วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เรื่องสำคัญที่โรงเรียนไม่สอน แถมพ่อแม่ก็ไม่บอกอีก

 
จะว่ากันไป ประสบการณ์ชีวิต เป็นเรื่องสำคัญที่โรงเรียนไม่สอน แถมพ่อแม่ก็ไม่บอกด้วย คือเล่าได้แต่ไม่ค่อยเข้าใจหรอกครับ ถ้าไม่เกิดกับตัวเอง บางทีก็ไม่ค่อยรู้สึก กว่าจะเข้าใจก็ต้องเจอเรื่องที่ไม่อยากเจอเข้าแล้ว ถ้าเรียนรู้ได้ก็จะไม่ผิดซ้ำสอง

กฏ 80/20

 

 

หลักการของพาเรโต้ (Pareto Principle) ซึ่งกล่าวไว้ในทำนองที่ว่า 80% ของงานที่มีคุณค่า เกิดขึ้นจากกิจกรรมที่ใช้เวลาเพียง 20% เท่านั้น (ในทำนองกลับกัน เวลาที่เราใช้ 80% กลับก่อให้เกิดคุณค่าที่แท้จริงเพียง 20%)
หลักการนี้ เอาไว้ใช้พิจารณาสิ่งที่ทำว่าเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและสังคมรอบตัวหรือไม่ ทำแล้วเบียดเบียนตัวเองโดยคุ้มค่าหรือไม่ จำเป็นหรือไม่
งานเครียด งานล้นมือ อาจเป็นผลของการทุ่มเทให้กับสิ่งที่ไม่เกิดคุณค่า เช่น การบ่น เพ้อเจ้อ ชี้นิ้ว วิจารณ์ชาวบ้าน แต่ไม่ลงมือแก้ไข หรือแก้ไม่ตรงสาเหตุ ไม่ลงมือปฏิบัติเสียที

กฏของพาร์กินสัน

ท่านสามารถทำงานให้เสร็จได้เร็วกว่าที่ท่านคิด กฏของพาร์กินสันกล่าวไว้ในทำนองที่ว่า งานที่ท่านทำใช้เวลาและเพิ่มความซับซ้อนขึ้นตามเวลาที่ท่านกำหนดไว้
เช่นถ้าท่านกำหนดไว้ว่าจะหาทางออกให้กับปัญหาอะไรสักอย่างให้ได้ในหนึ่ง อาทิตย์ ท่านก็จะมีเวลาว่างมาก ที่จะคิดถึงทางเลือกต่างๆ อยากได้คำตอบที่สมบูรณ์แบบหมดจด ทำครั้งเดียว มีคนสรรเสริญไปชั่วลูกชั่วหลาน และในที่สุดก็จะเห็นข้อยกเว้น ข้อจำกัด ข้อบกพร่องต่างๆ เต็มไปหมด จนที่สุดก็จะท้อแท้ แล้วไม่ทำอะไรเลย ฉลาดเกินไป ฟุ้งซ่านเกินไป
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เราตกเป็นเหยื่อของกฏของพาร์กินสัน เราอาจกำหนดเวลาเพื่อหาทางออกในเวลาสั้นๆ (แต่ไม่ใช่หาคำตอบแบบชุ่ยๆ) แล้วลงมือทำ แม้จะมีข้อบกพร่องบ้าง แม้จะแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมดแบบหมดจด แต่ก็ยังสามารถทำอะไรบางอย่าง — คำตอบที่สมบูรณ์แบบที่ไม่ได้นำไปปฏิบัติ ไม่ต่างไปจากการค้นหาทางออกไม่ได้หรอกครับ ท้ายที่สุดก็ไม่ได้ทำอะไรเลยเหมือนกัน
ถ้าท่านใช้เวลา 20% เพื่อแก้ไขปัญหา 80% ยังดีกว่าท่านใช้เวลา 100% เพื่อแก้ปัญหา 0% นะครับ

