วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ผนังมีรอยร้าว

ผนังอาคารมีได้หลากหลายวัสดุมาก ซึ่งในที่นี่จะขอพูดถึงเฉพาะในส่วนผนังที่ก่อด้วยอิฐมอญหรืออิฐบล็อคฉาบปูน ทาสียึดอยู่กับโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นหลัก ซึ่งเป็นงานก่อสร้างอาคารโดยทั่วไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา


โดยปกติในการก่อสร้างอาคาร การก่ออิฐชิดติดกับส่วนโครงสร้างนั้น จะต้องมีการเสริมเหล็กยึดระหว่างโครงสร้างกับผนังอิฐเป็นระยะ และใส่เหล็กตะแกรงยึดที่ผิวโครงสร้างกับผนังอิฐก่อนฉาบปูนทั้งจากสาเหตุว่า เพื่อป้องกันผนังอิฐหลุดไปทั้งแผงแล้ว ยังเนื่องจากการที่ผนังอาคารในส่วนที่ก่ออิฐกับส่วนที่เป็นโครงสร้างนั้นยืด หดตัวไม่เท่ากันเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้บริเวณรอยต่อดังกล่าวนั้น เป็นส่วนที่จะแตกร้าว หลุดออกจากกันได้


ในส่วนผนังก่ออิฐแผงใหญ่ๆนั้น ในการก่อสร้างที่ถูกหลัก ก็จะมีเสาเอ็น คานเอ็น ซึ่งก็คือเสาคานคอนกรีทเสริมเหล็กขนาดเล็กๆ ไม่หนาไปกว่าส่วนผนังอิฐ
ช่วยยึดโยงผนังก่ออิฐที่มีขนาดเกินกว่าสามเมตรอยู่เป็นระยะ ซึ่งปลายของเสาเอ็น คานเอ็นเหล่านี้ ก็จะยึดอยู่กับส่วนโครงสร้างของอาคาร ซึ่งก่อนที่จะฉาบปูนผนังนั้น
ก็จะต้องมีการเสริมลวดตะข่ายตลอดแนวเอ็นเหล่านี้เช่นกัน และในก่ออิฐขึ้นไปชนใต้ท้องคานนั้น ผู้ก่อสร้างจะต้องรอให้ผนังอิฐที่ก่อไว้ทรุดตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากน้ำหนัก ของตัวมันเองเสียก่อน จึงค่อยก่ออิฐในส่วนต่อชนใต้ท้องคาน เพราะมิเช่นนั้นแล้วรอยต่อระหว่างยอดผนังอิฐกับใต้ท้องคานจะไม่พอดีกัน



ส่วนผนังที่มีช่องประตูหรือหน้าต่างนั้น ก็จะมีการทำเสาเอ็นคานเอ็นรัดโดยรอบ ซึ่งปลายของเสาเอ็นหรือคานเอ็นเหล่านี้ ก็จะยึดโยงอยู่กับส่วนโครงสร้าง เพราะมิเช่นนั้นแล้วก็จะเกิดการแตกร้าวทั้งเนื่องจากการยืดหดตัวของวัสดุที่ ไม่เท่ากันแล้ว การกระแทกของบานประตูหรือหน้าต่าง ทั้งยังอาจจะเกิดการแตกร้าวเนื่องจากน้ำหนักของผนังที่อยู่เหนือประตูหรือ หน้าต่างกดทับในส่วนประตูหรือหน้าต่าง ทำให้ไม่สามารถปิดประตูหรือหน้าต่างได้ตามปกติ


