วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เตรียมบ้าน/สำนักงาน ให้พร้อม กับนํ้าท่วม



   5.1 เตรียมป้องกันไม่ให้น้ำเข้าบ้าน โดยการทำเขื่อนรอบบ้าน ทำคันดินยกสูง เตรียมกระสอบทรายไว้เสริมคันดินเผื่อไว้หากต้องเจอระดับน้ำขึ้นสูงกว่าเดิม เตรียมแผ่นพลาสติกไว้กั้นน้ำเข้ามาในพื้นที่ ต้องอุดช่องทุกช่องที่น้ำจะเล็ดรอดผ่านเข้ามาได้ เช่น รั้วรอบบ้าน ประตูรั้วบ้าน ประตูหน้าบ้านและหลังบ้าน ท่อระบายน้ำ ท่อซักล้าง ท่อน้ำทิ้ง ท่อชักโครก/ท่อส้วม การอุดท่อเล็ก ๆ ใช้จุกอุดซิ๊งก์ล้างจานหรือจุกอุดอ่างอาบบ้ำอุดก่อนแล้วใช้ของหนักเช่นถุงใส่ทรายวางทับอีกชั้น ถ้าท่อมีขนาดใหญ่ให้ดัดแปลงหาแผ่นพลาสติกวางทาบปากท่อก่อนทับด้วยของหนักเช่นถุงทรายอีกที ท่อชักโครกใช้ที่ปั๊มสูญญากาศ (เวลาส้วมตันเราใช้ที่ปั๊มนี้ปั๊มท่อ)ครอบรูท่อแล้วเอาถุงทรายทับไว้  ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะน้ำที่ล้อมรอบบริเวณจะมีแรงดันและมักจะไหลย้อนมาตามท่อระบายน้ำตามบ้าน แรงดันน้ำนอกบ้านนี่แหละที่จะดันสิ่งปฏิกูลจากท่อออกมาเลอะเทอะบ้าน จึงต้องอุดกันไว้ก่อน     สำหรับปั้มน้ำที่เตรียมไว้สำหรับสูบน้ำออกควรใช้พลังงานน้ำมันจะดีกว่าใช้ไฟฟ้า เพราะถ้าถูกตัดไฟเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดไม่สามารถใช้การได้   ดูคลิปวิดิโอสาธิตการวางกระสอบทรายรับน้ำท่วมอย่างมีประสิทธิภาพที่คอมเม้นต์ด้านล่าง
   5.2 เตรียมย้ายเฟอร์นิเจอร์และสิ่งของที่จะเสียหายจากน้ำหรือลอยไปกับน้ำ ให้เก็บขึ้นที่สูงให้พ้นน้ำ โดยเฉพาะปลั๊กไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้า การย้ายปลั๊กไฟให้ช่างไฟมาย้าย อย่าทำเอง
   5.3 ต้องเตรียมตัดกระแสไฟ กรณีต้องการแยกสวิชต์ชั้นล่างชั้นบนควรปรึกษาช่างไฟฟ้า กรณีหม้อแปลงไฟฟ้าอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมถึงต้องรีบแจ้งการไฟฟ้ามาย้ายหม้อแปลงขึ้นที่สูง
ติดต่อไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โทร 1129   การไฟฟ้านครหลวง โทร 1130
   5.4 กรณีบ้าน/สำนักงานมีสารเคมีหรือสารพิษ ควรเตรียมย้ายสารเคมีหรือวัตถุอันตรายที่จะปนเปื้อนไปกับน้ำ เก็บขึ้นที่สูงเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัย
   5.5 กรณีมีสัตว์เลี้ยงหรือฟาร์มปศุสัตว์ควรเตรียมย้ายสัตว์เลี้ยงขึ้นที่สูงที่พ้นจากน้ำท่วม อย่าลืมเตรียมอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงให้เพียงพอด้วย