ทำทีละอย่าง ช่วยได้

งานประจำ งานซ้ำซาก ช่างน่าเบื่อจำเจ ในชีวิตจริง ท่านจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์แบบนี้ได้ตลอดหรือครับ จึงต้องหาวิธีจัดการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นั่นก็คือคำแนะนำให้ทำทีละอย่าง
ท่านไม่สามารถทำทุกอย่างในเวลาเดียวกันได้หรอก คนเรามีแค่หนึ่งสมองสองมือ จะโบ้ยงานของเราไปให้คนอื่น ก็เป็นการเบียดเบียนคนอื่น งานของเรา เราก็ทำ
การทำทีละอย่าง เป็นการช่วยให้ “ลดเวลาในการเริ่มต้น” (start-up time) ช่วยให้มีสติอยู่กับสิ่งที่ทำ

ให้ก่อนรับ ไม่มีทางอื่นอีกแล้ว

บางทีมันก็ฝืนกับ “สามัญสำนึก” เราชอบไปคิดว่าต้องให้คนอื่นหยิบยื่นบางอย่างให้เราก่อน เราจึงจะยื่นบางอย่างตอบแทนไป ทั้งนี้อาจเป็นเพราะถ้าเราให้ก่อน แล้วผู้อื่นไม่ให้อะไรตอบแทน เราจะ “ขาดทุน”
ขาดทุนอะไรครับ เวลาเราให้สิ่งที่เราไม่ได้ “เสีย” เช่น น้ำใจ ความช่วยเหลือ สิ่งที่มีมากไป ประสบการณ์ ข้อคิด ฯลฯ เรามีอะไรลดลงหรือขาดอะไรไปหรือครับ ที่จริงนั้น เราไม่ได้เสียอะไรไปเลย แม้ผู้รับไม่ได้ให้อะไรตอบแทนกลับมา เราก็ไม่ได้เดือดร้อนไม่ใช่หรือครับ [นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้ว การให้มีความสุขกว่าการรับ]

เน้นป้องกัน ไม่ใช่เน้นแก้ไข หรือตั้งรับรอความพินาศ

ป้องกัน (proactive) เหนื่อย ยาก แต่การป้องกันเป็นการประเมินล่วงหน้า ต้องใช้ความรู้ ใช้สติ
การแก้ไข (reactive) เกิดจากบางสิ่งมากระทบอารมณ์ ทำให้รู้สึกว่าไม่ทำไม่ได้แล้ว
ผมคิดว่าสังคมไทยให้คุณค่ากับการแก้ไขปัญหามากกว่าการป้องกันปัญหา (ซึ่งผมไม่ชอบความคิดแบบนี้เลย) มันเป็นแนวคิดแบบซูเปอร์ฮีโร่ เหมือนการ์ตูน เหมือนหนังฮอลลีวู๊ด เป็นมายาครับ แน่นอนว่าแก้ปัญหาได้ ดีกว่าแก้ปัญหาไม่ได้ แต่ถ้าป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาได้นั้น กลับดีกว่าเพราะไม่เกิดปัญหา ไม่มีใครต้องทุกข์ [ช้าก่อน บริษัทดาวรุ่ง....]

ความผิดพลาด ความล้มเหลว และความเพียร

ยามเราเป็นเด็กเล็ก เราทดลองและเรียนรู้ หยิบของเข้าปากมั่วไปหมด เอานิ้วแหย่ปลั๊กไฟ (ผมเคยนะ) พอโตขึ้นมา เราเรียนจาก “ผู้รู้” ยัดเยียดให้รู้ แต่เราไม่ได้เรียนรู้หรอก เรารับรู้เฉยๆ ยิ่งความรู้มากขึ้น เราก็ยิ่งห่างออกไปจากกระบวนการเรียนรู้ เปลี่ยนเป็นรับรู้เฉยๆมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นถามว่ารู้วิธีสร้างจรวดไหม ก็ตอบว่ารู้ ตำราก็มี สารเคมีหาได้ ถามว่าเคยสร้างไหม ไม่เคยแน่นอน (จะบ้าเหรอ) สร้างแล้วได้อะไรขึ้นมา
สิ่งที่เรารู้ เป็นความรู้แห้งๆ เป็นความรู้ที่ไม่มีประโยชน์ต่อชีวิตเสียมาก ความรู้แบบนี้ จะมีหรือไม่มีแทบไม่ต่างกันเลย (ยกเว้นเอาไปถ่ายทอดแบบแห้งๆให้กับคนอื่น โดยหวังว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อเขาจริง)
เพราะความรู้และภาพลักษณ์มันค้ำคอ เรายิ่งห่างจากกระบวนการเรียนรู้ซึ่งเกิดจากการปฏิบัติออกไปทุกที ในสังคมของเรา พูดจากันไม่รู้เรื่อง ต่างคนต่างเป็นเอกทัคคะในทางใดทางหนึ่ง ต่างยึดว่าตัวเองถูก เถียงกันหน้าดำคร่ำเครียด ไม่รู้ว่าใครจริงใครแห้ง [KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๕๐๙. KM คืออะไร (๑๐๓) เครื่องมือไล่ผี]
ผู้ที่ถีบจักรยานเป็น คงเคยล้มฟกช้ำดำเขียวกันมาบ้าง เมื่อท่านล้มแล้ว ท่านยังทำต่อใช่หรือไม่ — ความล้มเหลว การไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่กลับจะมีค่ามากหากท่านสามารถจะเรียนรู้ที่จะไม่ผิดพลาดซ้ำสองได้
และความเพียรก็ไม่ใช่การดันทุรังเช่นกันครับ

(โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผิดพลาด) อย่ามัวแต่หมกมุ่น โทษตัวเองจนเกินงาม

ไม่มีใครหรอกครับที่ตั้งใจให้งานผิดพลาด (ยกเว้นพวกบ่อนทำลาย เจตนาทำลายเพื่อนร่วมงาน ทำลายองค์กร) แต่คนเราทำผิดกันได้ คำว่า “ยางหัวไม่ตก ไม่เคยสำนึก” ใช้กับคางคกครับ ไม่ได้ใช้กับคนทำงาน และไม่ได้ใช้กับเพื่อนร่วมงานของเรา [ความจริงแบบไหน ที่เป็นจริง]
การสำนึกผิด จะมีความหมายหรือไม่นั้น อยู่ที่ผู้ที่พลาดพลั้งไปสามารถเรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดนั้น และไม่ทำผิดซ้ำสอง; หากอาการสำนึกผิดคือการตีอกชกหัว โทษตัวเอง ตีโพยตีพาย กล่าวโทษต่างๆนาๆ กล่าวคำขอโทษหมื่นครั้ง แต่กลับไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย — มีเหตการณ์อย่างนี้อีก ก็ทำผิดแบบเดิมอีก — อาการแบบนี้น่ารำคาญครับ เป็นสิ่งที่เปล่าประโยชน์ สำนึกหรือไม่สำนึกมีค่าเท่ากันเลย
คนแบบที่เรียนรู้ไม่ได้ คงไม่เหมาะกับองค์กรที่ต้องก้าวหน้าต่อไปนะครับ

สามัคคี

คำว่า สามัคคี ใช้ได้ทั้งที่เป็นคำคำนาม และคำวิเศษณ์ หมายถึงความพร้อมเพรียงกัน ความปรองดองกัน หรือ ที่พร้อมเพรียงกัน ที่ร่วมมือร่วมใจกันทำ
ความสามัคคี ไม่ได้แปลว่าทุกคนทำเหมือนกันหมดนะครับ อันนั้นเรียกว่าความไม่เป็นตัวของตัวเอง
กลุ่มคนจะสามัคคีได้ ก็ต้องมีเป้าหมายร่วมกันเสียก่อน เช่นอยู่กันในห้องยี่สิบคน ถ้าเป้าหมายร่วมกันคือประตูซึ่งมีอยู่บานเดียว และทุกคนจะต้องออกไปเพื่อกินข้าว
…คำว่า”ทานข้าว” ฟังดูสุภาพและเข้าใจกันโดยทั่วไป แต่ไม่มีในภาษาไทยนะครับ ย่อมาจากรับประทานข้าว คำว่าทานที่เป็นกริยา มีอยู่สองความหมาย คือ (ต้าน)ทาน กับ (สอบ)ทาน เท่านั้น…
การที่คนทั้งยี่สิบคนกำหนดทิศทาง (เวคเตอร์) ที่จะเดินตรงไปที่ประตูนั้น เราก็จะมียี่สิบทิศทาง แต่เมื่อปฏิบัติแล้ว ทุกคนเดินผ่านประตูไปกินข้าวได้เหมือนกัน แม้จะผ่านออกไปไม่พร้อมกัน