ซึ่งนอกเหนือจากรอยร้าวต่างๆ ดังว่านี้แล้ว ก็อาจจะมีรอยร้าวเนื่องจากปัญหาเรื่องโครงสร้างมีปัญหา หรืออาคารส่วนต่อเติมทรุดตัวไม่เท่าส่วนอาคารเดิม เช่น มีรอยร้าวเฉียงจากมุมผนังออกไปหากึ่งกลางผนัง ซึ่งก็จะเป็นรอยร้าวที่เกิดจากปัญหาโครงสร้าง หรือรอยร้าวเป็นแนวเส้นตรงบริเวณรอยต่อระหว่างส่วนต่อเติมกับอาคารเดิมพอดี ซึ่งก็มักจะเป็นปัญหาเนื่องจากการทรุดตัวของอาคารไม่เท่ากัน ซึ่งถ้าเป็นรอยร้าวเนื่องจากปัญหาเรื่องโครงสร้างนั้น ควรจะหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องโครงสร้างด้วย ส่วนการอุดรอยร้าวนี้ จะช่วยบรรเทาปัญหาแค่บางส่วนเท่านั้น ส่วนรอยร้าวที่เกิดจากปัญหาอาคารทรุดตัว ถ้าหากว่าอาคารหยุดทรุดตัวแล้ว ก็สามารถอุดรอยต่อดังกล่าวได้ แต่ถ้าหากว่าอาคารยังไม่หยุดทรุดตัว ถ้าอุดด้วยวัสดุยืดหยุ่นตัวพวกซิลิโคนนั้น ก็สามารถช่วยได้ระยะหนึ่ง


อันรอยร้าวต่างๆ ดังว่ามานี้ มักจะเป็นรอยร้าวบนผนังที่ใหญ่พอให้น้ำเข้ามาได้ ทั้งการไหลไปตามแรงดึงดูดของโลก และการรั่วเข้ามาด้วยแรงกดอากาศ ส่วนรอยร้าวแตกลายงาเหมือนลายบนชามกระเบื้องเคลือบนั้น ก็มักจะเป็นปัญหาที่เกิดจากปูนฉาบเป็นส่วนใหญ่ และก็อาจจะมีปัญหาให้น้ำซึมเข้ามาได้บ้างเหมือนกัน


ในการที่จะซ่อมแซมรอยร้าวดังกล่าวนั้น ถ้าหากว่ารอยร้าวไม่ใหญ่มากนัก เช่น รอยร้าวไม่มากไปกว่าครึ่งปลายนิ้วก้อยแล้ว ก็สามารถอุดรอยร้าวได้ด้วยสารยืดหยุ่นตัว
จำพวกซิลิโคนในบริเวณภายนอก เพราะซิลิโคนพอจะทนแดดได้ อายุการใช้งานของซิลิโคนก็มีได้หลากหลาย ตั้งแต่ 3-5 ปี แล้วแต่คุณภาพของเนื้อวัสดุ และการยึดติด ซึ่งทำให้ราคาขายแตกต่างกันไป ส่วนบริเวณข้างในอาคาร ก็อาจจะเลือกใช้พวกอครีลิก เพราะสามารถทาสีทับได้ ซึ่งในการเลือกซื้อนั้น ควรจะดูฉลากข้างหลอด
ซึ่งก็จะมีการระบุคุณสมบัติไว้ และภาพประกอบ เช่น มีภาพรอยแตกร้าวริมหน้าต่าง เป็นต้น


ส่วนรอยร้าวที่แตกแยกเป็นร่องในขนาดที่ปลายนิ้วสามารถป้ายปูนปิดได้ และรอยแตกร้าวได้หยุดขยายตัวแล้ว ควรขยายรอยแตกให้มากขึ้น แล้วอุดรอยแตกด้วยวัสดุจำพวกปูน non shrink cement ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านค้าวัสดุก่อสร้างใหญ่ๆ แล้วค่อยฉาบปูนปิดทับหน้าอีกที


ส่วนรอยแตกลายงาที่ผนังนั้น ถ้าปูนฉาบไม่หลุดร่อน ก็สามารถใช้สีโป้วทับรอยแตก แล้วทาสีจริงทับได้ แต่ถ้าปูนฉาบหลุดออกมาเป็นแผ่นๆ ควรจะซ่อมแซมในส่วนปูนฉาบเสียก่อน


ซึ่งในการแก้ไขปัญหาที่ว่ามานี้ เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุทั้งนั้น ซึ่งถ้าหากจะทำกันให้ถูกต้อง มีอายุการใช้งานยืนยาวแล้ว ก็อาจจะต้องทุบทำผนังใหม่ในส่วนนั้นๆ ครับ

ที่มา
http://www.thaicontractors.com/content/cmenu/3/94/403.html
http://www.smilehomes.com/100-300.htm