ดาวน์โหลด วิธีกันน้ำท่วมเข้าบ้าน การอุดน้ำรั่ว การกั้นน้ำไม่ให้กำแพงพัง ดูแลระบบไฟฟ้า ดูแลถังใต้ดิน ดูแลหลังคา และวิธีหาทางหนีทีไล่ บัญญัติ 20 ประการ เตรียมบ้านก่อนน้ำท่วมโดย อาจารย์ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์
ภาพตัวอย่างเขื่อนกันน้ำทำเองช่วยป้องกันบ้านไม่ให้เสียหายจากน้ำที่ล้นทะลักจากแม่น้ำยาซู รัฐมิซซิสซิปปี สหรัฐ พฤษภาคม 2554
เขื่อนดินที่มีประสิทธิภาพ ฐานของเขื่อนกว้างเป็นสามเท่าของความสูงของเขื่อน รถยนต์ขึ้นไปวิ่งบนสันเขื่อนได้เลย
การคลุมพลาสติกเขื่อนดินมีความบกพร่อง ไม่แนบสนิท พลาสติกลอยตัว น้ำจึงซึมเข้าด้านใต้เขื่อน
การใช้กระสอบหนักทับแผ่นพลาสติกที่คลุมรอบเขื่อนช่วยกันน้ำและรักษาพื้นที่ภายใน
การที่เขื่อนดินป้องกันน้ำเข้าพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น เพราะมีการออกแบบและวางแผนโดยวิศวกรและมีขั้นตอนพอสมควร เช่น มีการศึกษาทิศทางไหลของกระแสน้ำ คำนวนความสูงของน้ำที่อาจท่วมถึง จากนั้นคำนวนความกว้างของฐานเขื่อนให้สัมพันธ์กับความสูงของเขื่อน คำนวนความกว้างฐานของเขื่อน = ความสูงของเขื่อน X 3 (สันเขื่อนยิ่งสูงเท่าไร ฐานยิ่งต้องกว้างมากขึ้นเท่านั้น) มีการขุดร่องก่อนวางกระสอบทรายเพื่อเพิ่มแรงเสียดทานระหว่างพื้นกับกระสอบไม่ให้แรงน้ำดันกระสอบล้มได้ง่าย มีการคลุมแผ่นพลาสติกกันน้ำที่ด้านนอกของเขื่อนแล้วปิดทับด้านบนของพลาสติกด้วยกระสอบทรายอีกชั้น กันน้ำซึมและกันกระแสน้ำพัดพลาสติกไป เมื่อมวลน้ำเพิ่มมากขึ้นก็จะเกิดแรงกดทับให้แผ่นพลาสติกทาบสนิทกับแนวเขื่อน ป้องกันเขื่อนแตกเพราะกระแสน้ำได้เป็นอย่างดี เขื่อนด้านที่ปะทะกับกระแสน้ำก็ต้องมีการคำนวนแรงปะทะ มีการเสริมส่วนฐานและความสูงเพิ่มจำนวนกระสอบทรายเข้าไปอีก มีแผ่นพลาสติกคลุม อีกทั้งมีแผนสำรอง คือเตรียมเครื่องสูบน้ำไว้พร้อม แต่การทำเขื่อนล้อมพื้นที่ในลักษณะนี้จะมีจุดอ่อนทันทีที่มีปริมาณฝนตกหนักเป็นเวลานาน พื้นที่ด้านในเขื่อนจะกลายเป็นอ่างเก็บกักน้ำฝน ในสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่มีฝนชุก ฝนตกหนักติดต่อกันเป็นวันเป็นคืน หากจะกั้นเขื่อนแบบนี้ควรมีแผนสำรอง 1 2 3 เช่น เตรียมระบบระบายน้ำฝน เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำออกที่กำลังแรง ๆ มีการคลุมผนังเขื่อนด้านในด้วยแผ่นพลาสติกกันน้ำอีกชั้น ฯลฯ  ศึกษารายละเอียดการสร้างเขื่อนป้องกันพื้นที่จากน้ำท่วม ตามเวบ How to Build a Homemade Levee
ที่มา  http://tawanth.wordpress.com