วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2555

เคล็ดลับการขายงานฝีมือให้ประสบความสำเร็จ: 2.ราคา



หัวข้อต่อไปที่อยากจะเล่าสู่กันฟัง  คือเทคนิคการตั้งระดับราคา  หลายท่านอาจจะสับสนว่าควรตั้งราคาเท่าไรจึงจะเหมาะสม  และอาจกังวลใจว่าถ้าตั้งราคาขายสูงเกินไปก็ไม่มีคนซื้อ หรือถ้าตั้งราคาต่ำเกินไปก็ไม่คุ้มค่ากับเวลาที่ต้องนั่ง ใส่ใจผลิตสินค้าอย่างมุ่งมั่น 

คำตอบนี้ง่ายมากครับ  ยกตัวอย่างเรือจำลองไม้สักทองของคุณพ่อและลูกศิษย์  ซึ่งต้องใช้เวลาในการผลิตด้วยตัวเองคนเดียว  ถึง 30 วันต่อลำ  แถม Hand Made ทุกชิ้นส่วนอีกต่างหาก  วัตถุดิบก็มีแต่ไม้สักทอง  ซึ่งราคาสูงลิบลิ่ว  คุณคิดว่าควรตั้งราคาขายลำล่ะเท่าไรครับ ?
แน่นอน  ผมคงไม่ขายลำละ 3 , 4 พันบาทแน่ ๆ   แต่ผมขายลำละเป็นหมื่นหรือบางลำอาจเฉียดแสน  คุณอาจเกิดคำถามในใจว่า แล้วจะขายได้หรือ ?  ที่เห็นกันในท้องตลาดหรือตามห้างสรรพสินค้า  ก็เห็นขายกันอยู่ลำละ 3,000 ,  5,000  บาทกันทั้งนั้น

คุณรู้ไหมว่าทุกวันนี้คุณพ่อและลูกศิษย์  ขายเรือกันจนไม่มีเรือจะขาย  เรือสำเภาจีนของคุณพ่อ  ต้องใช้เวลาในการสั่งผลิตไม่ต่ำกว่า 30  วันซักลำ  ตอนนี้ใครที่อยากได้งานฝีมือคุณพ่อ  ไม่ว่าจะเป็นเรือสำเภาจีน  หรือเรือจำลองทุกประเภทต้องรองานกันข้ามปี  แถมต้องจ่ายมัดจำ 50% อีกต่างหาก  แต่ต้องยังเข้าคิวรอจองงานกันอย่างสม่ำเสมอ

แปลกไหมครับ ?
จริงแล้วไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย  เฉลยง่าย ๆ ก็คือ  การตั้งราคาให้เหมาะสมกับ Value ของงาน  ซึ่งหมายถึง  คุณค่านั่นแหละครับ  ราคาที่เหมาะสมกับคุณค่างานฝีมือ  ผู้ผลิตไม่ใช่ผู้กำหนด    หากแต่เป็นลูกค้าต่างหากที่เป็นผู้กำหนด
ทำความเข้าใจเรื่อง “ คุณค่า ”  กันก่อนดีกว่า 

ลองเปรียบเทียบความรู้สึกของคุณตามนี้นะครับ...Prada  กับ  กระเป๋า 199.-  ,  Gucci  กับ  Bata  , ปากกา Cross  กับ  ปากกาตราม้า  ฯลฯ   คุณจะสัมผัสได้ถึง “ คุณค่า ”  แน่ ๆ

จริงอยู่  คุณอาจแย้งในใจว่า  ก็วัสดุมันผิดกัน  ยี่ห้อมันต่างกัน  ราคาก็ย่อมไม่เท่ากันเป็นธรรมดา  แต่ในความเป็นจริงแล้ว  ลูกค้าก็ไม่ได้เจาะจงจะยอมจ่ายแพง ๆ กับ Gucci  เสมอไป   บาจาก็ยังขายได้  แถมขายดีด้วย  นั่นเป็นเพราะคนเรามีความต้องการที่ไม่เท่ากัน  ทั้ง ๆ ที่รองเท้าก็คือ รองเท้า  การใช้งานก็คล้าย ๆ กัน  แต่คุณค่าทางจิตใจที่แตกต่างกัน  นั่นแหละเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาแตกต่างกันได้ลิบลับ
ย้อนกลับมาดูที่สินค้างานฝีมือของคุณบ้าง  ต่อให้คุณภาพดีแค่ไหนถ้าตั้งราคาผิด  ก็ไม่ประสบความสำเร็จ หรอกครับ

รวมถึงคุณเองอาจจะท้อแท้ไปเสียก่อน เพราะตั้งหน้าตั้งตาทำงานฝีมือด้วยหัวใจ  แต่กลับได้เงินไม่คุ้มกับการตั้งใจทำ รวมถึงวัสดุอย่างดีที่คุณพยายามสรรหามาประกอบเป็นงานฝีมือ 

