เกิดขึ้นแต่ละช่วงของค่า R โดยแท่งแดงแสดงถึงผลขาดทุน –R และแท่งน้ำเงินคือผลกำไร +R เช่น ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงค่า -3R ถึง -2R มีจำนวน 2 ครั้ง
Cumulative R Distribution - คือจำนวนความถี่สะสมของค่า R-Multiple ที่เกิดขึ้นไล่ไปในแต่ละช่วง เช่น ค่า R ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง -3R ถึง 2R คิดเป็น 78.59% ของจำนวน R-Multiple ที่เกิดขึ้นทั้งหมด
Cumulative R Contribution - คือ มูลค่าสะสมของค่า R Multiple ที่เกิดขึ้นไล่ไปในแต่ละช่วง เช่น ผลกำไร “สุทธิ” ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง -3R ถึง 2R คิดเป็นมูลค่า 5.15% ของมูลค่าสุทธิจากค่า R-Multiple ที่เกิดขึ้นทั้งหมด

Pareto Effect และกลไกของระบบการลงทุนแบบ Trend Following

ใช่แล้วครับ! สิ่งที่คุณเห็นจากค่า R-Multiple ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะต่างๆนั้นคือกลไกที่ทำให้ระบบการลงทุนแบบ Trend Following มีค่ากำไรคาดหวังหรือ Expectancy ที่เป็นบวกในระยะยาวนั่นเอง
จากภาพที่ 3 นั้นคุณจะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่าจำนวนการขาดทุนทั้งหมดจะคิดเป็นร้อยละ 50.85% แต่เมื่อสังเกตุให้ดีเราจะพบว่าผลการขาดทุนของระบบที่แย่กว่า –2R นั้นคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.73% ของผลการซื้อขายทั้งหมดเท่านั้น การ Cut Losses อย่างรวดเร็วของระบบ Trend Following จึงเปรียบเสมือน SAFE-T-CUT ที่จะทำให้เราไม่โดน Pareto Effect ในเชิงลบออกไปได้นั่นเอง มันคือกลไกที่จะทำให้เราไม่ต้องหมดตัวไปอย่างรวดเร็ว ในทางกลับกันนั้นการ Let Profits Run ก็จะเป็นตัวช่วยให้เราสามารถหักลบกลบหนี้การขาดทุนที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้ อย่างไม่ยากเย็นนัก ซึ่งในประเด็นนี้เราจะเห็นได้ว่าจำนวนการซื้อขายกว่าร้อยละ 78.59% จะหมดไปกับการทำให้ระบบมีกำไรสุทธิเป็นบวกได้เท่านั้น ผลกำไรที่มากกว่า +2R ขึ้นไปซึ่งเป็นผลจากการที่คุณอึดและกล้าพอที่จะ Let Profits Run จึงกลายเป็นผลการซื้อขายในส่วนน้อยที่สำคัญมากๆ (Vital Few) ที่จะทำให้คุณได้เสพสุขกับความมั่งคั่งจากการใช้ระบบการลงทุนแบบ Trend Following จริงๆ นอกจากนี้แล้วเมื่อมองในมุมกลับคุณก็ยังจะพบว่ามูลค่าของผลกำไรสุทธิทั้งหมด กว่า 82.14% นั้นจะมาจากเพียงกำไร +4R ขึ้นไปหรือคิดเป็นร้อยละ 11.92% เท่านั้น! นี่จึงทำให้คำกล่าวของ Richard Dennis ในเบื้องต้นไม่ใช่สิ่งที่เกินเลยจากความจริงไปสักเท่าไหร่นัก
อ่านมาถึงตรงนี้หลายๆคนคงเริ่มที่จะมองเห็นถึง Anatomy of Trend Following และ Pareto Effect กันบ้างในระดับหนึ่งแล้วนะครับ อย่างไรก็ตาม การที่ Pareto Effect จะเกิดขึ้นมากับเราได้นั้นยังคงมีตัวแปรที่สำคัญอย่างยิ่งยวดอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ … เมื่อคุณได้ศึกษาหรือทดสอบระบบการลงทุนของคุณจนมั่นใจได้ในระดับหนึ่งแล้ว ว่าในระยะยาวมันจะให้กำไรคาดหวังที่เป็นบวกออกมาได้ คุณต้องมีวินัยและกล้าที่จะทำตามระบบในทุกๆครั้งที่เกิดสัญญาณขึ้นโดยไม่มี ข้อแม้ … ไม่ว่าจะเป็นการขายทิ้งหรือเป็นการซื้อหุ้นที่ดูสูงและน่ากลัวแค่ไหนก็ตาม
เรื่องที่ว่ามานี้เป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำยาก และผมเชื่อว่าหลายๆคนรวมถึงผมเองก็คงต้องเคยได้ตัดสินใจผิดพลาดจากการมีคติ กับสัญญาณในการเข้าซื้อหุ้นที่เกิดขึ้นกันมาบ้างไม่มากก็น้อย แต่ความผิดพลาดตรงนี้เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ด้วย Mindset ,การฝึกจิตใจ และความเข้าใจที่มีต่อระบบการลงทุนของเรา หวังว่าบทความชิ้นนี้จะทำให้เพื่อนๆที่ได้อ่านเห็นถึงความสำคัญของ “สิ่งที่เป็นส่วนน้อยซึ่งมีผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่” และ Pareto Effect ในการเล่นหุ้นกันขึ้นอีกพอสมควร แล้วเดี๋ยวบทความหน้าจะหาเรื่องสนุกๆมาเขียนใหม่ครับ