ผมไม่ได้หมายความว่า  คุณจะต้องตั้งราคาสินค้าแพง ๆ เพื่อให้ได้กำไรมาก ๆ เพราะนั่นก็เป็นการเอาเปรียบลูกค้ากันเกินไป  คุณต้องคิดถึงใจผู้ซื้อด้วยว่า  แค่เขาต้องการสินค้าจากฝีมือของคุณ  มีความสุขกับการได้ครอบครองสินค้าของคุณ  เขาก็เป็นบุคคลที่เป็นผู้สนับสนุนสินค้างานฝีมือของคุณอย่างเต็มที่แล้ว  น่าจะให้เขาได้ครอบครองสินค้าของคุณ  อย่างมีความสุขมากที่สุด  โดยการจ่ายในราคาที่เหมาะสมจริงไหมครับ ถึงตรงนี้คุณอาจมีคำถามในใจว่า  
แล้วจะให้ตั้งราคาอย่างไร  ถูกก็ไม่ได้  แพงก็ไม่ดี  ผมจะเฉลยเป็นข้อ ๆ เลยนะครับ 

ข้อแรก   หันมามองสินค้าของคุณก่อน  ว่าในท้องตลาดปัจจุบันสินค้างานฝีมือระดับของคุณเขาขายกันอยู่ที่เท่าไร  อย่าเข้าข้างตัวเองนะครับ  คนทำงานฝีมือมักบอกตัวเองเสมอว่างานของฉัน ดีที่สุด  ละเอียดที่สุด  ประณีตที่สุด  ลองมองสินค้าประเภทเดียวกันของคนอื่น ๆ ด้วยใจเป็นกลาง  คุณจะได้คำตอบคร่าว ๆ แล้วว่า คุณควรตั้งราคาขายเท่าไร ?
ข้อต่อไป  สำรวจบริการเสริมอื่น ๆ นอกเหนือจากสินค้าที่คุณสามารถบริการให้ลูกค้าได้  ทั้งที่มีค่าใช้จ่าย  และไม่มีค่าใช้จ่าย  ซึ่งบริการเสริมเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการตั้งราคาสินค้า  ยกตัวอย่างเช่น  มีบริการส่งถึงบ้าน  ,  มีบริการห่อของขวัญ  ,  หรือมีประกันความเสียหายจากการใช้งาน 

คุณจะได้คำตอบเพิ่มมาอีกนิดว่า  คุณตั้งราคาเหมาะสมแล้วหรือยัง  เพราะบางครั้งลูกค้าก็ไม่ได้ซื้อสินค้าเพราะความเป็นสินค้าแต่อย่างเดียว  แต่อาจซื้อสินค้าเพราะบริการเสริมต่าง ๆ ที่คุณมอบให้  ซึ่งเป็นจุดที่อาจจะน่าสนใจกว่าตัวสินค้าเสียด้วยซ้ำ
ข้อสุดท้าย   อย่ามองข้าม  “ ทำเล ”   ของคุณ  เช่น  คุณขายสินค้าทาง Internet , ขายตามตลาดนัด , เปิดร้านเล็ก ๆ ขายอยู่หน้าบ้าน  หรือขายสินค้าในห้างขนาดใหญ่  คุณก็ต้องตั้งราคาขายที่แตกต่างกันอยู่แล้ว

เมื่อคุณได้รายละเอียดทั้งหมด  ตามที่เล่ามาเบื้องต้นลองตั้งราคาขายที่คุณคิดว่าเหมาะสม  และลองเสนอขายสินค้า  ให้กับลูกค้าดูซิครับ  แต่มีประสบการณ์บางอย่างที่อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง  และคุณไม่ควรนำไปใช้อย่างเด็ดขาด !  ดังนี้

-อย่า     ตั้งราคาสูง ๆ ไว้ก่อน  ขายไม่ได้ค่อยลดราคา
-อย่า     ตั้งราคาที่ไม่มีมาตรฐาน  ขยับขึ้น – ลงอยู่เรื่อย ๆ
-อย่า     ผิดพลาด  บกพร่อง  กับบริการเสริมที่คุณบอกว่าจะให้กับลูกค้าโดยเด็ดขาด และ
-อย่า     กังวลใจกับการต่อรองราคาแล้วไม่ซื้อ  ของลูกค้า

คุณอาจปรับเปลี่ยนราคาได้บ้างตามความเหมาะสม  แต่ต้องมีเหตุผลที่สามารถบอกคุณเองและลูกค้าได้ว่า  ทำไมราคาถึงเปลี่ยนไป  เช่น  ลูกค้าสั่งสินค้าครั้งละ  1 ชิ้น  กับ  10  ชิ้น  ราคาย่อมไม่เท่ากันเป็นธรรมดา  หรือลูกค้าเก่าที่ซื้อกันมาเป็นประจำ  กับลูกค้าใหม่ที่พึ่งซื้อกันครั้งแรกก็อาจได้ราคาที่ไม่เท่ากัน  ทั้งนี้ทั้งนั้น  ราคาที่แตกต่างกัน  ก็ไม่ควรต่างกันมากมาย  อย่างมากสัก 5 – 10 %  ก็เพียงพอแล้ว
ลองพิจารณาดูนะครับ  คาถาสำคัญของการขายสินค้างานฝีมือ ก็คือ

“ ราคาสินค้าที่ถูกต้อง หมายถึง ราคาที่ผู้ซื้อเต็มใจที่จะซื้อ  และผู้ขายพอใจที่จะขาย ”
จบลงไปอีกหัวข้อหนึ่งแล้วนะครับ  กับคำว่า “ ราคา ”  หัวข้อต่อไปก็คงเป็นเรื่องของการ Promote หรือการโฆษณาให้เป็นที่รู้จัก  ติดตามกันต่อได้ในกระทู้ต่อไป นะครับ

ที่มา http://topicstock.pantip.com/jatujak/topicstock/2010/10/J9821972/J9821972.html